ลุ้นนายกฯ นั่งประธานบอร์ดสภานโยบายการอุดมศึกษาฯ

News Update

“หมอสุทธิพร”  ชี้สิ่งที่คนวิจัยต้องการ หากนายกฯ เห็นความสำคัญของงานวิจัยต้องนั่งประธานบอร์ดสภานโยบายการอุดมศึกษาฯ ด้วยตัวเอง เพื่อให้งานวิจัยเป็นอันหนึ่่งอันเดียวกัน

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ภายในงาน “วันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี” ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  จัดขึ้น โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  บรรยายปาฐกถาพิเศษเรื่อง “วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม : อดีต ปัจจุบัน อนาคต”

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร กล่าวว่า  นับจากวันก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน วช.  ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเป็นหน่วยงานด้านนโยบายในการจัดกรอบวงเงินการติดตามเพื่อให้มีการนำผลงานวิจัยนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์จนถึงปัจจุบันระบบการวิจัยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก และส่งผลให้เกิดงานวิจัยในหลายด้าน อย่างเช่น ด้านการเกษตรที่ช่วยเพิ่มผลผลิต จนสามารถส่งออกสินค้าเกษตรได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก  แต่ผลตอบแทนที่ได้มากลับยังไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ส่งสินค้าเข้ามาขายในประเทศไทย  ดังนั้นหากเราต้องการเพิ่มมูลค่าของสินค้า จำเป็นต้องมีการวางแผน ดำเนินการความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ  คือ  1. ต้องร่วมมือร่วมใจกันมากขึ้นตั้งแต่ระดับของนักวิจัย เพราะการแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความรู้จากศาสตร์หลายแขนง  จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากนักวิจัยต่างสถาบัน  ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานข้ามสถาบันเป็นไปได้ยาก เพราะยังมีระบบแบ่งแยกในการประเมินผลงานของสถาบันการศึกษา  จึงต้องทำลายกำแพงเหล่านี้

 2 .  หน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานวิจัย จะขึ้นตรงกับสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสภาฯ  แต่ปัจจุบันรองนายกฯ เป็นผู้รับหน้าที่  ขอฝากไปถึงนายกคนต่อไป  หรือคนเดิม แต่เป็นรุ่นต่อไปว่า ถ้าเห็นความสำคัญของงานวิจัย นายกฯ ต้องลงมากำกับเอง เพราะนี่คือสิ่งที่คนวิจัย ต้องการ  และทุกรัฐมนตรี  ทุกประธานบอร์ดที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านการวิจัย ต้องก็มาอยู่ที่เดียวกัน  เพราะฉะนั้นเป้าหมายหรือนโยบายที่เราอยากได้จากงานวิจัยก็จะเป็นอันหนึ่่งอันเดียวกัน

 3. การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ให้ทุน หรือ Funding Agency เพราะเมื่อถึงเวลาจะนำผลงานการวิจัยไปถ่ายทอดจะมีเรื่องของความเป็นเจ้าของเกิดขึ้น  การจะนำไปถ่ายทอดได้จำเป็นจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของกฎหมาย ซึ่งได้มีการแก้ไขไปเรียบร้อยแล้ว  4.  การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา คือ ให้ทรัพย์สินทางปัญญาตกเป็นทรัพย์สินของผู้วิจัย ส่วนการนำไปใช้ประโยชน์ก็จะมีกระบวนการทำงานแตกต่างกันไปขึ้นกับว่าจะนำไปใช้ประโยชน์เพื่อประชาสังคม  หรือนำไปผลิตเป็นสินค้าหรือบริการ ซึ่งเป็นเรื่องของภาคเอกชนและภาคการผลิต  เรื่องในลักษณะนี้ก็ต้องค่อยทำงานร่วมกันไปเรื่อยๆ

 และ 5.จุดที่ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หมายถึงทั้งหน่วยภาคทางด้านอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมทั้งภาคเอกชน ในเชิงที่เป็นประชาสังคม ภาคชุมชนด้วย นี่คือสิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นและเกิดการยอมรับมากขึ้น เพราะที่จริงแล้วเอกชนก็สามารถใช้เงินภาครัฐได้ นี่คือสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง และเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ  จึงต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาระเบียบการใช้จ่ายเงินของภาครัฐให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยปรับเป็นกองทุนเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในเรื่องการใช้เงิน

 ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร กล่าวต่อว่า  ถ้าทำให้เกิดผลที่ดีแต่ใช้วิธีการทำงานแบบเดิมก็คงไม่เกิดประโยชน์  สิ่งที่ต้องการให้นักวิจัย นักวิชาการ หรือนักบริหารงานวิจัยเปลี่ยนแปลง คือเรื่องของความเชื่อ  จะต้องเชื่อว่า ความรู้สร้างทรัพย์สินได้   ต้องเชื่อว่าคนไทยนั้นก็สร้างได้ และต้องเชื่อในงานของคนไทย ต้องทำให้คนเชื่อได้ว่า เวลาทำวิจัยต้องให้ได้มาตรฐาน และถูกควบคุมด้วยกฏ ระเบียบ ที่ได้มาตรฐานที่เป็นสากล   นอกเหนือจากแวดวงของการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ คนทำงาน หาวิธีสร้างแรงจูงใจเพิ่มมากขึ้น นั่นคือความก้าวหน้าในชีวิตการทำงานของนักวิจัย เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะขับเคลื่อนต่อไปซึ่งนอกเหนือจากแวดวงวิจัย  ก็คือวงการของอาชีพการทำงานของนักวิจัย เริ่มตั้งแต่สายอาจารย์ที่บอกว่าการทำงานวิจัยในปลายทางเพื่อให้ได้ผลผลิตมา แต่ไม่ถูกนับเป็นผลผลิต ก็นับแต่เรื่องของ Paper Public relations คือการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ ก็พยายามปรับให้ตรงกับความต้องการ เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ประเทศชาติ