‘สุภาบีฟาร์ม’ พลิกโมเดลธุรกิจ ดึงนวัตกรรมสู้โควิด

Inno Market

          “สุภาบีฟาร์ม” ผลัดใบ “อาณาจักรผึ้ง” สู่เจนใหม่ ดึงนวัตกรรม-โซเชียลฯ ตอบโจทย์ธุรกิจ

          จากข้อมูล กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปีที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมการผลิตน้ำผึ้งมากเป็นอันดับที่ 36 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน (รองจากเวียดนาม) โดยสามารถผลิตน้ำผึ้ง ได้ 1 หมื่นตันต่อปี และส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย แคนาดา และจีน จำนวนกว่า 7.9 พันตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 616.59 ล้านบาท ทั้งนี้พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเกิดคู่แข่งทางการค้า ส่งผลให้ราคาน้ำผึ้งลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากมีการส่งเสริมให้เกิด “คลัสเตอร์ผึ้ง” จะสามารถพยุงมูลค่าให้ใกล้เคียงกับในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นการเสริมศักยภาพให้กับกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้ง การจัดการเครื่องจักรกลที่ทันสมัย ผ่านองค์ความรู้จากกลุ่มคลัสเตอร์ อันจะส่งผลต่อการลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

          นางสาวสุวรัตนา ยาวิเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุภาฟาร์มผึ้ง จำกัด ทายาทรุ่นที่ 2 แห่งอาณาจักรฟาร์มผึ้งแม่ริม ระบุว่า สุภาฟาร์มผึ้ง ก่อตั้งเมื่อปี 2528 โดยคุณพ่อสมบูรณ์ และคุณแม่สุภา ยาวิเลิศ สองสามีภรรยาซึ่งได้ศึกษาเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งจากชาวไต้หวัน จากนั้นนำเข้าผึ้งเข้ามาเพาะพันธุ์ ทำนางพญาด้วยตนเอง โดยชนิดของผึ้งที่เลี้ยง คือ ผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera) ที่มีเชื้อสายมาจากอิตาลี โดยมีผู้นำเข้ามาจากประเทศไต้หวัน เลี้ยงง่าย ให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจสูง ต่างจากพันธุ์ไทยที่มีศักยภาพการให้น้ำผึ้งต่ำ ความหวานไม่สม่ำเสมอ หนึ่งปีเก็บได้เพียงรอบเดียว ปริมาณอาจจะได้เพียง 100 กิโลกรัมเท่านั้น

          “ สุภาฟาร์มผึ้ง เริ่มจากอาชีพเสริมด้วยการเริ่มต้นเลี้ยงผึ้งในปีแรกเพียง 10 รัง และต่อมาได้พัฒนามาเป็นอาชีพหลัก ขยายเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีการเลี้ยงผึ้งประมาณ 2 พัน รัง ซึ่งเป็นการเริ่มจากอาชีพเสริมและพัฒนามาเป็นอาชีพหลัก โดยเลี้ยงผึ้งภายในสวนลำไยของครอบครัวที่จังหวัดเชียงใหม่”

          สุวรัตนา กล่าวต่อไปว่า ด้วยความที่เธออยากจะสร้างแบรนด์ให้กับคนไทยได้ทานน้ำผึ้งที่ดีมีคุณภาพ ต่อมาเมื่อเรียนจบดึงตั้งต้นที่จะสานต่อธุรกิจครอบครัว ประจวบเหมาะกับที่มีลูกค้าสนใจจำนวนมาก ทั้งนี้พื้นที่ในการเลี้ยงผึ้งของสุภาฟาร์มปัจจุบันมีผึ้ง 1.5 พันลัง กระจายอยู่ 20 จุดทั่วภาคเหนือ ในแต่ละพื้นที่วางผึ้งประมาณ 60-100 ลัง ใช้พื้นที่อยู่ประมาณ 2 ไร่ในแต่ละจุด รวมแล้วผลผลิตประมาณ 200 ตันต่อปี  โดยใน 1 ฤดูกาล ได้น้ำผึ้ง 200 ตัน มีทั้งน้ำผึ้งดอกลำไย ดอกไม้ป่า ลิ้นจี่ เพราะฤดูกาลในการเก็บเกี่ยวแตกต่างกัน โดยจุดเด่นที่ทำให้สุภาฟาร์มแตกต่างจากฟาร์มผึ้งอื่นๆ คือ 1.เป็นผู้ประกอบการฟาร์มผึ้งเอง 2.มีการแปรรูปเอง 3.นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้

