บพข. หนุนนักวิจัย มก. ผลิต test-kit ทดสอบความปลอดภัย COLI-2-in-1 สู่เชิงพาณิชย์

เวทีวิจัย

               ความปลอดภัยอาหารหรือ Food Safety ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากจะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้บริโภคโดยตรงแล้ว ยังเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทย ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

               กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) แผนงานอาหารมูลค่าสูง เห็นความสำคัญของ  Food Safety ที่จำเป็นต้องมีเครื่องมือ หรือชุดทดสอบต่าง ๆ  ที่เป็นมาตรฐาน  จึงได้สนับสนุนทุนวิจัย   ปี 2566-2567 ในโครงการ “ชุดทดสอบ COLI-2-in-1” ของคณะวิจัย นำโดย “รศ.ดร.อนุศักดิ์  เกิดสิน” จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้เกิดการต่อยอดผลงานวิจัย จนสามารถผลิตและผ่านการทดสอบ ระดับสากลพร้อมออกสู่เชิงพาณิชย์ได้  เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

               รศ.ดร.อนุศักดิ์ เกิดสิน  รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   กล่าวว่า  แบคทีเรียโคลิฟอร์มและฟีคัลโคลิฟอร์ม โดยเฉพาะ Escherichia coli  (E. coli ) เป็นดัชนีชี้วัดสุขาภิบาลอาหารและน้ำดื่มทางจุลชีววิทยาที่สำคัญ  สามารถใช้บ่งบอกถึงสุขลักษณะและความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยของการบริโภคอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อก่อโรคในอาหารปนเปื้อนได้

               สำหรับการวิเคราะห์โคลิฟอร์มและฟีคัลโคลิฟอร์ม หรือ E. coli ทางจุลชีววิทยา สามารถทำได้ หลายวิธีทั้งการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการหรือการใช้ชุดตรวจอย่างง่าย  แต่วิธีต่าง ๆ เหล่านี้ ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ใช้เวลาการวิเคราะห์นาน มีขั้นตอนซับซ้อน ยุ่งยาก ราคาแพง และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำการทดสอบ รวมถึงให้ผลวิเคราะห์โคลิฟอร์มเป็นหลัก   

               ดังนั้นการพัฒนาชุดทดสอบทางจุลชีววิทยาเชิงคุณภาพที่สามารถตรวจหาโคลิฟอร์มและฟีคัลโคลิฟอร์มได้พร้อมกันในชุดทดสอบเดียว จะช่วยลดข้อจำกัดบางประการข้างต้นได้

               คณะผู้วิจัยฯ  จึงได้พัฒนาชุดทดสอบ COLI-2-in-1 ขึ้น  สำหรับคัดกรองเชื้อจุลชีพในกลุ่มโคลิฟอร์ม และ E. coli โดยสามารถตรวจได้ทั้ง 2 ชนิดพร้อมกันในชุดทดสอบเดียว เป็นการตรวจในเชิงคุณภาพ นำไปใช้ตรวจได้ทั้งในน้ำดื่มในอาหารเสี่ยงทุกชนิดโดยเฉพาะในอาหารที่ไม่ได้ผ่านการปรุงสุก รวมถึงตรวจได้จากมือผู้สัมผัสอาหาร 

               งานวิจัยประสบความความสำเร็จในเบื้องต้น และได้มีการสำรวจความคิดเห็นของลูกค้าที่ได้ทดลองใช้ชุดทดสอบนี้ ซึ่งให้ผลการตอบรับที่ดี โดยกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการใช้งานแบบ 2 ชนิดพร้อมกันในชุดทดสอบเดียวนี้ คือ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ไปตรวจตามร้านอาหาร ร้านค้าปลีก หรือร้านค้าส่งต่าง ๆ

               อย่างไรก็ตามเพื่อให้สามารถนำไปผลิตได้จริงในเชิงพาณิชย์ และผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในการนำไปใช้งานจริง จำเป็นต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องตามมาตรฐานสากล อย่างเช่น ISO16140-2:2016 ก่อนนำไปขอรับการรับรองผลิตภัณฑ์จากหน่วยงานอิสระ คือ TÜV SÜD สำหรับการผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งในช่วงดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก บพข. ในการพัฒนาเพื่อประเมินคุณภาพของชุดทดสอบให้ได้ตามมาตรฐานที่ ISO16140-2:2016  กำหนดไว้รวมถึงขยายสเกลสำหรับผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป