วิศวกร มทส.-ห้องปฏิการเอ็มเทค คว้ารางวัลโทเรฯ ครบรอบ 30 ปี

News Update

วิศวกรโยธา จาก มทส.  ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคการปรับปรุงดินและการประยุกต์ใช้วัสดุรีไซเคิลในงานวิศวกรรมถนน คว้ารางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมูลนิธิโทเร  ฯ ประเภทบุคคล ส่วนรางวัลประเภทหน่วยงาน เป็นของ ห้องปฏิบัติการเฉพาะทางการฉีดขึ้นรูปโลหะผง เอ็มเทค สวทช. ที่มีผลงานเด่นเรื่องโลหะผงวิทยา ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนของไทย

           เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ในการมอบรางวัลของมูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย คณะกรรมการสาขารางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีมติเอกฉันท์ยกย่องให้ “ศาสตราจารย์ ดร. สุขสันติ์ หอพิบูลสุข” จากสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นผู้ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเภทบุคคล ส่วนประเภทหน่วยงานเป็นของ “ห้องปฏิบัติการเฉพาะทางการฉีดขึ้นรูปโลหะผง” ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)

           ศาสตราจารย์ ดร. สุขสันติ์ หอพิบูลสุข ปัจจุบันเป็นภาคีสมาชิก สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา และเป็นวุฒิวิศวกรโยธาที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคการปรับปรุงดินและการประยุกต์ใช้วัสดุรีไซเคิลในงานวิศวกรรมถนน โดยมีผลงานวิจัยโครงสร้างชั้นทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผลงานวิจัยด้านวัสดุสังเคราะห์ในงานวิศวกรรมโยธา รวมทั้งพัฒนาห้องปฏิบัติการวัสดุสังเคราะห์สมบูรณ์แบบที่มีความพร้อมด้านเครื่องมือทดสอบและด้านบุคลากร เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการตรวจสอบคุณภาพและสมบัติทางวิศวกรรมของวัสดุสังเคราะห์ของประเทศ 

           โดยมีผลงานเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติที่อยู่ฐานข้อมูล SCOPUS จำนวน 387 เรื่อง ได้รับการอ้างอิงรวมทั้งสิ้น 16,878 ครั้ง มี h-index 72  มีผลงานที่ได้รับอนุสิทธิบัตรจำนวน 1 เรื่อง ได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในระดับดุษฎีบัณฑิต 26 ราย และมหาบัณฑิต 37 ราย และได้รับรางวัลวิจัยอันทรงเกียรติ อาทิ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. พ.ศ. 2556 และ 2559 นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย พ.ศ. 2562 นักวิจัยแกนนำ พ.ศ. 2563 และ Telford Premium Prize พ.ศ. 2564 เป็นต้น 

           สำหรับห้องปฏิบัติการเฉพาะทางการฉีดขึ้นรูปโลหะผง  เอ็มเทค สวทช.  ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปีพุทธศักราช 2566  มีผลงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับโลหะผงวิทยา ตัวอย่างได้แก่ การขึ้นรูปวัสดุใหม่ หรือการเพิ่มสมบัติของชิ้นงานที่ขึ้นรูป เช่น การเพิ่มสมบัติการต้านทานการกัดกร่อน และได้เผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านโลหะผงวิทยาสู่อุตสาหกรรมไทยเพื่อยกระดับความสามารถอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

           นอกจากรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว มูลนิธิโทเรฯ ยังได้มอบทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี โดยหัวข้อวิจัยจะต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือต่อการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมกระตุ้นให้มีการเรียนการสอนและการค้นคว้าวิจัยด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ในระดับโรงเรียน  มูลนิธิฯ ยังได้คัดเลือกให้มีผู้ได้รับรางวัลในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย โดยได้มอบเงินรางวัลให้กับครู/อาจารย์ผู้ชนะรางวัลในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งได้มอบเงินสนับสนุนห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนต้นสังกัด เพื่อสนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์ วิทยาศาสตร์สำหรับการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ของครูและนักเรียนอีกด้วย

           มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 30 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแก่บุคคลและหน่วยงาน ที่มีผลงานดีเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยบุคคลและหน่วยงานที่ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะได้รับโล่รางวัล พร้อมด้วยเงินรางวัลมูลค่ารางวัลละ 4 แสนบาท พร้อมทั้งมอบทุนสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 4 ล้านบาทให้กับนักวิจัยที่มีผลงาน โดดเด่น และรางวัลแก่ครูอาจารย์ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์อีก 725,000 บาท รวมเป็นเงินรางวัลและเงินทุนสนับสนุนทั้งสิ้น 5,525,000 บาท