เปิดสูตรสำเร็จโครงการ “TIME” พัฒนาบุคลากรทักษะสูงให้อุตสาหกรรม

News Update

สวทช. เปิดสูตรสำเร็จโครงการ “TIME” ยกระดับขีดความสามารถ พัฒนา “บุคลากรทักษะสูง” ตอบโจทย์อุตสาหกรรม

            เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ภายในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18 หรือ NAC2023  สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต (CFA) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดสัมมนา ความสำเร็จโครงการ TIME & WiL ยกระดับขีดความสามารถ พัฒนาคนตอบโจทย์อุตสาหกรรมภายใต้โครงการ Total Innovation Management Enterprise (TIME) and Work-integrated Learning (WiL) Project Success ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงสถานประกอบการกับสถานศึกษาและหน่วยงานวิจัยในการบูรณาการการพัฒนาบุคลากร  

           พร้อมจัดพิธีมอบโล่ “รางวัลนวัตกรรมการศึกษาเพื่อสังคม” ให้กับ 3 สถานประกอบการ ได้แก่ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด บริษัท พีรพัฒน์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ซึ่งเป็นสถานประกอบการตัวอย่างที่แสดงถึงศักยภาพในการพัฒนากระบวนการยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมของอุตสาหกรรมไทย ผ่านการพัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารจัดการกระบวนการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องภายใต้ชื่อ โครงการ “TIME”

           ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า TIME เป็นโครงการพัฒนากำลังคนทักษะสูงรูปแบบใหม่ ต่อยอดมาจากความสำเร็จของโครงการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-integrated Learning: WiL) และ โครงการพัฒนานักวิจัยในอุตสาหกรรมร่วมกับสถานประกอบการขนาดกลาง ของ สอวช. ซึ่งส่งต่อโครงการสู่การขยายผลโดย สวทช. โดยมีการพัฒนาองค์ความรู้ทางการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมใน sector หลัก เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้สนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ ตามนโยบายการส่งเสริมการลงทุนได้ ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาระบบการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับ BOI โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายไปคำนวณเพื่อยื่นของสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการได้

           “โครงการ TIME หรือ Total Innovation Management Enterprise ซึ่งเป็นโครงการพัฒนากำลังคนทักษะสูงรูปแบบใหม่ ที่ต่อยอดความสำเร็จจาก โครงการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-integrated Learning: WiL) และ โครงการพัฒนานักวิจัยในอุตสาหกรรมร่วมกับสถานประกอบการขนาดกลาง ของ สอวช. ส่งต่อสู่การขยายผลโดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้บริหารจัดการและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นผู้จัดสรรงบประมาณ”

          นายนพดร ปัญญาจงถาวร รองผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต (CFA) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 8 บริษัท มีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท จำนวน 45 คน จากสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยโครงการ TIME ได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สกสว. ซึ่งความสำเร็จของโครงการเป็นการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบการสร้างกำลังคนแนวใหม่ โดยมุ่งเน้นการค้นหารูปแบบทักษะที่จำเป็นสำหรับการสร้างนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นการพัฒนาแพลตฟอร์มในโครงการนี้จึงมุ่งเป้าในการออกแบบระบบการพัฒนากำลังคนที่สอดคล้องกับระบบนิเวศนวัตกรรมที่จะต้องเริ่มจากการพัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างนวัตกรรมอุตสาหกรรม ที่สามารถบูรณาการองค์ความรู้ทางเทคนิคเข้ากับองค์ความรู้ทางการจัดการ เพื่อนำไปออกแบบกิจกรรมที่ต้องทำ ซึ่งการบรรลุเป้าหมายได้จะต้องพัฒนาความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการนำปัญหาจริงมาเป็นเป้าหมายโครงการนวัตกรรม เพื่อให้ได้ต้นแบบของกระบวนการ ซึ่งจะนำไปสู่การสื่อสารกับภาคอุตสาหกรรมว่าต้องมีการดำเนินการอย่างไร

          โดยผลสำเร็จของโครงการ TIME มีต่อหลายภาคส่วน ได้แก่ สถานประกอบการและภาคอุตสาหกรรมจะได้พนักงานซึ่งเกิดจากการบ่มเพาะนักศึกษา โดยจะเป็นบุคลากรทักษะสูง ที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมระดับประเทศช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ด้านสถานศึกษาและมหาวิทยาลัย จะสามารถพัฒนาหลักสูตรที่สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้ระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้สถานศึกษามีหลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมแต่ละประเภท และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้านหน่วยงานวิจัยและหน่วยงานให้ทุน จะเกิดการเชื่อมโยงหน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน กับภาคการศึกษา ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศขององค์กรนวัตกรรม ซึ่ง สวทช. มีเป้าหมายที่จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้เกิด Eco System ดังกล่าวเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

          ทั้งนี้หากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตสนใจรายละเอียดโครงการเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต (CFA) สวทช. โทรศัพท์ 0 2644 8150 เว็บไซต์ www.career4future.com หรือ Facebook : Career for the Future Academy