ซินโครตรอนถ่ายทอดเทคโนโลยี DLC ฟิล์มแกร่งเสมือนเพชรเสริมเขี้ยวเล็บให้อุตฯไทย

News Update

ซินโครตรอน” กระทรวง อว.ถ่ายทอดเทคโนโลยี DLC ฟิล์มแกร่งเสมือนเพชรเสริมเขี้ยวเล็บให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตไปไกล พร้อมสร้างเครือข่ายนวัตกรรมยั่งยืน

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีฟิล์ม DLC สู่ภาคอุตสาหกรรมไทย เสริมศักยภาพการแข่งขันและสร้างเครือข่ายนวัตกรรมอย่างยั่งยืน พร้อมโชว์ต้นแบบการเคลือบฟิล์ม DLC บนบรรจุภัณฑ์อาหารสมัยใหม่ ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอาหารสด ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต

นครราชสีมา – สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Workshop on DLC Tech Solutions for Industry 2025” ร่วมกับศูนย์เชี่ยวชาญเทคโนโลยีพลาสมา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระหว่างวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2568 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีฟิล์มคาร์บอนเสมือนเพชร Diamond-Like Carbon (DLC) แก่ภาคอุตสาหกรรมไทย โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 60 คน จากภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานวิจัยทั่วประเทศ

กิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการรับรู้และเข้าใจเทคโนโลยีฟิล์ม DLC ซึ่งเป็นวัสดุเคลือบผิวที่มีคุณสมบัติโดดเด่นด้านความแข็งแรง ทนทานต่อการสึกหรอ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญ และร่วมกันสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านเทคโนโลยี DLC ในระดับประเทศ ภายในงาน ดร.ศรายุทธ ตั้นมี หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร และ ดร.พินิจ กิจขุนทด หัวหน้าฝ่ายวิจัยและประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอน พร้อมด้วยคณะนักวิจัยของสถาบันฯ และผู้เชี่ยวชาญด้าน DLC ได้ร่วมบรรยายและนำเสนอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พร้อมทั้งแนวทางการประยุกต์ใช้ฟิล์ม DLC ในภาคอุตสาหกรรมจริง

ผู้เข้าร่วมยังได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยแสงซินโครตรอน และห้องปฏิบัติการเทคนิคและวิศวกรรมของสถาบันฯ เพื่อเรียนรู้กระบวนการวิจัยและพัฒนาอย่างใกล้ชิด หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงานคือการนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาเครื่องต้นแบบสำหรับการเคลือบฟิล์ม DLC บนบรรจุภัณฑ์อาหารสมัยใหม่ ซึ่งมีศักยภาพในการยืดอายุการเก็บรักษาอาหารสด ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต

นอกจากนี้ การจัดเวิร์กชอปยังเป็นเวทีสำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม นักวิจัย และสถาบันการศึกษา เพื่อร่วมกันผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยี DLC ให้เกิดการใช้งานจริงในระดับอุตสาหกรรม และต่อยอดสู่การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศในอนาคต