“หน้าที่ของผมคือการทำเครื่องบิน ให้บินขึ้นท้องฟ้าและพาผู้โดยสารนั่งบนเครื่องบินได้อย่างมั่นคง”

Cover Story

                 “กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ตั้งมาแล้วกว่า 1 ปี เปรียบเสมือนเครื่องบินที่กำลังเชิดหัวขึ้น หน้าที่ของผมคือการทำเครื่องบิน ให้บินขึ้นท้องฟ้าและพาผู้โดยสารนั่งบนเครื่องบินได้อย่างมั่นคง”

                 นี่คือประโยคแรกของการสนทนากับ “ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล” ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่เปรียบว่าตัวเองคือกัปตันที่จะนำพาเครื่องบินที่ชื่อ อว.ให้ทะยานขึ้นท้องฟ้าได้อย่างมั่นคง มั่นใจ

                ศ.นพ.สิริฤกษ์ บอกว่า หน้าที่ในฐานะ ปลัด อว. คือ การขับเคลื่อนงานอุดมศึกษากับวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม รวมทั้งงานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ให้สมดุลกัน และการทำหน้าที่ระหว่างความเป็นอุดมศึกษา กับ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  ไม่ใช่แค่ทำให้หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง แต่ต้องมากกว่า เช่น 1 + 1 เท่ากับ 10 เป็นต้น เพื่อให้เกิดพลังในเชิงบวกหรือสร้างสรรค์

                ขณะเดียวกันต้อง “สร้างคน” เพื่อให้ “คน” ไปสร้าง “องค์ความรู้” และ “ให้องค์ความรู้” ไปสร้างคนให้กับประเทศ

                ทั้งนี้การทำงานในฐานะ ปลัด อว. นั้น ศ.นพ.สิริฤกษ์ วางไว้ใน 3 ภารกิจ

                ภารกิจแรก คือ โครงการที่จะหลอมรวมให้แต่ละหน่วยงานทำงานร่วมกันผ่านการเชื่อมโยงทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเชื่อมโยงในระดับการบริหารจัดการ ระดับของโครงการ หรือแม้กระทั่งระดับหน่วยงาน ซึ่งจะมีโครงการเกิดขึ้นจำนวนมากเพื่อที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้

                ภารกิจระยะยาว และระยะกลาง คือ การสร้างคน การสร้างการวิจัยและนวัตกรรม และการวางโครงสร้างพื้นฐาน

                และภารกิจ ที่จะเร่งทำก่อน คือ ภารกิจเฉพาะหน้า ซึ่งจำเป็นจะต้องขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่จะต้องมีการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการสถานการณ์เร่งด่วนที่กำลังท้าทายประเทศ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากไทยอยู่ในสถานการณ์นี้ตั้งแต่ช่วงต้นปี ก็ยังต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง   เพราะรอบๆ ประเทศยังมีความเสี่ยงสูง  แต่ทั้งนี้ประเทศไทยมีการบริหารจัดการที่ดี แต่จะต้องมีการรักษาสมดุล ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และด้านการแพทย์

                รวมทั้งการตอบสนองนโยบายของ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.  ให้บรรลุผล โดยงานที่จะเกิดเป็นรูปธรรมในระยะแรกคือโครงการ อว.สร้างงานหรือโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างงานและเพิ่มทักษะให้กับบัณฑิตที่จบไปแล้วและกำลังจะจบการศึกษา จำนวน 6 หมื่นคน ลงไปทำงานใน 3,000 พื้นที่เป้าหมาย ทำงาน 1 ปี ซึ่งผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา

                “โครงการ อว.จ้างงาน เราจะมีการเพิ่มเติมทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อไปในอนาคต (Newskill) พร้อมทั้งรีสกิล และอัพสกิล ผ่านหลักสูตรต่างๆ ที่จะมีการปรับทักษะเหล่านี้ให้พร้อมรับมือกับงานใหม่ในตลาด ซึ่งกระบวนการนี้ก็จะผ่านโครงการสำคัญของกระทรวง ทั้ง  โครงการควิกวิน (Quickwin) เช่น โครงการจ้างงาน , โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งมหาวิทยาลัย , โครงการมองไปในอนาคต ,โครงการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ  โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาบัณฑิต เยาวชนให้มีเกราะที่แข็งแกร่งและพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป”

                “และสิ่งสำคัญที่ ศ.ดร.เอนก ได้มอบหมายให้ดำเนินคือ โครงการสร้างเครือข่ายประชาชนวิจัยและเยาวชนวิจัยให้เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด – 19 พบว่างานวิจัยที่ออกมาเป็นหลัก ไม่ใช่มาจากนักวิจัย แต่มาจากภาคประชาชน  โดยเฉพาะในช่วงเกิดสถานการณ์โควิด – 19 เช่น การทำวิจัยเรื่องของหน้ากากอนามัย เรื่องของเครื่องปรับอากาศเพื่อปลอดเชื้อ เป็นต้น ดังนั้น โครงการประชาชนวิจัย จึงเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้การทำวิจัยถูกจำกัดวงเฉพาะนักวิจัยในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัย โดยจะมีการสร้างเป็นเครือข่ายประชาชนวิจัยขึ้นมา เช่นเดียวกันโครงการเยาวชนวิจัย ที่ต่อไปนี้ การทำวิจัยไม่ต้องรอทำ ในระดับปริญญาโทหรือเอกเท่านั้น แต่ให้เริ่มตั้งแต่ระดับประถม มัธยมศึกษาหรือปริญญาตรี ให้ทำงานวิจัยเสนอเข้ามา ถ้าผลงานดี อว.พร้อมจะสนับสนุนเพื่อสร้างประเทศด้วยงานวิจัย ขณะนี้ อว.จะเริ่มโครงการประชาชนวิจัยใน 10 พื้นที่ 10 โครงการวิจัยในเดือน พ.ย.นี้” 

                นอกจากนั้น ศ.นพ.สิริฤกษ์ ยังระบุด้วยว่า ในช่วง 2-3 ปี จากนี้ อว.จะเข้าสู่ยุคใหม่ ที่การทำงานจะต้องกระชับ รวดเร็วเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยของเทคโนโลยีและนวัตกรรม  ดังนั้น อว.จะเริ่มกระบวนการปลดล็อกอุปสรรค ที่ทำให้การดำเนินการล่าช้า เพื่อให้มีความคล่องตัวขึ้น อาทิ ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร ข้อมูลบิ๊กดาต้า รวมทั้งให้ อว.เป็นหัวหอกองค์การที่มีกระบวนการจัดการองค์กรยุคใหม่โดยไร้กระดาษ  รวมทั้งจะเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่ทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาตินอกเหนือจากการทำวิชาการอย่างเดียวเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ เช่น ศาสตราจารย์ปฏิบัติการ ศาสตราจารย์ที่มุ่งเน้นการวิจัย หรืออาจารย์ที่มีความโดดเด่นในด้านการปฏิบัติต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการทำงานให้เกิดประโยชน์ของประเทศและนับเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

                “การปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ เพื่อสร้างกระทรวงให้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว.