3 นักวิจัยสตรีจากจุฬาฯและสวทช. คว้าทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ปี 2563

Cover Story

        ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า “โลกต้องการวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต้องการสตรีเพื่อการพัฒนา” ทำให้ลอรีอัล ดำเนินโครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” อย่างต่อเนื่อง มาเป็นปีที่ 22 โดยได้สนับสนุนนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่มากกว่า 250 ท่าน  ในโครงการระดับประเทศและระดับภูมิภาคทั่วโลก และได้มอบทุนเกียรติยศนานาชาติแก่นักวิจัยสตรีระดับ Laureates ไปแล้วกว่า 100 ท่าน

        สำหรับประเทศไทย “นางอินเนส คาลไดรา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด  กล่าวว่า โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์”  ได้ดำเนินงานโครงการมาเป็นปีที่ 18 ปี มีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 69 ท่าน

        “ในช่วงสถานการณ์ระบาดโควิด-19 นี้ ทุกภาคส่วนทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยวิทยาศาสตร์มีต่อมนุษยชาติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ลอรีอัล ประเทศไทย เองได้สนับสนุนนักวิจัยสตรีมากขึ้นกว่าเดิม โดยเพิ่มทุนพิเศษเพื่องานวิจัยโควิด-19 ในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา และยังคงทุนวิจัยฯ ประจำปีไว้เช่นเดิมเป็นปีที่ 18 เพื่อเป็นแรงผลักดันให้นักวิจัยสตรีไทยสามารถก้าวเข้าสู่วงการวิทยาศาสตร์ในระดับสากล และเป็นหนึ่งฟันเฟืองหลักในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ”

        และเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก…ที่ล่าสุด 2 นักวิจัยสตรี ผู้เคยได้รับทุนวิจัยจากโครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ระดับนานาชาติ ในปี 2559  “ศ. เอ็มมานูแอลล์  ชาร์ปงทิเย” และ “ศ. เจนนิเฟอร์ เอ ดอดนา” ได้คว้ารางวัลโนเบลสาขาเคมี 2020 จากการคิดค้นเทคนิคกรรไกรตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งครั้งสุดท้ายที่รางวัลโนเบลมอบให้ผลงานของนักวิจัยหญิงล้วน คือเมื่อปี 2507 หรือ 56 ปีที่แล้ว  นับเป็นรางวัลโนเบลที่ 5 ของนักวิจัยสตรีผู้ที่เคยได้รับการยกย่องจากโครงการฯ ระดับนานาชาติ

        ความสำเร็จนี้เป็นความภูมิใจของลอรีอัล ในการสนับสนุนสตรีนักวิทยาศาสตร์ที่ผลงานวิจัยเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติและได้รับการเชิดชูเกียรติจากรางวัลที่สำคัญสูงสุดในวงการวิทยาศาสตร์โลก

         อย่างไรก็ดีจากการจัดอันดับศักยภาพการแข่งขันด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดย IMD หรือ IMD World Digital Competitiveness Ranking 2020 พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6  สำหรับประเทศที่มีนักวิจัยสตรีที่โดดเด่นในวงการวิทยาศาสตร์ จากทั้งหมด 60 กว่าประเทศทั่วโลก ในหมวด Scientific Concentration ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ใช้ประเมินศักยภาพด้านดิจิทัลของไทยและประเทศอื่น ๆ

        และในปีนี้…โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์”   ได้มอบทุนให้แก่นักวิจัยสตรี 3 ท่าน จาก 2 สาขา ได้แก่  สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คือ “ผศ.ดร. จุฑามาศ รัตนวราภรณ์” จากหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานวิจัย “ไหมไทย จากอุตสาหกรรมสิ่งทอสู่นวัตกรรมเพื่อการแพทย์” และ “ดร. สุวัสสา บำรุงทรัพย์” จาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การพัฒนาอนุภาคนาโนสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์”  และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ คือ “ดร. บุญญาวัณย์ อยู่สุข” จาก ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) สวทช. กับผลงานวิจัยหัวข้อ “เชื้อเพลิงสะอาดและสารหล่อลื่นชีวภาพ: ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อการพัฒนาปาล์มน้ำมันไทยอย่างยั่งยืน”

         ผศ.ดร. จุฑามาศ รัตนวราภรณ์   เจ้าของผลงานวิจัย “ไหมไทย จากอุตสาหกรรมสิ่งทอสู่นวัตกรรมเพื่อการแพทย์”  บอกถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า  ในรังไหมไทยประกอบด้วยโปรตีนหลัก 2 ชนิด คือเซริซินและไฟโบรอิน  โดยเซริซินหรือกาวไหมนิยมใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง มีฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน  ขณะที่ไฟโบรอินเป็นโปรตีนเส้นใยที่มีความเข้ากันได้กับชีวภาพของร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ ไม่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และสามารถย่อยสลายได้ในร่างกาย ขณะเดียวกันก็มีความเหนียวและยืดหยุ่นเมื่อเทียบกับชีววัสดุธรรมชาติอื่นๆ  

        “ ทีมวิจัย จึงสนใจสกัดไฟโบรอินจากรังไหมไทยและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรม เช่น เทคโนโลยีการทำแห้งเยือกแข็งแบบสูญญากาศ การชะละลายสารก่อรูพรุน การปั่นเส้นใยด้วยไฟฟ้าสถิต การพิมพ์ 3 มิติ และ เทคนิคอิมัลชัน ในการผลิตระบบนำส่งยาจากไฟโบรอินไหมไทยรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ไฮโดรเจลชนิดฉีดได้ เส้นใยนาโน แผ่นแปะ และอนุภาคขนาดไมครอน ซึ่งสามารถปลดปล่อยยาได้อย่างจำเพาะเจาะจงและเนิ่นนานเพื่อรักษาโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคข้อเสื่อม โรคตาอักเสบที่เกิดจากต้อหินและต้อกระจก เป็นต้น”

