16 ปี สทน. มุ่งใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ตอบโจทย์ปัญหาสำคัญของประเทศและสอดรับกระแสโลก

Cover Story

สทน.จัดงานครบรอบ16 ปี มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ ตั้งเป้า เป็นสถาบันชั้นนำทางด้านการวิจัย   มีการสร้างนวัตกรรมและบริการ เพืิ่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและก้าวขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอาเซียน

​                เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 ที่ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ  สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จัดงานครบรอบ 16 ปี วันสถาปนาสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ขึ้น  โดย สทน. (Thailand Institute of Nuclear Technology : TINT) ก่อตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา การจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2549   มีภารกิจหลัก นอกเหนือจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์แล้ว ยังให้บริการ เผยแพร่ และการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฺมาประยุกต์ใช้พัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ

                รศ.ดร.ธวัชชัย  อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. เปิดเผยว่า สทน.ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเป็นองค์ประธาน ในงานครบรอบ 16 ปี วันสถาปนาสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ  ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วันดีดี กับเทคโนโลยีนิวเคลียร์” One fine day with nuclear technology (Better solutions for the bright future) และพระราชทานรางวัลให้แก่ผู้ให้การสนับสนุนการใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์ จำนวน  8 รางวัล ได้แก่ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข  ด้านอุตสาหกรรมการผลิต  ด้านอุตสาหกรรมอาหาร  ด้านอุตสาหกรรมอัญมณี  ด้านการเกษตร  ด้านการศึกษา ด้านให้การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่ออนาคต ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และรางวัลผู้มีคุโณปการที่ให้การสนับสนุนสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ

​               ภายในงานดังกล่าว มีการนำเสนอนิทรรศการ ผลงานด้านวิชาการ  การวิจัยและพัฒนาด้านต่างๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศ  ทั้งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ลดการนำเข้า การพัฒนาทางด้านสังคม และการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยนำเสนอในรูปแบบนิทรรศการ 6 ด้าน คือ 1.นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ กับพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ของประเทศ 2.นิทรรศการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในงานโบราณคดี 3. นิทรรศการด้านงานวิศวกรรมของ สทน. เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข 4. นิทรรศการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์  5. นิทรรศการ “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” พลังงานสะอาดแห่งอนาคตเพื่อคนไทย  และ 6. นิทรรศการอาหารพืื้นถิ่นไทย พัฒนาได้ด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์

​                 ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า  16 ปีที่ผ่านมา สทน.มีการดำเนินการด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะผลักดัน สทน.ให้เป็นหน่วยงานที่มีความแข็งแกร่งในการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ  ซึ่งในปี พ.ศ.2564-2567  ทาง สทน. ได้มีวิสัยทัศน์ว่า  จะเป็นสถาบันชั้นนำทางด้านการวิจัย   มีการสร้างนวัตกรรมและบริการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ไปประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ  เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ  และขับเคลื่อนให้ สทน.ก้าวขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอาเซียน

​               ทั้งนี้ได้มีการกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ สทน. 4 ปี ( พ.ศ. 2564 – 2567) เพื่อขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ คือ กลยุทธ์ที่ 1 การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และการยกระดับสังคมเชิงบูรณาการ โดยมีเป้าหมาย ส่งเสริมและขยายการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อแก้ปัญหา และตอบสนองความต้องการในทุกภาคส่วน โดยการบูรณาการกับเครือข่ายที่มีศักยภาพ 

​               กลยุทธ์ที่ 2 การวิจัยและการพัฒนาเชิงบูรณาการกับเครือข่ายที่มีศักยภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์โดยอาศัยความร่วมมือ และมุ่งสู่การนำไปใช้ประโยชน์แบบบูรณาการกับเครือข่ายที่มีศักยภาพ และการพึ่งพาตนเองในอนาคต      

​               กลยุทธ์ที่ 3 เป็นผู้นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอาเซียน เป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำ ทางวิชาการ และเป็นที่ยอมรับ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอาเซียน

​               และกลยุทธ์ที่ 4 การพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน เป้าหมายเพื่อพัฒนาการทำงานและสร้างความสามารถในการแข่งขันขององค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนรักษาและพัฒนาสมรรถนะขององค์กรด้วยบุคลากรคุณภาพสูง

​               โดยจะมีการดำเนินงานผ่านกิจกรรมสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ข้างต้น ดังนี้

​                1. โครงการพัฒนาอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี เพื่อสร้างนวัตกรรมการฉายรังสี สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้านไทย ยกระดับสินค้าเพื่อให้สะอาด ปลอดภัยและมีมาตรฐาน สามารถเป็นช่องทาง การจัดจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการได้

​                2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเครื่องมือทางนิวเคลียร์ โดยเครื่องไซโคลตรอน เพื่อการพัฒนาทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ทางรังสี ลดการนำเข้าเภสัชรังสี ได้ปีละราว 800 ล้านบาท การพัฒนาเครื่องโทคาแมค (Tokamak) เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันและพลาสมา การพัฒนาเครื่องเอกซเรย์ในอุตสาหกรรมเพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

​                3. การพัฒนาการให้บริการ และขยายการบริการสู่ตลาดต่างประเทศ โดยการตรวจสอบหอกลั่นใต้น้ำ เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การผลิตและจำหน่ายเภสัชรังสีให้กับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว พม่า กัมพูชา

​                4. การเป็นผู้นำทางวิชาการและในระดับนานาชาติ ผ่านโครงการ TINT2U การสนับสนุนทุนวิจัยให้กับนักวิจัยจากหน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่างๆที่ร่วมทำวิจัยกับ สทน. รวมทั้งร่วมผลิตผลงานวิจัยกับผู้ใช้ประโยชน์จริง เช่น โครงการพัฒนาระบบการฉายรังสีน้ำยาง การฉายรังสีน้ำยางธรรมชาติที่ผสมกับสารเคมี เพื่อให้มีการจับตัวกันของพอลิเมอร์เป็นแผ่นยาง การปรับปรุงพันธ์กัญชง กัญชาเพื่อการพัฒนาทางการแพทย์

​               5. โครงการสำคัญที่จะสนับสนุนให้ผู้ใช้ประโยชน์ เกิดความสะดวกสบายในการเข้าถึงบริการ และสร้างความเข้าใจด้านนิวเคลียร์ ทั้ง Digital Transformation การสื่อสารครบวงจรเพื่อการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์

​               อย่างไรก็ดี ภายในงานดังกล่าว ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านพลาสมา และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน รวม 24 หน่วยงาน คือ สทน.  สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยบูรพา  มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันแทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

​               บันทึกความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายรวม 24 หน่วยงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยและพัฒนาพลาสมา เทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันและห้องปฏิบัติการขั้นสูงรวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากรเพื่อรองรับเทคโนโลยีด้านพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน

​               การจัดตั้งเครือข่ายการวิจัยนี้จะเป็นกลไกการทํางานร่วมกันและใช้ทรัพยากรด้านการวิจัยและพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันจะเพิ่มขีดความสามารถของการศึกษาและวิจัยทางด้านพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันของประเทศ และนําไปสู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาด้านพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันในอาเซียนภายใน 5 ปีข้างหน้า  (พ.ศ.2570)