          โดยแบ่งฐานลูกค้าออกเป็น ในประเทศ 90 % ส่วนอีก 10% คือการส่งออกไปยังต่างประเทศคือ ญี่ปุ่น มาเลเซีย จีน และสิงคโปร์ แต่ปัจจุบันจะเน้นที่ญี่ปุ่นกับจีนในสัดส่วน 50 : 50 เนื่องจากอัตราส่วนคนสูงอายุสูงมีเพิ่มมากขึ้น และนิยมทานน้ำผึ้งกันเป็นจำนวนมาก โดยจะเป็นในส่วนของโปรดักท์น้ำผึ้งพร้อมบริโภค ส่วนประเทศอื่นๆก็คาดหวังเช่นกัน อย่าง ตะวันออกกลาง หรือ อินเดีย แต่เบื้องต้นจะขอฟิตผึ้ง และเพิ่มนวัตกรรมก่อนในระยะนี้

          แต่เมื่อประสบกับสถานการณ์โควิด-19 เธอบอกว่า ส่งผลให้ยอดขายผลิตภัณฑ์ลดลงกว่า 70 % จึงขอรับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 1 จ.เชียงใหม่ ในโครงการแตกกอธุรกิจผ่านการจัดทำโมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้าจากกลุ่มผู้สูงอายุ มาสู่กลุ่มคนวัยทำงาน  โดยใช้แฟลตฟอร์มออนไลน์เป็นสื่อกลางของเครื่องมือในการขาย ทั้งการนำเสนอโปรโมชั่นผ่านระบบไลฟ์ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ และการนำเสนอคอนเทนต์ผ่านยูทูบของสุภาฟาร์ม

          “เดิมผลิตภัณฑ์จากผึ้งประกอบด้วย น้ำผึ้ง รอยัลเจลลี่หรือนมผึ้ง เกสรผึ้ง ไขผึ้ง ยางเหนียว พิษผึ้ง สบู่เหลว สบู่ก้อน และครีมน้ำผึ้ง ต่อมาสุภาฟาร์มผึ้งจึงได้คิดค้นนวัตกรรมอาหารส่งออกร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ทำจากน้ำผึ้งขึ้นมาเป็น “ซีเรียลบาร์” สำหรับนักกอล์ฟ ที่ถือเป็นเจ้าแรก” สุวรัตนา กล่าว

          ทั้งนี้โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือ คลัสเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือในระดับธุรกิจที่รวบรวมผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน ก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพภายในเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดย กสอ. ได้ขยายผลการขับเคลื่อนการผนึกกลุ่มผู้ประกอบการบนแนวคิด Cluster Hub คือ เชื่อมโยงอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเชิงพื้นที่กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานสนับสนุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น และเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน และปี 64 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มีแผนที่จะส่งเสริม อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้งให้เป็นคลัสเตอร์

          สุวรัตนา กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออก จำนวนกว่า 1,215 ราย โดยน้ำผึ้งที่ผลิตออกมานั้นจะมีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ขึ้นอยู่กับอาหารที่ผึ้งได้รับ ซึ่งหากผู้ประกอบการร่วมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการผลิตและได้รับการสนับสนุนนวัตกรรมเครื่องจักรกลที่ทันสมัย เชื่อว่าจะสามารถวิจัยเชิงลึกเกี่ยวสรรพคุณของน้ำผึ้งหรือสารสำคัญที่มีเฉพาะในน้ำผึ้งจากประเทศไทย จะสามารถยกระดับคลัสเตอร์ผึ้ง  ให้เทียบเท่ากับสมาคมในระดับนานาชาติได้ 

          ส่วนกลยุทธ์การตลาด จะเป็นการใช้สื่อในการเข้าถึงผู้บริโภค อย่างเช่น การโปรโมทผ่านเว็บไซต์ของบริษัท อีกทั้งขยายสู่โซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม.