“เอ็นไอเอ” หนุนสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและรับมือปัญหาสังคมเมือง

News Update

 เอ็นไอเอเดินหน้าสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม ไม่ใช่แค่ให้ทุนแต่หวังสร้างระบบนิเวศของการทำงานในระดับเมืองและในระดับประเทศ    ชี้นวัตกรรมเพื่อสังคมจะเป็นตัวเร่งภาครัฐสร้างนวัตกรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณะอย่างเท่าเทียมมากขึ้น

               ดร.พันธุ์อาจ   ชัยรัตน์   ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ  เปิดเผยว่า จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของสังคมเมืองและชุมชน ส่งผลให้แต่ละปีประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป  เอ็นไอเอจึงมีการศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มปัญหาที่จะเกิดขึ้น พร้อมคาดการณ์อนาคต (Foresight) เพื่อวางแผนรับมือใน 4 ปัญหาหลักคือ1. ปัญหาจากผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  เช่น ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน รวมถึงการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข  ซึ่งที่ผ่านมาชี้ให้เห็นแล้วว่าระบบดังกล่าวยังไม่สามารถตอบสนองกับภาวะฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที และมีความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับการรักษา และสวัสดิการทางสังคม

              2.ปัญหาสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของคนในสังคม โดยให้ความสำคัญและพยายามหาแพลตฟอร์มนวัตกรรมขึ้นมารองรับเพื่อสร้างความประนีประนอม และการสร้างพื้นที่ให้ประชาชนได้ร่วมแสดงออกความเห็นในเชิงสร้างสรรค์  3.ปัญหาความเท่าเทียมทางเพศ โดยมุ่งวางแผนสำหรับดึงศักยภาพของกลุ่ม LGBTQA+ ออกมาให้คนในสังคมได้รับรู้ในมิติที่หลากหลายมากกว่าเรื่องเพศ รวมถึงการหาบริการและผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของเพศที่หลากหลาย   และ4.ปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มคนเปราะบาง อาทิ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ  หรือ ผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ การบริการที่ดีจากภาครัฐ  การเข้าสู่ระบบแรงงานที่เป็นธรรม การยอมรับจากสังคมของผู้ที่เคยก้าวพลาด

              ดร.พันธุ์อาจ   กล่าวว่า  เอ็นไอเอได้ผลักดันเรื่องของนวัตกรรมเพื่อสังคมมาตลอดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยมีกรณีตัวอย่างทั้งในเมืองและในชุมชน ซึ่งในปี  2564 นี้ จะเป็นปีที่เอ็นไอเอเข้าการสรุปเฟสที่ 2 ในการพัฒนาโครงการ โดยเฟสแรก เน้นที่การสร้างโครงการ สร้างตัวอย่าง และสร้างโครงสร้างพื้นฐานไปด้วย   ส่วนเฟสที่สองเป็นการทำงานในระดับภูมิภาค โดยเน้นทำใน 10 จังหวัดยากจนของประเทศ   สำหรับในปี  2564 เอ็นไอเอจะยังคงทำในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในเรื่อง 10 จังหวัดคนยากจนต่อไป ซึ่งจะทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่น ทั้งอบต. อบจ.และเทศบาล  รวมทั้งกลุ่มที่ทำกิจการเพื่อสังคม ดังนั้นจะเป็นโจทย์ที่มาจากท้องถิ่น ในเมืองและในชนบท   

              “ การที่เอ็นไอเอสนับสนุนไม่ใช่เฉพาะการให้ทุน แต่ในโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม  เราอยากให้เกิดระบบนิเวศ ของการทำงานด้านนวัตกรรมสังคมในระดับเมืองและในระดับประเทศ   ซึ่งหวังว่าในเฟสที่สองนี้ จะสามารถให้ทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในเรื่องของผู้สูงวัย เยาวชน  สิ่งแวดล้อม โควิด19 รวมถึงการเข้าถึงกลุ่มคนที่ขาดโอกาส ซึ่งอยากทำนวัตกรรมที่ทำให้เกิดความทั่วถึงของสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ และอยากจะฝากว่านวัตกรรมสังคมนี้ ไม่จำเป็นต้องแสวงหากำไรทางธรกิจอย่างเดียว กำไรที่เราได้มาคือกำไรที่ตัวบุคคลและ สภาพแวดล้อมที่เราอยู่ร่วมกัน  นวัตกรรมสังคมจะเป็นตัวเร่งให้ภาครัฐ ภาคราชการทำนวัตกรรมที่ให้บริการสาธารณะมากขึ้น ซึ่งนวัตกรรมสังคมสามารถทำได้ในทุกภาคส่วน ”      

              สำหรับ โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน 2564 หรือ CITY & COMMUNITY INNOVATION CHALLENGE 2021 เอ็นไอเอจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 มีเป้าหมายในการเฟ้นหานวัตกรรมที่สามารถผลักดันไปสู่การใช้งานจริง เพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาในประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของเมืองและชุมชน โดยเปิดรับข้อเสนอแนวคิดการพัฒนาในหลากหลายมิติ จากนั้นจะพิจารณาคัดเลือกแนวคิดที่ดีและมีโอกาสในการขยายผลได้จริง เพื่อรับการสนับสนุนเงินทุนสำหรับไปดำเนินการจริงในพื้นที่ และเมื่อดำเนินโครงการนำร่องแล้วเสร็จ สามารถขยายผลแนวคิด เทคโนโลยี โอกาสทางสังคม และธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นต่อไปได้ โดยที่ผ่านมาสนับสนุนไปแล้วทั้งสิ้น 36 โครงการ มูลค่าการสนับสนุน 38.92 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนกว่า 185.38 ล้านบาท

              โดยหัวข้อที่เปิดรับสมัครในปี 2564 นี้ มุ่งเน้นใน 3 เรื่อง คือ 1.การฟื้นฟูผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วยนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน การสร้างสวัสดิการสังคม การเข้าถึงบริการสาธารณะ การเงินและสินเชื่อ และการดูแลกลุ่มผู้เปราะบาง 2.แพลตฟอร์มธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมประกอบด้วย แพลตฟอร์มด้านการศึกษา การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน นวัตกรรมภาครัฐ การทำเกษตรอย่างยั่งยืน การดูแลรักษาสุขภาพ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และ 3.มิติปัญหาสังคมอุบัติใหม่ในเมือง ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมเพื่อการสร้างสันติภาพและการแก้ปัญหาความรุนแรง การแก้ปัญหาอาชญากรรม การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ การเคลื่อนย้ายของแรงงาน และการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง

              ปัจจุบันมีผู้สนใจส่งแนวความคิด (Concept Idea) เพื่อขอรับการสนับสนุนจากโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ปี 2564 จำนวน 218 ไอเดีย ซึ่งหลังจากนี้ NIA จะพิจารณาคัดเลือกเพื่อนำแนวคิด มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม