CKPower เผยกำไรสุทธิ Q1/2568 พลิกเป็นบวกแม้เป็นฤดูแล้ง สะท้อนการดำเนินงานแข็งแกร่ง คาด Q2 ได้แรงหนุนต่อเนื่องจากฤดูกาล พร้อมเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียน

กรุงเทพฯ 12 พ.ค. 2568 นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower หนึ่งในผู้นำในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยในไตรมาสที่ 1/2568 ว่า CKPower มีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงิน ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย รวมส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในการร่วมค้าและบริษัทร่วม (EBITDA + Share of Profits) จำนวน 991 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 139 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (Core Net Profit) จำนวน 63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 305 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่รับรู้ขาดทุนจากการดำเนินงาน 242 ล้านบาท

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 เพิ่มขึ้นในปีนี้ มาจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ของบริษัท โดยรายได้การขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4 จากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำในช่วงต้นปี 2568 ที่มากกว่าปีก่อน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าสามารถประกาศความพร้อมจ่ายไฟฟ้าได้มากขึ้นร้อยละ 7 รวมถึงการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในการร่วมค้าและบริษัทร่วมลดลงถึง 563 ล้านบาท เหลือเพียง 7 ล้านบาท หรือขาดทุนลดลงร้อยละ 99 จากปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41 ทำให้ปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 สามารถประกาศความพร้อมจ่ายไฟฟ้าเดือนมกราคม-พฤษภาคมปี 2568 มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 3 และยังมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 อยู่ที่ 363 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณน้ำไหลเข้า โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าจะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย โดยต้องรอความชัดเจนของปริมาณน้ำอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม สำหรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ หลวงพระบาง มีความคืบหน้าการก่อสร้าง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ร้อยละ 48 ซึ่งเป็นไปตามแผน ขณะที่โครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ สำหรับผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ในระยะแรกจำนวน 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 7.0 MW ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 มีความคืบหน้าการก่อสร้างอยู่ที่ร้อยละ 86 ซึ่งเป็นไปตามแผน โดยเริ่มผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้แล้ว 1 โครงการเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2567 และจะทยอยแล้วเสร็จครบทุกโครงการในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568″ นายธนวัฒน์ กล่าวเสริม
สำหรับฐานะการเงินของ CKPower มีความแข็งแกร่งต่อเนื่อง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 บริษัทมีอัตราส่วนสภาพคล่องอยู่ที่ 1.72 เท่า มีหนี้สินรวมลดลงร้อยละ 3 จากสิ้นปี 2567 และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมในระดับต่ำที่ 0.53 เท่า โดยทริสเรทติ้งได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ทุกชุดของบริษัทเป็นอันดับ “A-“ แนวโน้มคงที่ ซึ่งเท่ากับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สะท้อนถึงโครงสร้างหนี้ที่แข็งแกร่งขึ้น จากการบริหารหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ การทยอยลดภาระหนี้ของบริษัทย่อย และการรักษาระดับความสามารถในการชำระหนี้ให้อยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่ง พร้อมกันนี้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ได้อนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลดำเนินงานในปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 0.085 บาท เป็นเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 691 ล้านบาท มีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 23 พฤษภาคม 2568

นายธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับก้าวต่อไป CKPower มีแผนเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการสร้างโอกาสใหม่ด้านการเงินสีเขียว (Green Finance) โดยใช้กลไกการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (RECs) โดยในปี 2567 โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในเครือของกลุ่มบริษัท CKPower สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนส่งให้ประเทศไทยได้กว่า 8.8 ล้านเมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในประเทศ และในปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนและเดินหน้าสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่สามารถหวังผลในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2593″

สำหรับบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower เป็นบริษัทประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภท จำนวน 18 แห่ง รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 3,640 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย (1) โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ภายใต้ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 42.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ และ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ หลวงพระบาง ภายใต้ บริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 50% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์ (2) โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น 2 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และ (3) โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 13 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% จำนวน 11 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 28 เมกะวัตต์ ภายใต้บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัท เชียงราย โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์