“เอนก” เตือนระวังฝนตกหนัก- ห่วง “น้ำแล้ง” ก็มาแน่ ระบุต้องป้องกันน้ำท่วมควบคู่เตรียมแผนกักเก็บน้ำ

News Update

“เอนก” เตือนระวังฝนตกหนัก แต่โอกาสท่วมซ้ำรอยปี 54 มีน้อย ห่วง “น้ำแล้ง” มาแน่ ต้องป้องกันน้ำท่วมควบคู่เตรียมแผนกักเก็บน้ำ ขณะที่ ผอ.สสน.จับตาพายุเข้าไทยปลายเดือน ก.ย.นี้ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคใต้เตรียมรับฝนหนัก พ.ย.นี้

            เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการเสวนา เรื่อง “2564 จะมีน้ำท่วมใหญ่หรือไม่ เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร”   จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานพันธมิตรด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ  โดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ตามที่มีกระแสข่าวมาว่าปีนี้จะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ประเทศไทยจะต้องเจอกับฝนที่มากขึ้น ฝนจะตกชุกหนาแน่นในหลายพื้นที่ ดังนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่ของกองหนุนอย่าง อว. ที่พร้อมนำความรู้ วิชาการต่างๆ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมและเครื่องมือที่จะรับมือมาสื่อสารให้สังคมและชุมชนรับรู้ เข้าใจ และสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อลดผลกระทบและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะประเด็น “น้ำท่วม น้ำแล้ง” ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่เผชิญกันมาบ่อยครั้งและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

            รมว.อว.กล่าวต่อว่า สถานการณ์ช่วงนี้ยังต้องเฝ้าระวังฝนตกหนัก แต่โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมแบบปี 2554 มีน้อย เพราะน้ำในเขื่อนยังน้อย เพียง 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น และปัจจัยจากน้ำทะเลหนุนปีนี้ก็มีไม่มาก จึงเหลือปัจจัยเดียวที่จะต้องเตรียมรับมือคือ น้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่ชุมชนเมืองเท่านั้น แต่ที่น่ากังวลคือ น้ำแล้ง ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้แน่นอน จึงต้องเตรียมการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ขณะที่ป้องกันน้ำท่วมก็ต้องเตรียมกักเก็บน้ำไปด้วย การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ การบริหารจัดการน้ำที่ดีจะป้องกันน้ำท่วม-น้ำแล้ง จึงต้องมีการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง อว.พร้อมทำงานร่วมกับทุกกรม ทุกกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นโครงการเจ้าพระยาเดลต้า 2040 หรือการจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วม ฯลฯ เพื่อเร่งนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 

          ด้าน ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวว่า จากการคาดการณ์ฝนเดือน ก.ย. ถึง ต.ค.นี้ ประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าปกติ และน่าจะมีพายุอย่างน้อย 1 ลูกเคลื่อนที่เข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอ่อนกำลังในภาคเหนือ พื้นที่ฝนตกส่วนใหญ่จะตกในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง และจะตกบริเวณท้ายเขื่อนมากกว่า ทำให้ไม่มีน้ำไหลลงในเขื่อนมากนัก ซึ่งตอนนี้พบสัญญาณว่า จะมีพายุก่อตัว ที่จะเคลื่อนตัวเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงปลายเดือน ก.ย.จะส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลด้วย อาจจะเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ขณะที่ในเดือน พ.ย. ก็คาดว่าจะมีฝนตกมากกว่าค่าปกติในพื้นที่ภาคใต้ อาจมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงและหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้ามายังอ่าวไทยได้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักจนเกิดอุทกภัยได้จึงควรเตรียมพร้อมรับมือ

          ผอ.สสน.กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบ ปริมาณฝนของปี 2554 ปี 2560 และ ปี 2564 พบว่า ปริมาณฝนในปี 2564 นี้ต่างจาก 2 ปี ดังกล่าวมากเกือบทั่วทั้งประเทศ และโดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีฝนในพื้นที่เหนือเขื่อนน้อยมาก ทำให้น้ำไหลลงเขื่อนขณะนี้ น้อยกว่าทั้ง 2 ปีดังกล่าว โดยเฉพาะบริเวณเหนือเขื่อนภูมิพล และเหนือเขื่อนสิริกิติ์ นั้น มีปริมาณฝนตกรวมกัน ไม่ถึง 50 มิลลิเมตร  ซึ่งเดือน ต.ค. จะสิ้นสุดฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนแล้ว ยังต้องการน้ำไหลลงเขื่อนอีกมาก

          ขณะที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต กล่าวว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่แบบปี 2554 มีน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีความเป็นได้ 10-20 เปอร์เซ็นต์ว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ส่วนลุ่มน้ำภาคตันออกเฉียงเหนือมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม 20 – 40 เปอร์เซ็นต์ ลุ่มน้ำตะวันออก มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม 30- 40 เปอร์เซ็นต์ ลุ่มน้ำภาคใต้ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วม 50- 60 เปอร์เซ็นต์