GISTDA สุดปลื้มคว้า “เลิศรัฐ” 2 รางวัลประจำปี 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

News Update

วันนี้ (16 กันยายน 2564) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รับมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานในพิธี และ GISTDA ได้ 2 รางวัลจากรางวัลบริการภาครัฐระดับดี ประเภทนวัตกรรมการบริการ ผลงาน “ระบบชี้จุดไฟป่าเพื่อการลด PM 2.5 ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” และรางวัลบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับดี ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ผลงาน “พัฒนาชุมชนด้วยเทคโนโลยีและกระบวนการมีส่วนร่วมตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ”

.               ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งและครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ GISTDA ได้รับรางวัลประเภทนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา GISTDA ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในการทำงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อตั้งหน่วยงานขึ้นมา รางวัลในครั้งนี้ยิ่งช่วยตอกย้ำได้ว่าผลงานของ GISTDA ได้เป็นที่ประจักษ์ในสังคมสามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างแท้จริง และนำความภาคภูมิใจในส่วนนี้ส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ทุกคนที่มีส่วนในการทำ ทุ่มเทแรงกายแรงใจและมีส่วนในการคิด ให้โครงการนี้ได้ไปต่อ รวมถึงช่วยในการผลักดันให้ทั้ง 2 โครงการประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

.               ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการแรก ระบบชี้จุดไฟป่าฯ เป็นในเรื่องของนวัตกรรมบริการ ประการแรกเลย จะเห็นได้ว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อชุมชน ต่อประเทศและต่อสังคมโดยตรง เพราะสามารถทำให้การบริหารจัดการเรื่องไฟป่าสามารถลดมลภาวะทางอากาศในพื้นที่นั้นๆได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้วยังเป็นการสร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญถึงผลกระทบจากไฟป่า หรือผลกระทบจากการวางแผนการกำจัดพื้นที่ การเผาในพื้นที่โล่งจำพวกนี้ จะได้ช่วยกันแก้ปัญหาในพื้นที่ตรงจุดนั้นให้ได้มากที่สุด การร่วมด้วยช่วยกันจึงเกิดขึ้นในภาคสังคม ภาคประชาชน เกิดการมีส่วนร่วมในการใช้บริการระบบและชี้จุดที่ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศที่เกิดจากไฟป่าได้ ประการที่ 2 จะเป็นการช่วยสังคมในเรื่องของการสร้างองค์ความรู้จากระบบบริหารจัดการ และประการที่ 3 จะเป็นการช่วยภาครัฐในการบริหารจัดการเรื่องไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้น

.               ส่วนโครงการที่ 2 เป็นโครงการที่ทำในเรื่องของการมีส่วนร่วมของสังคม พัฒนาชุมชนด้วยเทคโนโลยีฯ เป็นการสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนได้รู้จักกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง กับภูมิสารสนเทศที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ในเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่ของตนเองรวมไปถึงใช้ในการบริหารจัดการในเรื่องต่างๆ ทั้งในเรื่องของการรู้จัก GPS และเครื่องมือทางด้าน GIS ทั้งหลาย ทำให้คนในชุมชนมีองค์ความรู้และใช้ในการต่อยอดในการประกอบอาชีพได้อีกด้วย จะเห็นได้ว่า ทุกงาน ทุกโครงการที่ GISTDA กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ นอกเหนือจากภารกิจหน้าที่แล้ว ยังมีการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของแต่ละโครงการเพื่อนำมาปรับแก้และประยุกต์ใช้ในเกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังมีการดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CG&CSR ทำงานด้วยจิตอาสาเพื่อสังคมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ นโยบายที่จะเกิดขึ้นในปี 65 และปีต่อๆไป เป้าหมายคือจะต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลระบบที่มีอยู่และใช้ประโยชน์ได้สูงสุดต่อไป ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว