สวทช. ชู Smart Technology องค์ความรู้พัฒนาพันธุ์พืชผักสมุนไพร-ชีวภัณฑ์ ยกระดับการเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) และอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (อวท.) จัดสัมมนา “โอกาสและความท้ายในการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร ด้วยเทคโนโลยี Smart Green House, Plant Factory การพัฒนาพันธุ์พืชผักสมุนไพร และการใช้ชีวภัณฑ์” เพื่อนำเสนอองค์ความรู้และผลงานวิจัยของ สวทช. ไปสู่การประยุกต์ใช้จริงในภาคอุตสาหกรรมเกษตร ประกอบด้วยเทคโนโลยี Smart Green House (โรงเรือนอัจฉริยะ) Plant Factory (โรงงานผลิตพืช) การพัฒนาพันธุ์พืชผักสมุนไพร และการใช้ชีวภัณฑ์ ซึ่งล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจเกษตรปลอดภัยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายอภิรักษ์ วิเศษศรีพงษ์ ผู้จัดการงานอุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจด้านเกษตรในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายโดยตรงจากผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การลดลงอย่างรวดเร็วของทรัพยากรธรรมชาติ การขาดแคลนน้ำและพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดบ่อยครั้ง ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิต ขีดความสามารถในการแข่งขัน และความมั่นคงในรายได้ของเกษตรกรไทย เครื่องมือหนึ่งที่สำคัญจะนำมาใช้ในการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายดังกล่าว คือ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการเกษตรปลอดภัย ควรได้รับความรู้และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การทำเกษตรแบบเดิม สู่การทำเกษตรมูลค่าสูง โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ เช่น เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) และเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างความยั่งยืนในการผลิต

ดร.ประเดิม วณิชชนานันท์ นักวิจัย ทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร BIOTEC สวทช. กล่าวว่า การเพิ่มศักยภาพในการผลิตพืชผัก สมุนไพร ด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เช่น โรงเรือนอัจฉริยะ และโรงงานผลิตพืช สามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในการผลิตพืชผักสมุนไพร และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เช่น การควบคุมการผลิตสาระสำคัญ ความแม่นยำในการจัดการการผลิต และการลดต้นทุน เป็นการเกษตรแบบแม่นยำที่ได้คุณภาพและผลผลิตที่ยั่งยืนได้ สามารถช่วยยกระดับการผลิตพืชผักสมุนไพรของไทยเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและแข่งขันได้

ดร.เกรียงไกร โมสาลียานนท์ นักวิจัย ทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร BIOTEC สวทช. ได้ให้ข้อมูลถึงการผลิตพืชผักสมุนไพรพรีเมียม ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะและเทคนิคการผลิตพืชใน Plant Factory (PEAL) หรือโรงเรือน Green House ว่า พืชผักสมุนไพรพรีเมียม ควรมีคุณลักษณะต่อไปนี้ ได้แก่ ความสะอาดปราศจากสิ่งเจือปนที่เป็นอันตราย เช่น โลหะหนัก จุลินทรีย์ก่อโรค และสารเคมีอันตราย ความมีสารสำคัญที่ต้องการที่สม่ำเสมอและตรวจสอบได้ ความมีโภชนาการเชิงหน้าที่ (functional nutrition) ตลอดจนผ่านมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ด้าน ดร.บุญเฮียง พรมดอนกอย นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ BIOTEC สวทช. ได้ให้ข้อมูลถึงการผลิตและการใช้ชีวภัณฑ์ในการกำจัดศัตรูพืชอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นที่ชีวภัณฑ์ที่ทำจากจุลินทรีย์ ได้แก่ แบคทีเรียบีที (Bacillus thuringiensis) ซึ่งจะสร้างโปรตีนผลึกที่เป็นพิษต่อแมลงเมื่อแมลงกินเข้าไป มีหลากหลายสายพันธุ์ที่ออกฤทธิ์ต่อแมลงต่างชนิดกัน รวมถึง ไวรัสเอ็นพีวี (NPV) เป็นไวรัสที่ก่อโรคในแมลงและมีประสิทธิภาพสูงในการทำลายแมลงศัตรูพืชโดยการกิน และเชื้อรากำจัดแมลง เช่น ราขาวบิวเวอเรีย ราเขียวเมตาไรเซียม และราเพอพิวริโอซิเลี่ยม ซึ่งจะเข้าสู่ตัวแมลงโดยการสัมผัสและงอกเข้าไป

และ ดร.โอภาส ตรีทวีศักดิ์ นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล NECTEC สวทช. ได้ให้ข้อมูลถึงการใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์และดาวเทียมเพื่อการจัดการแปลงเกษตรแบบ “ไวมาก” (WiMaRC) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีไร้สายเพื่อติดตามสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการทำการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกแบบเรียลไทม์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบข้อมูล วางแผนการเพาะปลูก และสั่งการทำงานอุปกรณ์ IoT ในพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมได้ง่าย ๆ จากทุกที่ ทุกเวลา ผ่านเว็บแอปพลิเคชันเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนขององค์ความรู้และผลงานวิจัยของ สวทช. ที่พร้อมประยุกต์ใช้จริงในภาคอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อพัฒนาธุรกิจเกษตรให้ปลอดภัย แม่นยำ และยั่งยืน ทั้งในด้านพันธุ์พืชผักสมุนไพรที่ให้ผลผลิตและสารสำคัญสูง ระบบการผลิตพืชผักสมุนไพรด้วยเทคนิคการผลิตพืชในโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) หรือโรงเรือนอัจฉริยะ (Smart Greenhouse) ที่มีประสิทธิภาพ และการใช้ชีวภัณฑ์เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช รวมถึงสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนผู้ประกอบการเกษตรปลอดภัย ด้วยกลไก ITAP ติดต่อสอบถามและสนใจเข้าร่วมโครงการกับโปรแกรม ITAP ได้ที่เบอร์ 02 5647000 ต่อ ITAP (คุณเสาวภา) และอีเมล sauwapa@nstda.or.th


