ผลงานอุทยานวิทย์ภาคใต้คว้ารองชนะเลิศอันดับ2 จาก IASP World Conference 2022

News Update

อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคใต้ อว.  คว้ารองชนะเลิศอันดับ 2 จากงานประชุมวิชาการอุทยานวิทยาศาสตร์นานาชาติ IASP World Conference 2022   จากผลงาน “การผสานธุรกิจกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”  ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแปรรูปผลิตภัณฑ์เห็ดแครง เพิ่มมูลค่าให้พืชพื้นถิ่น   

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565  นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กปว.ได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการอุทยานวิทยาศาสตร์นานาชาติ IASP World Conference 2022 ครั้งที่ 39 ในหัวข้อ “Green and digital change powered by innovation” ซึ่งจัดโดย International Association of Science Parks and Area of Innovation หรือ IASP ที่เมือง Seville ประเทศสเปน ปรากฏว่า  “การผสานธุรกิจกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”  (Harmonizing  Business with Science and Technology)  ผลงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคใต้ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2  จากเวที Inspiring solution award 2022 ซึ่งเป็นเวทีของการค้นหาแนวคิดหรือผลงานที่ช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาสังคม  

 นางวนิดา บุญนาคค้า

สำหรับผลงาน “การผสานธุรกิจกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจในท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกระดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ทำธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์เห็ดแครง ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นที่มีโปรตีนสูง และมีการใช้นวัตกรรมในการแปรรูปทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เป็นกรณีตัวอย่างเล่าเรื่องและเป็นต้นแบบ คาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า โปรแกรมนี้น่าจะช่วยสร้างรายได้ได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท  และจะช่วยสร้างงานได้ไม่น้อยกว่า 1,000 คน ผลงานนี้จึงเป็นการหยิบยกประเด็นการพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่นสู่การเป็น Food Tech Startup โดยการส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมด้วยกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการและเป็นแนวทางในการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นธุรกิจนวัตกรรมได้

นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าว อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ทั้ง 4 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคเหนือ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคใต้ ได้รับการรับรองเป็นสมาชิก IASP และเปิดตัวอย่างเป็นทางการ   โดยปัจจุบัน IASP มีสมาชิก 350 ราย ใน 77 ประเทศ มีบริษัทหรือองค์กรวิจัยในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ที่เป็นสมาชิก มากกว่า 115,000 บริษัททั่วโลก