        นอกจากนี้ยังนำไฟโบรอินไหมไทยมาผลิตเป็นโครงเนื้อเยื่อเพื่อการซ่อมสร้างเนื้อเยื่อผิวหนัง กระดูก กระดูกอ่อน หมอนรองกระดูก และหลอดเลือด   ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้และประสิทธิภาพของการใช้งานจริง โดยมีการคำนึงถึงความปลอดภัยและมาตรฐานทำการทดสอบความปลอดภัยของวัสดุรูปแบบต่าง ๆ ที่ผลิตจากไฟโบรอีนไหมไทยตามาตรฐาน ISO  ซึ่งผลการทดสอบยืนยันว่าชีววัสดุไฟโบรอินไหมไทยไม่เป็นพิษต่อเซลล์และไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ

        ผศ.ดร. จุฑามาศ  บอกว่า งานวิจัยนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านชีววัสดุเพื่อการแพทย์  มีการผสมผสานความรู้สหสาขาทั้งด้านวิศวกรรม วัสดุและชีววิทยา เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้ไหมไทย ลดการนำเข้าและลดการพึ่งพาอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ ส่งเสริมการเลี้ยงหม่อนไหมในประเทศ ทั้งยังแสดงถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์ ยกระดับการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศอีกด้วย

        ด้าน “ดร. สุวัสสา บำรุงทรัพย์”   เจ้าของผลงานวิจัย “การพัฒนาอนุภาคนาโนสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์”  กล่าวว่า  การตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ ในระยะเริ่มต้นด้วยความแม่นยำ โดยวิธีการที่ไม่ยุ่งยากและใช้เวลาน้อย ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย โดยปัจจุบันนาโนเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ โดยเฉพาะการใช้อนุภาคนาโนเพื่อให้สัญญาณการตรวจวัดในไบโอเซ็นเซอร์สำหรับการตรวจวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ของโรค

        งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นการพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์โดยใช้อนุภาคนาโนร่วมกับเทคนิคเชิงแสง 2 เทคนิค ได้แก่ เทคนิคพื้นผิวขยายสัญญาณการกระเจิงแสงรามาน และ เทคนิคฟลูออเรสเซนส์ ซึ่งมีความไวสูง  สามารถตรวจวิเคราะห์เป้าหมายได้หลายชนิดในเวลาเดียวกัน โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้การตรวจวิเคราะห์และตรวจคัดกรองโรคมะเร็งนอกจากนี้ยังมีการขยายผลโดยการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้พัฒนาชุดตรวจโรคติดเชื้อในกลุ่มไข้หวัดใหญ่ได้อีกด้วย โดยงานวิจัยจะก่อให้เกิดองค์ความรู้ด้านการออกแบบและสังเคราะห์อนุภาคนาโนในกลุ่มของอนุภาคนาโนทอง และอนุภาคซิลิกานาโนบรรจุสารฟลูออเรสเซนส์ รวมถึงการปรับปรุงคุณสมบัติทางเคมีของพื้นผิวอนุภาคนาโนให้เหมาะสมต่อการติดฉลากด้วยชีวโมเลกุล เพื่อให้ได้อนุภาคที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้พัฒนาไบโอเซ็นเซอร์ที่มีความไวและความแม่นยำสูงสำหรับการตรวจวินิจฉัยและคัดกรองโรค ช่วยก่อให้เกิดประโยชน์ในกระบวนการเฝ้าระวังและควบคุม เพิ่มความสำเร็จในการรักษา ลดค่าใช้จ่าย และลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนไทยจากโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศได้

        สำหรับเจ้าของผลงานวิจัย“เชื้อเพลิงสะอาดและสารหล่อลื่นชีวภาพ: ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อการพัฒนาปาล์มน้ำมันไทยอย่างยั่งยืน”ที่ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ดร. บุญญาวัณย์ อยู่สุข”   บอกว่า   การจะแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มล้นตลาดอย่างยั่งยืน  จำเป็นต้องส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มภายในประเทศ และสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมการแปรรูปน้ำมันปาล์มให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูง  ซึ่งสารหล่อลื่นชีวภาพเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่น้ำมันปาล์มไทยได้อย่างมาก  งานวิจัยจึงมุ่งคิดค้นกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม วิเคราะห์คุณสมบัติ ศึกษาอิทธิพลของตัวแปรต่างๆ ทดสอบประสิทธิภาพในสภาวะจำลอง ไปจนถึงการนำเอาไปทดสอบภายใต้สภาวะการใช้งานจริง เพื่อทดสอบประสิทธิภาพและเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาให้เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด

        ทั้งนี้งานวิจัยที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอด แบ่งเป็นการพัฒนาไบโอดีเซลคุณภาพสูงจากกระบวนการผลิตด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาของแข็งและชุดทดสอบคุณภาพไบโอดีเซล  และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สารหล่อลื่นชีวภาพ  คือ น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพติดไฟยาก ที่ช่วยป้องกันปัญหาไฟไหม้ที่เกิดจากหม้อแปลงไฟฟ้า  น้ำมันผสมยางชีวภาพปราศจากสารก่อมะเร็ง  และน้ำมันไฮดรอลิกชีวภาพ ที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายและไม่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต

         ผลงานวิจัยเหล่านี้จะช่วยยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้ถูกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรมมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นภายในประเทศ กระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ทางด้านโอลิโอเคมีภัณฑ์ให้เกิดขึ้น สนับสนุนเกษตรกรปาล์มน้ำมัน และเป็นแนวทางในการพัฒนาปาล์มน้ำมันไทยอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม.