วช.โชว์ 6 โครงการจากการขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติฯไปสู่การใช้ประโยชน์

News Update

วช.  เดินหน้าติดตามการขยายผลงานวิจัย โชว์ 6 โครงการตัวอย่างจากการขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์

            เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัด แถลงข่าวการขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ครั้งที่ 1 เพื่อประเมินผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบของโครงการวิจัย วิเคราะห์ และขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์จริง  โดย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย รศ.ดร.นภาวรรณ  นพรัตนราภรณ์ ผู้อำนวยการแผนงานศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์   และ ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม วช.  

           นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการ ในรูปแบบภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดผลสำเร็จ นำส่งสู่ผู้ใช้ประโยชน์ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “ศูนย์ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์งานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” เพื่อใช้เป็นกลไกการดำเนินงานในส่วนขยายผลงานวิจัย โดยการประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรม การติดตามหลังโครงการเสร็จสิ้น ทำให้เห็นภาพรวมผลสำเร็จของงานวิจัยในมิติที่กว้างขึ้น ขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่มือผู้ใช้ประโยชน์ โครงการวิจัยที่สามารถขับเคลื่อนขยายผลสู่การนำไปใช้ประโยชน์จริงทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผลงานวิจัยที่มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผลงานวิจัยที่มีผู้แสดงเจตจำนงนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และผลงานวิจัยที่มีการใช้ประโยชน์ในระดับนโยบาย

           ด้าน รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้อำนวยการแผนงานศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ กล่าวถึงแผนงานวิจัยศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. เพื่อประเมินผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบของโครงการวิจัย และขับเคลื่อนขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในกลุ่มเป้าหมายภาคส่วนต่าง ๆ นั้น โดยระยะแรกได้ดำเนินการประเมินโครงการวิจัยที่ได้รับทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2557 – 2563 จำนวนรวมทั้งสิ้น 468 โครงการ

           ในเบื้องต้นพบว่ามีโครงการวิจัยที่สามารถขับเคลื่อนขยายผลสู่การนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างเป็นรูปธรรม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 โครงการวิจัยที่มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยจัดตั้งธุรกิจเริ่มต้น และผลิตผลิตภัณฑ์จำหน่ายในท้องตลาดอย่างต่อเนื่องหรือผลิตเพื่อทดสอบตลาด  กลุ่มเรื่องที่ 2 โครงการวิจัยที่มีผู้แสดงเจตจำนงนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และกลุ่มเรื่องที่ 3 โครงการวิจัยที่มีการใช้ประโยชน์ในระดับนโยบายโดยมีการประกาศใช้แล้ว ทั้งนี้ วช. ได้นำผลงานวิจัยจากทั้ง 3 กลุ่มมานำเสนอและจัดแสดงนิทรรศการ  เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ วช. ให้การสนับสนุน และสามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและใช้งานได้จริง รวมทั้งสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้

           สำหรับผลงานวิจัยที่นำมาจัดแสดง มี  6 โครงการ โดยกลุ่มแรกที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยจัดตั้งธุรกิจเริ่มต้นแล้ว ประกอบด้วย 1. โครงการการพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ของน้ำยาแช่แข็งน้ำเชื้อโค เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน   ซึ่ง  ผศ.ดร.วิวัฒน์ พัฒนาวงศ์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นหัวหน้าโครงการ และมีการทำธุรกิจจากงานวิจัย ในชื่อบริษัทสยามโนวาส จำกัด   โดยสยามโนวาสจะทำธุรกิจการผลิตน้ำเชื้อโคคัดเพศ   ซึ่งมีโอกาสมากกว่า 80 % ที่จะได้ลูกโคเพศที่ต้องการ  ปัจจุบันได้อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย แต่ประเด็นหนึ่งที่สยามโนวาสอยากจะได้คือการผลิตเพื่อการส่งออกต่างประเทศ ซึ่งน้ำเชื้อแช่แข็งทั่วไปยังส่งไปไม่ได้เพราะมีโปรตีนปนจากสัตว์ชนิดอื่นที่ใช้ในการแช่แข็งอยู่  จึงเป็นโจทย์ให้ทีมวิจัยที่อยู่ในส่วนของภาครัฐได้พัฒนาน้ำยาแช่แข็งขึ้นมาทดแทนการใช้โปรตีนจากสัตว์ โดยทำให้สามารถแช่แข็งน้ำเชื้อโคได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่าและดีกว่าเดิม โดยมีอัตราการผสมติดที่สูงขึ้นมากกว่า 5 %

