“มิวแทรค” พลิกโฉมวงการโรงพยาบาล ผ่านเทคฯ ‘แทรคกิ้ง’

Inno Market

ความสูญเสียและสิ้นเปลืองที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการงานหลังบ้านที่ขาดประสิทธิภาพ ส่งผลให้สินทรัพย์สูญหาย ใช้งานอุปกรณ์ไม่คุ้มค่า และเวลาของเจ้าหน้าที่หมดไปกับการทำงานที่ซ้ำซ้อน เป็นตัวอย่างสถานการณ์ปัญหาที่พบเห็นได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง  จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ “ปิโยรส ปิยจันทร์” พัฒนา “โครงสร้างพื้นฐานแทรคกิ้ง” ภายใต้รูปแบบของแพลตฟอร์มที่รวมหลากหลายแอปพลิเคชั่นด้านแทรคกิ้งเอาไว้ โดยมีชื่อว่า “มิวแทรค”  (Mutrack)

ปิโยรส ปิยจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิวแทรค จำกัด  กล่าวว่า มิวแทรค เกิดจากการรวมกลุ่มของเพื่อน 4 คน ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ทำในด้านซอฟต์แวร์เป็นหลัก โดยทำระบบที่เกี่ยวข้องกับ Tracking & Analytics Platform  โฟกัสตอนนี้อยู่ในกลุ่มโรงพยาบาล เพราะต้องการที่จะเข้าไปแก้ปัญหาให้อุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวของความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการงานหลังบ้าน เช่น การจัดการสินทรัพย์ ขั้นตอน และกระบวนการทำงานต่างๆ ซึ่งยังเป็นในเรื่องของการใช้คนทำเป็นส่วนใหญ่ จึงมีไอเดียที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเข้าไปตอบโจทย์และแก้ปัญหาตรงจุดนี้

“โซลูชั่นแรกที่นำเสนอ คือการบริหารจัดการผ้าในโรงพยาบาล เช่น ชุดผู้ป่วย ผ้าปูเตียง เนื่องจากสถิติพบว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในประเทศไทยหลายแห่งมีการสูญหายของผ้าคิดเป็นมูลค่าสูงถึงหลายแสนบาทต่อเดือน จึงได้มีการพัฒนาระบบที่ช่วยในการติดตามสินทรัพย์และคนด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยใช้เทคโนโลยีแทรคกิ้งตัวหนึ่งที่ค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพสูงในแง่ของการสแกนนับ สแกนด้วยคลื่นวิทยุเพื่อระบุว่าในถุงผ้ามีผ้าอะไรบ้าง และสิ่งที่มิวแทรคนำเสนอคือซอฟต์แวร์โซลูชั่นที่เป็น ‘โซลูชั่นที่สมบูรณ์’ คือ มีหน้าเว็บที่ไว้ใช้ในการบริหาร ระบบไม่ใช่แค่สแกนนับผ้า แต่เป็นระบบบริหารจัดการและมีโมบายแอปพลิเคชั่นที่ให้เจ้าหน้าที่หน้างานสแกนนับผ้า ผลลัพธ์ที่ได้หลังจากทำระบบนี้ให้โรงพยาบาลเอกชนกว่า 1 ปีที่ผ่านมา คือ ผ้าหายน้อยลงเป็น 10 เท่า ซึ่งถือเป็นระบบแรกที่ทำและกำลังขยายตลาดไปที่โรงพยาบาลอื่นๆทั้งภาครัฐ และเอกชน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด”

Locator Mutrack

ปิโยรส กล่าวต่อไปว่า ระบบที่สองที่กำลังพัฒนาและกำลังจะต่อยอดด้วยตัวโครงสร้างเดิม คือ ระบบบริหารจัดการเวรเปล หรือเจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วย ปัจจุบันยังใช้การกระจายงานแบบแมนนวล ไม่มีการจัดการที่เป็นระบบ ไม่มีการเก็บเรคคอร์ด ประสิทธิภาพล่าช้า ปัญหาที่เห็นได้ชัดเจน คือ 1.ผู้ป่วยรอนาน ส่งผลโดยตรงกับความพึงพอใจในเรื่องของการรับบริการของผู้ป่วย 2.ทีมงานมีการรับงานในปริมาณที่ไม่เป็นธรรม 3. ไม่สามารถเก็บข้อมูลรายละเอียดของการทำงานเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นในอนาคตได้

