ทีมจากมงฟอร์ตวิทยาลัย คว้าชนะเลิศSpace Youth Challenge 2022

News Update

ทีมเอ็มวีพีเจเอ อีโวทู จากมงฟอร์ตวิทยาลัย คว้าชนะเลิศและความคิดสร้างสรรค์ดีเด่น Space Youth Challenge 2022

           ทีม MVPJA EVO. II โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม จังหวัดเชียงใหม่ คว้ารางวัลชนะเลิศและรางวัลความคิดสร้างสรรค์ดีเด่น ในการแข่งขันออกแบบโครงการสำรวจอวกาศระดับเยาวชน Space Youth Challenge 2022 จากผลงานที่มีชื่อว่า “PROMETHEUS” ที่มีความโดดเด่น นอกจากจะเป็นยานที่สามารถนำมนุษย์ไปยังดาวดวงอื่นแล้ว ยังได้คิดวางแผนถึงการไปตั้งรกรากระยะยาวบนดาวเคราะห์ดวงอื่น ผ่านการวางแผนอย่างมีระบบ มีชิ้นส่วนมากมายประกอบขึ้นเป็นสถานีอวกาศสำหรับการเดินทางระยะยาวในห้วงอวกาศ ตั้งแต่ส่วนที่หมุนเพื่อสร้างแรงโน้มถ่วงจำลอง ส่วนของเรือดำน้ำที่สามารถสำรวจใต้มหาสมุทรของดาวเคราะห์ ส่วนของยาน SSTO ที่สามารถพานักบินขึ้นลงจากพื้นผิวของดาวกลับไปยังวงโคจรได้โดยประหยัดเชื้อเพลิง เครือข่ายดาวเทียมกระจายสัญญาณที่สามารถติดต่อกับพื้นโลกได้ รวมไปถึงส่วนขุดเจาะสำรวจที่สามารถนำทรัพยากรที่พบบนดาวมาใช้ในภารกิจได้อีกด้วย

           ดร. วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ   (องค์การมหาชน)  หรือสดร. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังพัฒนาการวิจัยด้านเทคโนโลยีอวกาศ ภายใต้โครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย เป้าหมายแรก คือการส่งยานอวกาศไร้คนขับไปโคจรรอบดวงจันทร์ แม้ดวงจันทร์จะเป็นเป้าหมายของภารกิจนี้ แต่สิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นมากที่สุด  คือการพัฒนากำลังคน พัฒนาเทคโนโลยี และพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรมอวกาศเพื่อให้ไทยเทียบเท่าระดับสากล

           การแข่งขันออกแบบโครงการสำรวจอวกาศระดับเยาวชน “Space Youth Challenge 2022 : ยอดเยาวชน คนอวกาศ” ประจำปี 2565 จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 หลังจากในปีแรก มีเหล่าเกมเมอร์สนใจเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวในวงกว้าง เยาวชนที่เข้าร่วมแข่งขัน นอกจากจะได้เรียนรู้หลักทางฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจอวกาศที่เสมือนจริงแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ใกล้เคียงกับความท้าทายในการสำรวจอวกาศจริง คือ การวางแผนและการทำงานเป็นทีม สร้างประสบการณ์แก่นักเรียนที่จะสร้างสรรค์ กระบวนการคิดและจินตนาการเสมือนกับนักวิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติการจริงๆ และทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะอยู่ติดตัวนักเรียนไปตลอด และไม่ว่าจะเป็นโครงการอวกาศใหญ่แค่ไหนก็ไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้หากปราศจากสิ่งเหล่านี้ โครงการนี้ถือเป็นตัวช่วยผลักดันในเราได้ก้าวไปสู่การสร้างกำลังคนด้านการวิจัยอวกาศ สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นกับเด็กรุ่นใหม่ เยาวชนของชาติอย่างสร้างสรรค์ต่อไป

           ดร. วิภู กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้เรายังได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากบริษัท Private Division บริษัท ผู้จัดจำหน่ายเกม Kerbal Space Program เกมแนว space simulator ที่นำมาใช้ในการแข่งขันในครั้งนี้ รวมถึงของรางวัลพิเศษ จากบริษัท เอ็นบีสเปซ จำกัด บริษัทสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจด้านอวกาศของไทย มอบสิทธิ์ สำหรับทีมชนะเลิศ จะสลักชื่อทุกคนในทีมที่ชนะเลิศ ลงบนแผ่นอะลูมิเนียมแล้วส่งขึ้นสู่อวกาศไปกับดาวเทียมแน็คแซ็ท 2 (KNACKSAT-2) ด้วย ต้องขอขอบคุณผู้สนับสนุนทุกฝ่ายที่เห็นความสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจ ให้เยาวชนในครั้งนี้

            หนึ่งในทีมผู้เข้าแข่งขัน กล่าวว่า “เป็นการทำงานที่ได้ใช้ทักษะหลายๆ อย่าง และได้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น บางคนอาจจะมีความถนัดที่แตกต่างกัน ก็ช่วยกันได้ในสิ่งที่แต่ละคนถนัด โดยรวมก็คือค่อนข้างประทับใจ เพราะโปรเจคนี้เป็นมากกว่าการแค่เล่นเกม ถึงแม้จะสะบักสะบอมกันไปบ้าง ได้เริ่มต้นก้าวเท้าสู่ประตูบานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ย่อมดีกว่าการย่ำเท้าอยู่ที่เดิม” ในขณะที่ครูที่ปรึกษาได้ให้ความเห็นว่าเป็นการแข่งขันที่ช่วยเชื่อมโยงให้นักเรียนได้เห็นประโยชน์และการนำไปใช้ของความรู้ต่างๆ ที่ได้เรียนในห้องเรียน ผนวกกับเป็นทักษะที่ต้องใช้ศาสตร์ในหลายๆ แขนง ในสาขาต่างๆ ของวิทยาศาสตร์มารวมเข้าไว้ด้วยกัน

           สำหรับการแข่งขันออกแบบโครงการสำรวจอวกาศระดับเยาวชน “Space Youth Challenge 2022 : ยอดเยาวชน คนอวกาศ” ประจำปี 2565 มีทีมส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขัน 35 ทีม จากทั่วประเทศ คณะกรรมการได้คัดเลือก จำนวน 10 ทีม เพื่อผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ผลการแข่งขันทั้งหมด เป็นดังนี้

           รางวัลชนะเลิศ ได้รับทุนการศึกษา 25,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ ทีม MVPJA EVO. II โรงเรียน มงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 5 คน ได้แก่ นางสาวสุรภี วาสนาพิตรานนท์ นายวสุธันย์ วิศรุตมัย นายปีเทอร์ โรรอฟ นางสาวภานุมาส นาคะเสถียร และนายกิตติภูมิฐ์ กรจิระเกษมศานติ์           

           รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับทุนการศึกษา  20,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ทีม CUD SPACE FORCE โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม กรุงเทพฯ

           และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับทุนการศึกษา  15,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ทีม Denee โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จังหวัดนนทบุรี

           ส่วนรางวัลชมเชย จำนวน 7 ทีม ได้รับทุนการศึกษาทีมละ  5,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร  ได้แก่

–           ทีม KWS-1 a โรงเรียนแกลง”วิทยสถาวร” จังหวัดระยอง

–           ทีม Nordtern โรงเรียนชลประทานวิทยา จังหวัดนนทบุรี

–           ทีม Peace Space โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา

–           ทีม Project MOSSCo โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม

–           ทีม SpaceBar สลาตัน โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม

–           ทีม Springfield Industries โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพฯ

–           ทีม TEAMNEECHUEPHASAHTHAI โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย

           สำหรับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ ได้รับทุนการศึกษา  5,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร  ได้แก่ทีม MVPJA EVO.II โรงเรียน มงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม จังหวัดเชียงใหม่

           และรางวัลการนำเสนอโดดเด่น ได้รับทุนการศึกษา  5,000 บาท  พร้อมเกียรติบัตร  ได้แก่ทีม Denee โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จังหวัดนนทบุรี