รัฐบาลเดินหน้าแผนพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ “AI THAILAND”

News Update

นายกฯ สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565–2570) สู่การปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ของประเทศให้เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน เป็นรูปธรรม และยั่งยืน  

           วันนี้(8 ธันวาคม 2565) ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) ครั้งที่ 1/ 2565 โดยที่ประชุมได้ร่วมหารือถึงแนวทางการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565–2570)  ให้สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ของแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ที่มุ่งขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเกิดระบบนิเวศที่ครบถ้วน และเชื่อมโยงแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการพัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในปี พ.ศ. 2570 โดยมีเป้าประสงค์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ สร้างคนและเทคโนโลยี สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

           นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังที่ประชุมว่า ที่ประชุมซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบเดินหน้า 2 วาระการดำเนินงานสำคัญ ได้แก่

           1. ส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 13,500 คนต่อปี ผ่านหลักสูตรการอบรมพัฒนาทักษะความรู้ที่เหมาะสม โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มบุคลากรปัญญาประดิษฐ์ระดับทักษะขั้นสูง คือ กลุ่มนักวิจัยและนักพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (2) กลุ่มบุคลากรปัญญาประดิษฐ์ระดับทักษะขั้นกลาง คือ กลุ่มนวัตกรและวิศวกร และ (3) กลุ่มบุคลากรปัญญาประดิษฐ์ระดับทักษะขั้นต้น คือ กลุ่มอาชีพการทำงานอื่น ๆ ที่สามารถใช้งานบริการปัญญาประดิษฐ์ขั้นต้นในกลุ่มอาชีพของตนเอง

           2. จัดทำแพลตฟอร์มกลางบริการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) รองรับการให้บริการปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวในการสร้างนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ให้แก่ทุกภาคส่วนภายในประเทศ

           นายอนุชา กล่าวต่อว่า ประธานการประชุมยังได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบูรณาการความร่วมมือเพื่อดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 15 แผนงาน ประกอบด้วย

           ยุทธศาสตร์ที่ 1: เตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ การพัฒนาข้อกำหนด กฎหมาย มาตรฐาน และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ AI ของประเทศ การสื่อสาร และการสร้างการรับรู้ด้านจริยธรรม AI

           ยุทธศาสตร์ที่ 2: พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ การสร้างเครือข่ายเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พัฒนาศูนย์เชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ พัฒนาแพลตฟอร์มกลางระดับประเทศเชิงบูรณาการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการประมวลผลและการคำนวณขั้นสูง

           ยุทธศาสตร์ที่ 3: เพิ่มศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ พัฒนาทักษะและองค์ความรู้ทุกระดับการเรียนรู้ สนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรสู่ภาคธุรกิจ พัฒนากลไกความร่วมมือกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ

           ยุทธศาสตร์ที่ 4: พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่  ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่กลุ่มสาขาเป้าหมาย พัฒนาเทคโนโลยีฐาน (Core Technology) และการวิจัยเพื่อสนับสนุนแพลตฟอร์มด้านปัญญาประดิษฐ์

           ยุทธศาสตร์ที่ 5:  ส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในภาครัฐ และภาคเอกชน ได้แก่ การใช้ AI ในภาครัฐ การใช้ AI ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งเสริมอุตสาหกรรมเชื่อมโยง AI สู่การใช้งานพัฒนากลไก และ Sand Box เพื่อนวัตกรรม ทางธุรกิจ และ AI Startup

           โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ผลลัพธ์ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสามารถร่วมสร้างคนและเทคโนโลยี ไปพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการขับเคลื่อนระบบนิเวศที่ครบถ้วนและเชื่อมโยงแบบบูรณาการ โดยมีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมที่สำคัญ อาทิ

           สร้างความตระหนักด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ให้แก่ประชาชนไม่ต่ำกว่า 600,000 คน

           ยกระดับดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของไทย ไม่ต่ำกว่าลำดับที่ 50 ของโลก

           เกิดการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี

           มีบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์ เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30,000 คน

           เกิดต้นแบบจากผลงานวิจัย และนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ไม่ต่ำกว่า 100 ต้นแบบ

           สร้างผลกระทบในภาคธุรกิจและภาคสังคมได้ไม่ต่ำกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท

           เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านปัญญาประดิษฐ์ ด้วยมูลค่าตลาดไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท

           สำหรับภาพรวมผลกระทบต่อประเทศ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2570 ได้แก่ (1) มีมูลค่าที่เกิดการจ้างงานและสร้างอาชีพในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากบุคลากรที่มีทักษะทางด้านดิจิทัล และ AI รองรับการทำงานในรูปแบบใหม่ในประเทศเพิ่มมากขึ้น (2) GDP ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการจากการนำ AI มาประยุกต์ใช้ ตลอดจนการมีจำนวนผู้ประกอบการใหม่ด้านเทคโนโลยีในประเทศมากขึ้น (3) ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม จากการที่หน่วยงานภาครัฐนำ AI มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงานและการให้บริการ และ (4) ประชาชนมีความเข้าใจและสามารถใช้ศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ได้ในวงกว้าง สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยใหม่ได้เพื่อสร้างประโยชน์และอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน รวมถึงช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           “ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนฯ จะกำกับดูแลบูรณาการการทำงานสู่การปฏิบัติ พร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศด้วยปัญญาประดิษฐ์เชิงรุก เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง” นายอนุชา กล่าวทิ้งท้าย