แนวทางที่จะช่วยพัฒนากระบวนการตรงนี้คือการนำเทคโนโลยี Real Time Locating System (RTLS) โดยเทคโนโลยีที่นำมาใช้คือ บลูทูธพลังงานต่ำ (Bluetooth Low Energy: BLE) มาประยุกต์ใช้ ลักษณะเหมือนระบบที่เป็น Grab ในโรงพยาบาล จะเป็นระบบที่สามารถกระจายงานไปยังคนที่เหมาะสมที่สุด หลักการทำงานคือเจ้าหน้าที่แต่ก่อนเคยถือวอ จะเปลี่ยนเป็นใช้โทรศัพท์มือถือที่มีแอปพลิเคชั่นของมิวแทรครันอยู่ซึ่งจะปล่อยสัญญาณ BLE ออกมา  เมื่อทำงานกับโครงสร้างพื้นฐานแทรคกิ้งของมิวแทรคที่เป็นบลูทูธเกตเวย์ หรือ Locator  ตามจุดต่างๆของโรงพยาบาลจะสามารถรู้ได้ตลอดเวลาว่าพนักงานอยู่ตำแหน่ง เพราะฉะนั้นเมื่อมีงานร้องขอเข้ามา ระบบจะกระจายงานได้อย่างรวดเร็วและชาญฉลาด โดยการคำนวณว่าเจ้าหน้าที่คนไหนอยู่ใกล้จุดที่รับตัวผู้ป่วยที่สุด งานก็จะถูกส่งไปโดยอัตโนมัติ ช่วยทำให้กระบวนการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ปัจจุบันระบบนี้กำลังถูกติดตั้งใช้งานที่โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ

Temperature Mutrack

ต่อมาคือระบบที่เราจะพัฒนาต่อไปในอนาคตคือระบบติดตามอุปกรณ์การแพทย์แบบเรียลไทม์ จากสถิติที่สหรัฐเก็บตัวอย่างขึ้นมาพบว่า ในแต่ละปีมีความสูญเสียที่เกิดจากการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพในโรงพยาบาลสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญ สาเหตุเช่นอุปกรณ์การแพทย์ส่วนใหญ่อัตราการใช้งานอยู่ที่ 30-40% เท่านั้น นั่นคือต้นทุนที่สูญเสียไปอีกหนึ่งเท่าตัว นั่นเป็นเพราะ “หาของไม่เจอ” จนต้องเกิดการซื้อใหม่ ทำให้สินค้าคงคลังโตเกินความจำเป็น นี่เป็นความสูญเสียที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่มองไม่เห็น

ดังนั้นมิวแทรคจะนำอุปกรณ์ที่เรียกว่าบีค่อน (Beacon) ไปติดกับอุปกรณ์แต่ละชิ้นที่ต้องการจะแทรค พร้อมติดตั้ง Locator ที่จะสามารถตรวจจับสัญญาณ BLE จากบีค่อนดังกล่าวและบอกตำแหน่งได้ เมื่อรู้ว่าอุปกรณ์อยู่ที่ใดจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ได้ และช่วยเพิ่มอัตราการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆได้อย่างสูงสุด และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์อัตราการใช้งาน รวมถึงประเมินความต้องการในการจัดซื้อได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

ซึ่งเป้าหมายสูงสุดที่ทำมิวแทรคทำคือ Zero Waste ด้วยความที่มองเห็นปัญหานี้อย่างชัดเจนในโรงพยาบาลจึงต้องการช่วยลดความสูญเสียให้ต่ำที่สุด จึงเน้นช่วยให้โรงพยาบาลสามารถลดต้นทุนได้โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไป หรือเรียกว่า ดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น ยกระดับกระบวนการทำงานในภาพใหญ่ขององค์กร แนวคิดของบริษัทคือ นำเสนอโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นตัวแทรคกิ้งเข้าไปก่อนในลักษณะที่เป็นแพลตฟอร์ม หลังจากนั้นจะต่อยอดขึ้นไปที่เป็นแอปพลิเคชั่นตัวที่ 1,2,3 ซึ่งจะไปช่วยกระบวนการบริหารจัดการในโรงพยาบาลดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ปิโยรส บอกว่า บริษัทอยู่ในสถานะที่เป็นสตาร์ทอัพที่มีรายได้แล้ว ไม่ใช่แค่มีไอเดีย มีลูกค้า มีตลาด ส่วนบิซิเนสโมเดลคือ การนำการเช่าใช้ระบบที่อยู่บนคลาวด์เข้ามาให้บริการกับลูกค้า เนื่องจากระบบของมิวแทรคต้องใช้ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพราะฉะนั้นโมเดลคือ ขายฮาร์ดแวร์ทั้งบลูทูธเกตเวย์และบีค่อน และเปิดให้โรงพยาบาลใช้คลาวด์เซอร์วิสของมิวแทรคได้ทันที เพราะฉะนั้นลูกค้าจะไม่ได้ซื้อแค่ฮาร์ดแวร์แต่จะได้รับซอฟต์แวร์ไปด้วยวิธีการดังกล่าวจึงเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้าตัดสินใจเข้ามาใช้บริการง่ายขึ้นแทนที่จะลงทุนทั้งหมด

