ประชุมนานาชาติ “โลกร้อนกับการปรับตัวของข้าว”

News Update

ม.เกษตรฯ ไบโอเทค สวทช. และ วช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัดประชุมนานาชาติเรื่องโลกร้อนกับการปรับตัวของข้าว หวังเป็นเวทีส่งเสริมความยั่งยืนการผลิตข้าวไทย

               วันนี้ (25 มี.ค. 67) ณ ห้องรวงข้าว อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ  ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตร จัดงาน “การประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง International Conference/Workshop on Rice Climate Mitigation and Adaptation” หรือการบรรเทาและปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศของข้าว ภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยข้าวของประเทศไทย (Thailand Rice Science Research Hub of Knowledge) ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2567

               เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยด้านข้าวจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หน่วยงานให้ทุน สถานทูต สถาบันการศึกษา เกษตรกรรุ่นใหม่ และผู้ส่งออกข้าวไทย ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ มุ่งส่งเสริมความยั่งยืนของการผลิตข้าวไทย โดยมีการบรรยายของนักวิจัยระดับโลก ที่ทำงานวิจัยด้านข้าวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการอภิปรายกลุ่มเพื่อระดมสมองแก้ปัญหาด้านข้าวในหลากหลายมุมมอง โดยเฉพาะเรื่องข้าวที่ลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทน ลดการใช้น้ำ พร้อมเทคนิคที่สามารถทำได้ในเวลาอันใกล้และแนวทางในอนาคต โดยมี ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมเปิดงานกับ รศ.น.สพ.ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน และ ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช.

                รศ.น.สพ.ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์      กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ม.เกษตรศาสตร์ ได้รับทุนจาก วช. ประจำปีงบประมาณ 2567 เรื่อง การพัฒนาศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยข้าวของประเทศไทย (Thailand Rice Science Research Hub of Knowledge) เพื่อมุ่งเน้นการสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและต่างประเทศ พร้อมนำงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสู่การใช้ประโยชน์ รวมถึงเชื่อมโยงกลุ่มนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ จากภายในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวด้วยกัน

               ซึ่งการจัดงานประชุม International Conference/Workshop on Rice Climate Mitigation and Adaptation ครั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ม.เกษตรศาสตร์ ไบโอเทค สวทช. และ วช. พร้อมหน่วยงานพันธมิตร ร่วมจัดขึ้น เพื่อเป็นเวทีรวบรวมความคิดเห็นนักวิชาการ นักวิจัย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สู่แนวคิดและแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ในการลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อข้าวในมุมมองที่กว้างขึ้น

               ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ   กล่าวว่า วช. เป็นผู้ให้ทุนและจัดตั้ง “การพัฒนาศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยข้าวของประเทศไทย” ซึ่งโครงการได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน โดยมีศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ม.เกษตรศาสตร์ เป็นผู้นำโครงการ พร้อมด้วยมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยด้านข้าว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาของข้าวไทย พร้อมการระดมสมองเพื่อเสนอวิธีการแก้ไขและพัฒนางานวิจัยของไทยให้เกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายวิจัย ฝ่ายการผลิต และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านข้าวครั้งนี้ ทางโครงการได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายประเทศมาร่วมบรรยาย มีเนื้อหาหลักในการนำเสนอเรื่องข้าวในด้านสรีรวิทยา สิ่งแวดล้อม และการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อตอบโต้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือสภาวะโลกรวน ซึ่งเป็นหัวข้อที่สำคัญมากในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ในระดับประเทศ แต่ในระดับนานาชาติด้วย

               ด้านดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ไบโอเทค ตระหนักถึงปัญหาด้านสภาวะแวดล้อมมาโดยตลอด รวมถึงการพัฒนาพันธุ์ข้าวด้วยเช่นกัน ซึ่งทางไบโอเทคได้มีการนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อแก้ปัญหาโลกรวน โดยการวิจัยข้าวในไบโอเทคจะเกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลจีโนมเพื่อศึกษาลักษณะสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทำนาข้าวลักษณะที่สำคัญต่อการทำนาข้าว ได้แก่ ความต้านทานต่อโรค แมลงศัตรูพืช เป็นต้น ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้เนื้อหาการจัดงานจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการนำไปปรับใช้กับงานวิจัยต่อไป

                ทั้งนี้ ภายในงานมีการบรรยายโดยนักวิจัยระดับโลก ที่ทำงานวิจัยด้านข้าวเพื่อรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย หัวข้อการจัดการปากใบเพื่อเพิ่มความทนทานต่อความเครียดของข้าว (Manipulating stomata to enhance rice stress tolerance) โดย Prof. Dr. Julie Gray มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ อังกฤษ   หัวข้อการจำแนกยีนและศึกษากลไกของยีนทนเค็มในข้าว (Identification of Salt Tolerant Genes in Rice and Their Mechanisms) โดย ศ.ดร.ศุภจิตรา ชัชวาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หัวข้อการจัดการน้ำและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนาข้าวเขตอบอุ่น (Water management and greenhouse gas emissions in temperate rice paddies) โดย Prof. Dr. Kosuke Noborio มหาวิทยาลัยเมจิ ญี่ปุ่น  หัวข้อการลดก๊าซเรือนกระจกในข้าว: ชิ้นส่วนของการแก้ปัญหาแบบครบวงจร (GHG mitigation in rice: Pieces of a comprehensive solution) โดย Dr. Bjoern Ole Sander สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI)   

               หัวข้อ เมื่อน้อยคือมาก: เส้นทางสู่ข้าวที่มีประสิทธิผลดีแม้น้ำมีจำกัด (Where Less is More: A Path Towards More Water Productive Rice) โดย ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวข้อพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับการทำนาหว่าน (Breeding rice varieties suitable for direct seeding) โดย Dr. Shalabh Dixit สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) ตลอดจนมีการอภิปรายกลุ่มเพื่อระดมสมองในการแก้ไขปัญหาทางด้านข้าวในหลากหลายมุมมอง ได้แก่ ด้าน สรีรวิทยา (Physiology) สิ่งแวดล้อม (Environment) และการปรับปรุงพันธุ์ (Breeding)