อุทยานวิทย์ภูมิภาคงานรุ่ง รมว.อว.เตรียมขยายอีกหลายพื้นที่

ออนไซต์-ในสนาม

“อเนก”  พอใจผลงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ระบุงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยกำลังไล่กวดต่างชาติที่เคยนำหน้าเราอย่างใกล้ชิด ย้ำเตรียมสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในอีกหลายพื้นที่

                  ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวง อว.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมประชุมหารือเชิงนโยบายร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นและอธิการบดี 5 มหาวิทยาลัยเครือข่าย(มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยอุดรธานี และวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย)

                  ภายหลังเยี่ยมชม รมว.อว.เปิดเผยต่อ InnolifeThailand ว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ ภายใต้กระทรวง อว. มีอยู่หลายแห่งทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค อาทิ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกำลังจะมีเพิ่มเติมคือ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา  และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก

                  ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก ย้ำว่า กระทรวง อว. คิดถึงคนทั้งประเทศแต่ว่าการที่จะให้มีอุทยานวิทยาศาสตร์ครบทุกจังหวัดนั้นคงเป็นไปได้ยาก จึงต้องแบ่งเป็นกลุ่มจังหวัดแทนโดยเลือกมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมที่สุดมาเป็นแม่ข่ายและเป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน และรวบรวมมหาวิทยาลัยบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่นมาเป็นเครือข่าย ซึ่งจะทำให้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับการปฏิบัติเกิดการเชื่อมต่อกันได้

                  “ที่ผ่านมาผลงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคแต่ละแห่งทำได้ดีสามารถผลิตขายในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคืองานด้านเกษตรกรรมที่โดดเด่น โดยเฉพาะงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีความโดดเด่นในหลายด้านทั้งด้านการเกษตร และด้านการแพทย์ มีการนำเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมที่ทันสมัยมาใช้ในการทำแผนที่และใช้ระบบ IoT ซึ่งทำได้ดีมาก” 

                  ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวอีกว่า  ปัจจุบันงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยกำลังไล่กวดต่างชาติที่เคยนำหน้าเราไปอย่างใกล้ชิด มีการนำงานวิจัยไปใช้ในภาคปฏิบัติได้ดี  ซึ่งรัฐบาลก็ให้การสนับสนุนงานทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมากขึ้นด้วย

                  ส่วนคำถามที่ว่าจะมีการแบ่งกลุ่มงานวิจัยตามตามความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาคหรือไม่ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้กำหนด แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเอง  โดยมหาวิทยาลัยจะแสดงศักยภาพออกมาให้เห็นเอง ขณะนี้สถาบันวิจัยต่าง ๆของมหาวิทยาลัยเชี่ยวชาญงานด้าน BCG ทั้งด้านเศรษฐกิจชีวภาพ อาหาร การแพทย์ เครื่องสำอางในภาพรวมอยู่แล้ว แต่ไม่ครอบคลุมทั้งหมด  

                  นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังมีสถาบันและหน่วยงานที่เชี่ยวชาญและเก่งมากทางด้านดาราศาสตร์ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน หรือแม้กระทั่งหน่วยงานอย่างจิสด้า ที่มีโครงการจะทำ Space Port หรือ การท่าอวกาศยาน เพื่อส่งอวกาศยาน จรวด หรือดาวเทียมขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งจะช่วยทำให้งานที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงหล่านี้ไปสู่ภาคปฏิบัติได้มากยิ่งขึ้น.