Badge Mutrack

ส่วนในแง่ของซอฟต์แวร์มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับเบสิคเวอร์ชั่นใช้งานฟรี ส่วนเวอร์ชั่นจำเป็นที่จะต้องอัพเกรดจ่ายเงินก็จะได้ฟีเจอร์ที่แอดวานซ์เพิ่มขึ้น ส่วนช่องทางในการขายจะแบ่ง 2 ช่องทางคือ 1.ขายตรงให้กับโรงพยาบาลที่รู้จักและมีคอนเนคชัน 2.ผ่านพาร์ทเนอร์ชิพเน็ตเวิร์ก ซึ่งปัจจุบันมิวแทรคมีตัวแทนจำหน่ายหลายรายในประเทศไทยที่ช่วยนำเสนอและนำโซลูชั่นมิวแทรคสู่สายตาของโรงพยาบาลอีกหลายๆกลุ่มทั้งในแง่ของรัฐและเอกชน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด

ตลาดค่อนข้างอยู่ในโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯเป็นหลัก แต่ระบบที่ทำขึ้นมานั้นให้ประโยชน์กับทั้งโรงพยาบาลขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ กระจายทั้งเอกชน และรัฐบาล ตอนนี้เริ่มขยายไปตามหัวเมืองต่างจังหวัด ในแง่ของตลาดเป็นเป้าหมายของบริษัทเช่นกันในการพัฒนาโปรดักท์ที่แข่งขันได้ในระดับโลก ไม่ได้มองแค่ตลาดในประเทศไทย จึงเริ่มมีคุยกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศในการที่จะนำระบบเข้าไปทดลองใช้ หรือขายในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย ที่เริ่มทำตลาดแล้ว และในปีนี้ มีเป้าหมายที่จะขยายสู่ตลาดสิงคโปร์

Wristband Mutrack

ปิโยรส เล่าต่อไปว่า ตอนนี้มีโรงพยาบาลเอกชน และรัฐบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯที่ใช้ระบบจริงอยู่  2 แห่ง ซึ่งกำลังมีโครงการที่จะเริ่มต้นในการนำระบบเข้าไปใช้อีกนับ 10 ราย จากมุมมองที่ไม่ได้ทำงานให้โรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่ง แต่เป็นการนำโจทย์ที่ได้จากหลายโรงพยาบาลกลับมาพัฒนาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์โรงพยาบาลส่วนใหญ่ได้เป็นคอนเซปต์ที่เรียกว่า “ทำเป็นโปรดักท์ ไม่ได้ทำเป็นโปรเจกต์” ทำให้มีโอกาสในการเข้าหาตลาดได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น อีกทั้งโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะมีเครือ จะมีโอกาสในการขยายการใช้งานสู่สาขาอื่นๆด้วย ซึ่งเป็นเป้าหมายการทำธุรกิจในระยะยาว

“ขณะเดียวกันได้มีการวางโรดแมป 5 ปีของบริษัท ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทั้งตัวโปรดักต์และเทคโนโลยีที่จะใช้ ตัวอย่างเช่น โซลูชั่นไม่ได้ถูกยึดติดกับโรงพยาบาลหรืออุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์เพียงอย่างเดียว แต่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมอื่นด้วย อาทิ คน สิ่งของ ซึ่งในโรงงานก็มีความต้องการเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงเป็นภาพที่มองว่าสามารถขยายธุรกิจได้ทั้ง 2 มุมคือ 1.มุมลึก ทำแอปพลิเคชั่นให้โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 2.ขยายในมุมกว้างคือ โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม อาคาร แต่สุดท้ายแล้วยังคงยึดติดอยู่กับแนวทางในการทำแทร็คกิ้งแอปพลิเคชั่น หรือ โครงสร้างพื้นฐานแทรคกิ้ง”