อุตุ-กรมอนามัย แนะประชาชนดูค่าดัชนีความร้อน เฝ้าระวังอันตรายจากอากาศร้อนจัด

News Update

กรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกับกรมอนามัย ติดตาม เฝ้าระวัง พยากรณ์อุณหภูมิและดัชนีความร้อนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจากสภาพอากาศร้อนจัด คาดว่าในเดือนเมษายนปีนี้มีแนวโน้มอุณหภูมิสูงถึง 43 องศาเซนเซียส และดัชนีความร้อนหรืออุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้จะสูงอยู่ในเกณฑ์อันตรายถึงอันตรายมาก แนะกลุ่มเสี่ยงป้องกันผลกระทบจากฮีทสโตรก ไม่ควรอยู่กลางแจ้งต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยเฉพาะในช่วงเวลา 10.00-16.00 น. และควรจิบน้ำบ่อย ๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำซึ่งจะสามารถป้องกันภาวะขาดน้ำได้

วันนี้ (31 มีนาคม 2566) เวลา 11.00 น. ณ อาคาร 50 ปี อุตุนิยมวิทยา ดร. ชมภารี  ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน จะเป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดของปี กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะสูงถึง 43 องศาเซนเซียส ซึ่งอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยจังหวัดที่จะมีแนวโน้มอุณหภูมิสูงที่สุด คือ สุโขทัย ตาก ลำปาง แม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ คาดว่าประเทศไทยจะมีสภาพอากาศร้อนจัดยาวไปจนถึงช่วงเดือนต้นเดือนพฤษภาคม

ดร. ชมภารี อธิบายว่า ดัชนีความร้อน หรือ Heat Index คืออุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้นว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร หรืออุณหภูมิที่ปรากฎในขณะนั้นเป็นเช่นไร โดยค่าดัชนีความร้อนสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อระบุความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากความร้อน หากพื้นที่ที่มีอากาศร้อนหากเกิดร่วมกับความชื้นสูงแล้วจะทำให้คนเรารู้สึกเหมือนอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิของอากาศ ณ ขณะนั้น ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้ติดตามและจัดทำพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อน ที่สามารถบ่งบอกถึงระดับอันตรายจากความร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ชัดเจนกว่าการติดตามและคาดการณ์อุณหภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว จึงขอแนะนำให้ประชาชน ใช้ข้อมูลพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อน (Heat Index Analysis) เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบจากสถานการณ์ความร้อนต่อสุขภาพ

ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา โดยกลุ่มวิจัยและพัฒนาสารสนเทศอุตุนิยมวิทยา ได้จัดทำพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อน (HI) เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ http://www.rnd.tmd.go.th โดยใช้สีเพื่อกำหนดระดับ ได้แก่ สีเขียว หมายถึง ระดับเฝ้าระวัง แทนค่าดัชนีความร้อน 27-32 องศาเซนเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ คืออ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อน หรือออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน สีเหลือง หมายถึง ระดับเตือนภัย แทนค่าดัชนีความร้อน 32-41องศาเซนเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการตะคริวจากความร้อน และเกิดอาการเพลียแดดหากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน สีส้ม หมายถึง ระดับอันตราย แทนค่าดัชนีความร้อน 41-54 องศาเซนเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke) ได้หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน และสีแดง หมายถึง ระดับอันตรายมาก แทนค่าดัชนีความร้อน มากกว่า 54 องศาเซนเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ จะเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke) โดยมีอาการตัวร้อน เวียนศีรษะ หน้ามืด ซึมลง ระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลว และทำให้เสียชีวิตได้หากสัมผัสความร้อนติดต่อกันหลายวัน

สอดคล้องกับข้อมูลจากนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ที่ระบุว่า โรคฮีทสโตรก มีสาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุณหภูมิสูง และได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซนเซียส ส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมองได้ รวมทั้งผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงงานอย่างหนักท่ามกลางอากาศร้อนเป็นเวลานาน เช่น คนงานก่อสร้าง ทหารเกณฑ์ เกษตรกร นักวิ่งมาราธอน ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มน้ำในปริมาณน้อย ติดสุราทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูง กลุ่มสูงอายุ กลุ่มเด็กเล็กที่มีความสามารถในการระบายความร้อนจากร่างกายได้น้อยกว่ากลุ่มวัยรุ่นที่มีร่างกายแข็งแรงปกติ คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ที่ต้องใช้ยารักษาโรคบางชนิดเป็นยาที่กระตุ้นการขับปัสสาวะ จึงขัดขวางกลไกการกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากความร้อนได้มากขึ้น กลุ่มเสี่ยงต้องหมั่นสังเกตอาการตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคฮีทสโตรก เนื่องจากโรคดังกล่าวเป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันทีอาจเสียชีวิตได้

 โดย 4 อาการสำคัญของโรคนี้ ได้แก่ 1.เหงื่อไม่ออก 2. สับสน มึนงง 3. ผิวหนังเป็นสีแดง และแห้ง 4. ตัวร้อนจัด ในกรณีที่พบผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว ให้โทรแจ้ง 1669 ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม หรือห้องที่มีความเย็น ให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น รีบใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวหรือวางถุงน้ำแข็งที่คอ รักแร้ และขาหนีบ หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันโคนสิ้นอุดทางเดินหายใจ และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วด้วยรถปรับอากาศ หรือเปิดหน้าต่างรถ เพื่อให้อากาศถ่ายเท

ทั้งนี้ ประชาชนผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศและดัชนีความร้อนได้จากเว็บไซต์ https://www.tmd.go.th/ และเฟซบุ๊กของกรมอุตุนิยมวิทยา https://www.facebook.com/tmd.go.th และร่วมกันรายงานผลกระทบต่อสุขภาพที่ https://hia.anamai.moph.go.th/th/anamaipoll