           ซึ่งเมื่องานวิจัยประสบความสำเร็จ สยามโนวาสได้เข้ามาร่วมทุน เพื่อจะมีการผลิตน้ำเชื้อโคแช่แข็งจำหน่ายให้กับเกษตรกรเพื่อช่วยลดต้นทุน และอนาคตจะมีการส่งออกไปยังประเทศกัมพูชาและอินเดีย นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดใช้แช่แข็งกับน้ำเชื้อของสัตว์ชนิดอื่น ๆ  เช่น กระบือ โคนม อย่างไรก็ดีทีมวิจัยได้มีการนำเทคโนโลยีที่ได้จากงานวิจัยของคนไทยไปประยุกต์ใช้กับสัตว์ที่ใกล้สูญพันธ์ โดยร่วมมือกับองค์การสวนสัตว์  ซึ่งคาดว่าในปีนี้น่าจะเป็นเจ้าแรกในโลกที่สามารถแช่แข็งน้ำเชื้อเลียงผาแบบคัดแยกเพศเลียงผาได้สำเร็จ

           และ 2. โครงการการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทฟิล์มจากพลาสติกชีวภาพที่ใช้ในงานบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารและไม่สัมผัสอาหาร”   ซึ่งมี รศ.ดร.ศุภกิจ  สุทธิเรืองวงศ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหัวหน้าโครงการและมีนิสิตที่จะนำองค์ความรู้ไปจัดตั้งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพในนาม บริษัทสมาร์ทไบโอพลาสติก จำกัด   โดยทีมวิจัยได้มีการทำเรื่องพลาสติกชีวภาพมากว่า 10 ปี โดยมีการพัฒนาตั้งแต่การทำให้พลาสติกชีวภาพอยู่ในรูปฟิล์ม ซึ่งเป็นการวิจัยขั้นพื้นฐาน จากนั้นมีการต่อยอดเป็นพลาสติกชีวภาพที่สัมผัสอาหารและไม่สัมผัสอาหาร  โดยใช้เคมีในการปรับปรุงคุณสมบัติในการขึ้นรูปให้เหมาะสมกับการนำไปใช้งาน

           ปัจจุบันงานที่ทีมวิจัยต่อยอดทำมีตั้งแต่ ฟิล์ม ถุงพลาสติกที่มีมูลค่าต่ำ ต่อมามีการพัฒนาเป็นถุงทนร้อน 80-90 องศาเซนเซียส และอยู่ระหว่างพัฒนาเป็นยางรัดถุง เพื่อให้ครบเซ็ตในการใช้กับร้านขายอาหาร ทั้งนี้ปัจจุบันปัญหาหลักของพลาสติกชีวภาพคือเรื่องราคาที่สูงกว่าพลาสติกธรรมดา 2-3 เท่า ดังนั้นโจทย์วิจัยที่เหลืออยู่ในขณะนี้นอกจากการปรับปรุงคุณสมบัติแล้วคือการทำต้นทุนให้ลดลง    

           สำหรับองค์ความรู้ในช่วง  10 ปีที่ผ่านมา โครงการได้มีการผลิตบัณฑิตไปแล้วกว่า 10 คน  และมีการจดสิทธิบัตร 2 สิทธิบัตร ผลงานตีพิมพ์ประมาณ 15 ฉบับ  และนิสิตในโครงการได้มีการนำองค์ความรู้ ไปต่อยอด และสปินออฟ จัดตั้งเป็นบริษัทสมาร์ทไบโอพลาสติก ซึ่งทำเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณสมบัติของพลาสติกชีวภาพให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าในภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นเรื่องของการย่อยสลายได้  ช่วยลดต้นทุน หรือลดของเสียในกระบวนการผลิต

            ส่วนกลุ่มที่2 ที่มีผู้แสดงเจตจำนงนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย โครงการการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สปาพืชสมุนไพรล้านนา   โดย ศ.ภญ.ดร.มาลิน  อังสุรังสี หัวหน้าโครงการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสแอนด์เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)  ซึ่งเป็นบริษัทที่แสดงเจตจำนงนำไปใช้ประโยชน์ โดยมุ่งพัฒนาเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ต้นน้ำที่เป็นสมุนไพรพื้นบ้านเช่น  ใบชาเหมี้ยง งาขี้ม่อน และเมล็ดลำไย โดยจะมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานระดับโลก

            โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากกล้วยไม้สกุลหวาย    มี ดร. อุดมลักษณ์  สุขอัตตะ  จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ และมีบริษัทกล้วยไม้ไทย จำกัด เป็นผู้แสดงเจตจำนงนำไปใช้ประโยชน์  ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร  โดยกล้วยไม้สกุลหวายมีประวัติการใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรในประเทศญี่ปุ่นและจีนมายาวนานกว่า 3 พันปี และกล้วยไม้นี้สามารถปลูกได้ดีในประเทศไทย ทีมวิจัยจึงสนใจที่จะสกัดสารสำคัญจากกล้วยไม้สกุลหวายเพื่อเพิ่มมูลค่า

           โดยงานวิจัยเริ่มต้นตั้งแต่คัดสรรหาสายพันธุ์กล้วยไม้สกุลหวายที่มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ดี หาสภาวะการสกัดที่มีประสิทธิภาพ  มีการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพ   ทดลองในสัตว์และอาสาสมัคร ซึ่งไม่พบความเป็นพิษ และยังสามารถลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งมีอัตราลดความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันมีการนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบแคปซูลและชาสมุนไพร

           และโครงการนวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากชีวมวลและสารชีวภัณฑ์จากแบคทีเรียทนเค็มสายพันธุ์คัดเลือกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกพืชผักแบบเกษตรอินทรีย์   ซึ่งมี ผศ.ดร.สาวิตร  ตระกูลน่าเลื่อมใส จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ และมีบริษัทเอ็นซี โคโค่นัท จำกัด เป็นผู้แสดงเจตจำนงนำไปใช้ประโยชน์   โดยเป็นสารชีวภัณฑ์กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งผลิตจากแบคทีเรียทนเค็มสายพันธุ์ P2-23  โดยมีองค์ประกอบหลักเป็นฮอร์โมน ทีมวิจัยมีการออกแบบกระบวนการเพาะเลี้ยงที่มีความจำเพาะกับแบคทีเรียที่ได้รับการคัดเลือกสายพันธุ์ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมใช้งาน โดยแบคทีเรีย ที่ใช้มีอัตราการเจริญและมีประสิทธิภาพในการสร้างสารกระตุ้นการเจริญของพืชสูง มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ประยุกต์ใช้กับพืชได้หลายวิธี เก็บได้นาน ไม่สลายตัวง่าย เหมาะกับการปลูกพืชทุกชนิด

           สำหรับกลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่มีการใช้ประโยชน์ในระดับนโยบายโดยมีการประกาศใช้แล้ว  คือ โครงการการศึกษาแหล่งที่มาและแผนที่ของอนุภาคขนาดนาโนในบรรยากาศของประเทศไทยรวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม   ซึ่งมี ศ.ดร.พีระพงศ์  ทีฆสกุล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  และคณะวิจัยจากหลายหน่วยงานเป็นผู้ดำเนินโครงการ  การวิจัยดังกล่าวไม่ได้ศึกษาแค่ พีเอ็ม 2.5  แต่ยังลงลึกถึงพีเอ็ม 0.1   ซึ่งเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กมากกว่า พีเอ็ม 2.5  หลายเท่า  และในพีเอ็ม 2.5 ที่กำลังเป็นที่สนใจในปัจจุบันยังประกอบด้วยพีเอ็ม 0.1  กว่า 90 % ในเชิงปริมาณ ซึ่งถือเป็นตัวร้ายของพีเอ็ม 2.5   

           ทีมวิจัย มีการศึกษาคุณสมบัติของฝุ่นละอองในอากาศด้วยการเก็บข้อมูลจาก 3 ภูมิภาคคือเชียงใหม่ กรุงเทพ และหาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งค้นพบข้อมูลคุณลักษณะทางกายภาพและเคมีที่แตกต่างกันและนำไประบุแหล่งที่มาที่แตกต่างกัน และสุดท้ายนำไปสู่ผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งพบว่า อนุภาคฝุ่นละอองในบรรยากาศมีความสัมพันธ์กับกลุ่มโรคทางเดินหายใจ ได้แก่ กลุ่มหลอดลมอักเสบ กลุ่มโรคหืด กลุ่มโรคหวัด กลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง กลุ่มโรคติดเชื้อในปอด กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ กลุ่มหัวใจเต้นผิดจังหวะ

           ปัจจุบันงานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ทั้งการนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศของสภาผู้แทนราษฎร ปี2562  และการนำไปใช้ในการกำหนดกลุ่มโรคจากสิ่งแวดล้อมจาก พีเอ็ม 2.5 ของกรมควบรุมโรครวมถึงอาการจากโรคเพื่อการวินิจฉัยในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข

            ด้าน ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม วช. กล่าวว่า วช.เล็งเห็นถึงความสำคัญที่เป็นต้นแบบการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์โดยต้องการขับเคลื่อนงานวิจัยผ่านเครือข่ายทั้ง 5 เครือข่าย ได้แก่ วช. กลุ่มนักวิจัย กลุ่มผู้ประกอบการ ประชาชนผู้ใช้ประโยชน์ และสื่อมวลชน ในการขับเคลื่อนให้งานวิจัยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ วิจัยและนวัตกรรม ตามแนวคิด “ค้นให้พบ ทำให้ได้ ใช้ให้เป็น” เพื่อสร้างเศรษฐกิจรากฐานให้ยั่งยืนต่อไป