“โรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค” อุดช่องว่างการวิจัยใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์สู่ภาคอุตสาหกรรม

Cover Story

           ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก  ซึ่งมีความหลากหลายทางชนิดทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์  โดยมีจุลินทรีย์ราว 150,000 -200,000 ชนิด หรือประมาณ 8-10  % ของจุลินทรีย์ที่คาดว่ามีอยู่ในโลก

           และทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะ “จุลินทรีย์”  ก็คือ ความได้เปรียบของประเทศไทย    

           แต่…บนความได้เปรียบนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยยังมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมและกำลังคนผู้เชี่ยวชาญ  ทำให้เป็นเกิดช่องว่างในการขยายผลการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์เหล่านี้ในระดับอุตสาหกรรม  

            ล่าสุด…เพื่อลดข้อจำกัดดังกล่าว สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน องค์ความรู้ด้านงานวิจัยและความเชี่ยวชาญของบุคลากร  ได้เปิดตัว “โรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค”  (BIOTEC Bioprocessing Facility) หรือ BBF  ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคาร BIOTEC pilot plant อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

           โดย BBF เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการดำเนินงานวิจัยด้านการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม ที่ได้รับมาตรฐานระดับสากลอย่าง Codex GHPs และ HACCP   รองรับการทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชน และงานให้บริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเร่งผลักดันการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในการลงทุนเครื่องมือขนาดใหญ่สำหรับการวิจัยและพัฒนา รวมถึงประเมินความพร้อมของเทคโนโลยี และความเป็นไปได้เชิงเศรษฐศาสตร์ก่อนการลงทุนในระดับอุตสาหกรรม

              ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ  ลิมปิจำนงค์  ผู้อำนวยการ สวทช.  กล่าวว่า  โครงสร้างพื้นฐานระดับขยาย   หรือ pilot plant  ถือเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยจากความหลากหลายชีวภาพ โดยเฉพาะการนำจุลินทรีย์มาใช้ในระดับอุตสาหกรรม ด้วยกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน และมีต้นทุนที่เหมาะสม สำหรับนําไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชัน รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสําอาง ช่วยแก้ปัญหาคอขวดที่งานวิจัยของประเทศไทยจำนวนมากยังไม่สามารถผลักดันไปสู่การใช้จริงได้ ดังนั้น BBF จึงถือเป็นกลไกหลักที่ช่วยขับเคลื่อน FoodSERP หรือแพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชันในรูปแบบ One-stop service  1ใน 4 ของ NSTDA Core Business ในปีนี้ ให้ประสบความสำเร็จ  ซึ่งที่ผ่านมา BBF ได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการมากกว่า 30 บริษัททั้งในและต่างประเทศ

           ดร.วรรณพ  วิเศษสงวน  ผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าวว่า  BBF ถือเป็นหน่วยงานภาครัฐที่บุกเบิกด้านการผลิตผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์ทั่วไปและจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรม ได้แก่ แบคทีเรีย ยีสต์และรา ภายใต้สถานที่ผลิตอาหาร (food-grade manufacturer) ตามมาตรฐานสากล  ที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการต้นน้ำ และกระบวนการปลายน้ำ ตั้งแต่การพัฒนาสูตรอาหารเลี้ยงเชื้อ กระบวนการหมัก การเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ การทำเข้มข้นหรือการทำบริสุทธิ์ การทำแห้ง การผสมสูตรผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบคุณภาพและอายุผลิตภัณฑ์ รวมถึงการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ตลอดจนให้คำปรึกษา ฝึกอบรม บริการวิชาการ และสร้างพันธมิตรด้านเทคโนโลยีชีวกระบวนการในระดับขยายทั้งในและต่างประเทศ

           “โรงงานต้นแบบฯในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมไทย ไม่เฉพาะแค่ในอุตสาหกรรมอาหาร หรืออาหารสัตว์  แต่ยังมีเรื่อง Ingredient และ Biorefinery รวมถึงกลุ่ม Cosmetics ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐานในด้านดังกล่าว ผู้ประกอบการจึงต้องใช้บริการในต่างประเทศ การตั้งโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค หรือ BBF ขึ้นในประเทศ จึงเป็นการช่วยผู้ประกอบลดค่าใช้จ่ายในการทดสอบการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม สะดวกในเรื่องการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเป็นโรงงานที่มีมาตรฐานสากล ขณะเดียวกันวัตถุดิบต่าง ๆ ก็อยู่ในประเทศไทย การประเมินความคุ้มทุนต่าง ๆ จึงใกล้เคียงกับความเป็นจริง และหากจะขยายกำลังการผลิตต่อยอดจาก   BBF  ไปสู่ระดับอุตสาหกรรมจริง  ๆ สวทช.ได้มีการดำเนินการจัดตั้งโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ รองรับการผลิตในหลักหมื่นลิตรต่อปี ที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีไอ จ.ระยอง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2 ปีข้างหน้า”

           ด้าน ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชั่นและนวัตกรรมอาหาร ไบโอเทค ในฐานะผู้บริหารจัดการโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค (BBF) กล่าวว่า “ BBF ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาภายใต้การทำงานของทีมวิจัยแบบสหสาขาวิชา โดยผนวกองค์ความรู้พื้นฐานด้านจุลินทรีย์เข้ากับเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมชีวกระบวนการ และเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ ในการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตเซลล์จุลินทรีย์  สารชีวภัณฑ์จากจุลินทรีย์  และส่วนผสมฟังก์ชั่น (functional ingredients)ในระดับขยาย  รองรับการผลิตในรูปแบบ submerged fermentation ขนาด 300 ลิตร และ solid-state fermentation ขนาด 500 กิโลกรัม รวมทั้งเครื่องมือในกระบวนการปลายน้ำและวิเคราะห์ทดสอบที่รองรับการผลิตสำหรับขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์

             “นอกจากนี้  BBF ยังให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มวัตถุเจือปนอาหาร สารอาหาร โปรตีนทางเลือกจากจุลินทรีย์ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการในการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ การทดสอบตลาด หรือการทดสอบทางคลินิก รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิต เพื่อขยายผลสู่การนำไปใช้จริงในอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนผสมฟังก์ชัน และอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ โดยใช้กลยุทธ์แบบ quick win ในการดำเนินการเชิงรุกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับผู้ประกอบการที่มีมุมมองเชิงธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการทั้งกลุ่ม Startup กลุ่ม SME และ กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ (Large enterprise) รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ”

           สำหรับผลงานของผู้ประกอบการ ที่ผ่านการใช้องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญของนักวิจัยไบโอเทค สวทช. และเครื่องมือที่ทันสมัยจาก  BBF เช่น  ผลิตภัณฑ์เอนไซม์ล้างผักผลไม้ จากบริษัทไบโอม จำกัด  ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพดีฟเทคที่สปินออฟจากคณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   โดยเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพและชีววิทยาสังเคราะห์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์  ดังนั้นการขยายขนาดของการผลิตไม่สามารถใช้กระบวนการผลิตแบบปกติได้   ทั้งนี้ไบโอมได้ใช้องค์ความรู้  เครื่องมือ และทีมงานที่มีประสบการณ์ จาก BBF ในการพัฒนากระบวนการผลิตในระดับขยายขนาดรวมถึงกระบวนการปลายน้ำ  และช่วยแก้ปัญหาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดในระยะเวลาที่เหมาะสมและรวดเร็ว

           ส่วนโพรไบโอติกอาหารเสริม จากบริษัทสยาม อะกริ ซัพพลาย จำกัด  เป็นผลงานการวิจัยด้านโพรไบโอติกมากว่า 15 ปีของ รศ.ดร.มาลัย ทวีโชติ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีการคัดแยกสายพันธุ์และทดสอบฟังก์ชั่นต่าง ๆ ที่มีประโยชน์กับสุขภาพ   BBF สามารถเข้ามาตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการที่จะมาต่อยอดได้ว่างานวิจัยดังกล่าวสามารถหาที่ผลิตได้ และตรงตามมาตรฐานสากล ด้วยความพร้อมของเทคโนโลยีการผลิตของ  BBF สามารถเป็นที่พึ่งพาของนักวิจัยและภาคเอกชน ทำให้ไม่ต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต

            นอกจากนี้ยังมีผลงานโพรไบโอติกอาหารเสริมและโพสไบโอติก ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น จากบริษัทวิโนน่า เฟมินิน จำกัด     ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกเพื่อสุขภาพ จากกลุ่มบริษัท ไทยรุ่งเรือง (ผู้ผลิตน้ำตาลลิน) และ ยาอมและสเปรย์ 5 ตะขาบ จากบริษัทห้าตะขาบ ซิมเทียนฮ้อ จำกัด