“มีความรู้ก็อยู่รอด” เอไอเอสชวนคนไทยหยุดเสี่ยงกับทุกภัยไซเบอร์

Cover Story

           ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันภัยไซเบอร์ในทุกรูปแบบอยู่ใกล้ตัว และก่อความเสียหายให้กับคนทุกเพศทุกวัยมากขึ้น   

           ตัวเลขจำนวนคดีออนไลน์ จากศูนย์บริการการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นคดีสะสมตั้งแต่ 1 มีนาคม  –  29 ตุลาคม 2565  มีสูงถึง 113,461 คดี จาก 19 ประเภทคดีออนไล์  มูลค่าความเสียหายถึง 21,900 ล้านบาท

           ในงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญใหม่อุ่นใจไซเบอร์ “ทำไมต้องรู้ก่อนตาย” ซึ่งเอไอเอสจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้  “ พล.ต.ต.นิเวศน์  อาภาวศิน”  รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  เปิดเผยถึง 5 อันดับกลโกงภัยออนไลน์ใกล้ตัวแห่งปี 2565 พร้อมวิธีป้องกันตัวแบบง่าย ๆ   โดยอันดับแรก คือ การหลอกขายออนไลน์    ซึ่งควรที่จะเลือกซื้อจากเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียง น่าเชื่อถือ และก่อนโอนเงินทุกกรณีให้ระบุตัวตนปลายทาง โดยขอเบอร์โทรศัพท์แล้วโทรไปคุยด้วยเสมอรวมถึงบันทึกเสียงไว้เป็นหลักฐาน

พล.ต.ต.นิเวศน์  อาภาวศิน

           อันดับที่สองคือ หลอกให้กลัวแล้วโอนเงิน  ควรตัดสายหากเป็นเสียงบันทึกเทปในทุกกรณี หาก สายโทรศัพท์เรียกเข้าอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ให้ขอชื่อและเบอร์โทรเพื่อติดต่อกลับ ห้ามติดต่อผ่านไลน์เด็ดขาด

           อันดับสามคือ หลอกให้ทำงาน / กู้เงิน   พล.ต.ต.นิเวศน์  เตือนว่าอย่าหลงเชื่ออุบายคนร้ายที่มักจะใช้ปลาเล็กล่อปลาใหญ่ หลอกให้โอนเงินโดยได้รับผลตอบแทนจริงในช่วงแรกเท่านั้น  ทั้งนี้หากเป็นบริษัทจริงจะต้องสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามได้

           อันดับสี่คือ หลอกติดตั้งแอปดูดเงิน/ขโมยรหัสผ่าน   ผู้ใช้ต้องติดตั้งแอปจากกูเกิลเพลย์เท่านั้น ห้ามกดลิงค์ที่ส่งมาจากผู้ที่เพิ่งรู้จักในโลกออนไลน์  ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์ให้ถูกต้องก่อนที่จะใส่ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่าน  รวมถึงหลีกเลี่ยงการเข้าใช้งานด้วยการใส่รหัสผ่านแบบ Single Sign On

           และอันดับที่ห้า คือ หลอกให้รักแล้วลงทุน  ซึ่งห้ามลงทุนตามคำชักชวนของผู้ที่รู้จักผ่านทางออนไลน์ คนร้ายมักปลอมโปรไฟล์และแอบอ้างโดยใช้รูปภาพของบุคคลที่มีชื่อเสียงและคนร้ายมักจะหลีกเลี่ยงไม่คุยผ่านวิดิโอคอล

            ข้อมูลจากศูนย์บริการการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ยังระบุอีกว่า จากจำนวนคดีออนไลน์ในช่วงเวลาประมาณ  8 เดือนที่กล่าวข้างต้น  ประเภทคดีออนไลน์ที่มีจำนวนมากสุดคือ การซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า 30.56 % รองลงมาคือ หลอกให้ทำงานออนไลน์ 13.37%และหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 11.82%   ส่วนการหลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ มีประมาณ  10.36%  แต่เป็นประเภทคดีที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุด

           พล.ต.ต.นิเวศน์  ย้ำว่า ตอนนี้สังคมไทยควรที่จะต้องรู้ในสองเรื่องหลัก คือ เรื่องเงิน ที่โดนหลอกลวงมากที่สุด มูลค่าความเสียหายด้านการเงินมากถึงประมาณ 90 %ของคดีออนไลน์ และเรื่องทางเพศ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามที่ค่อนข้างอันตรายมากในประเทศไทย เพราะเด็กวัยรุ่นโดนล่อลวงแบบนี้เยอะมาก พ่อแม่ผู้ปกครองอย่าคิดว่าลูกหลานตัวเองอยู่ในห้องกับโทรศัพท์มือถือแล้วจะมีความปลอดภัย จริง ๆ แล้วอันตรายมาก  ซึ่ง เรื่องของทางเพศ ต้องให้ความรู้บุตรหลานและพยายามกำจัดช่องหรือโอกาสในการใช้เทคโนโลยีในพื้นที่ส่วนตัว  เพราะหากภาพส่วนตัวของเด็กหลุดออกไปในโลกอินเทอร์เน็ต จะแพร่กระจายได้เร็วพอๆ กับไวรัส   เอากลับคืนมาได้ยาก  

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์

           สำหรับสถานการณ์ภาพรวมด้านสุขภาพจิตของคนไทยโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้งานสื่อออนไลน์ที่ส่งผลต่อสุขภาวะดิจิทัล   “แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์” อธิบดีกรมสุขภาพจิต  บอกว่า “ การอยู่รอดและมีสุขภาพดี หมายรวมถึงการมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ซึ่งวันนี้ยังมีคนไทยและเยาวชนมากมาย ที่เจอปัญหาภัยไซเบอร์และไม่สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม กรมสุขภาพจิต จึงมุ่งสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจถึงทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะ Digital Literacy พร้อมๆ กับการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการตระหนักรู้  เพราะวันนี้คิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องมาร่วมกันหยุดปัญหานี้เพื่อลดความสูญเสียทั้งต่อจิตใจ ชีวิต และทรัพย์สิน ด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้ที่จะอยู่รอดได้อย่างดีในโลกยุคดิจิทัลปัจจุบัน ก่อนที่จะแก้ไขไม่ทัน”

           จากสถานการณ์กลโกงภัยออนไลน์ใกล้ตัวที่เกิดขึ้น   เอไอเอสได้เปิดตัวแคมเปญสื่อสาร พร้อมหนังโฆษณาชุดใหม่ล่าสุดภายใต้แนวคิด “มีความรู้ก็อยู่รอด” ตอกย้ำภารกิจเพื่อนคู่คิดดิจิทัล  เพื่อคนไทยทุกเจนเนอเรชัน ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลอันดับ 1 ของไทยที่พร้อมเป็นกลไกช่วยผลักดันและส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการยกระดับสังคมการใช้งานดิจิทัลให้มีความปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมุ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาจากภัยไซเบอร์ทุกรูปแบบ  ที่กลายเป็นปัญหาร้ายแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย

           และสิ่งเดียวที่จะทำให้จะเอาชนะภัยไซเบอร์ได้ก็คือ “ความรู้”

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม

           นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์  เอไอเอส  บอกว่า “ภารกิจของ AIS อุ่นใจไซเบอร์ คือ การเดินหน้าทำงานเพื่อความยั่งยืนเพื่อสร้างทักษะดิจิทัล ใน 2 มิติ คือ 1.นำเทคโนโลยีมาพัฒนาในรูปแบบของบริการดิจิทัลที่ช่วยป้องกันภัยไซเบอร์ และ 2.สร้างภูมิปัญญา องค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์”

           ล่าสุดเอไอเอสได้เปิดตัวหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ “อุ่นใจไซเบอร์”  ที่เป็นการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐทั้งและเอกชน ยกระดับการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล เพื่อปกป้องภัยไซเบอร์ สร้างภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลยุคใหม่ตั้งแต่เด็กและเยาวชนไปจนถึงคนทั่วไป อันจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือป้องกันภัยร้ายจากโลกไซเบอร์  

           “การทำงานอย่างต่อเนื่องทำให้เรามองเห็นถึงปัญหาที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น สร้างผลกระทบต่อสังคม และในบางกรณีตามมาถึงขั้นสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน การปกป้องสร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องนี้ให้กับคนไทย จึงถือเป็นวาระเร่งด่วน และเป็นที่มาของการเปิดตัวแคมเปญการสื่อสารภายใต้แนวคิด “มีความรู้ก็อยู่รอด” เพราะเชื่อว่าสิ่งที่จะทำให้เราสู้กับทุกภัยไซเบอร์ได้คือ การมีความรู้ ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำภารกิจและความมุ่งมั่นตั้งใจของเอไอเอส ในการนำองค์ความรู้มาส่งต่อให้กับคนไทยได้ใช้เป็นอาวุธเพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบ”

           ติดตามแคมเปญ “มีความรู้ก็อยู่รอด” ได้ที่ Facebook: AIS Sustainability และรับชมหนังโฆษณาชุดใหม่ล่าสุดได้ที่  https://m.ais.co.th/rxHnoozSJ