มหาดไทยประกาศความสำเร็จซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งแรกในไทย

นวัตกรรมยั่งยืน

ประกาศความสำเร็จซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตครั้งแรกของไทย” กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผนึกกำลัง UN Thailand และ KBANK ประกาศความสำเร็จการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 จังหวัดนำร่อง เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

วันนี้ (21 มิ.ย. 66) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานประกาศความสำเร็จ ภายใต้ชื่องาน “กระทรวงมหาดไทยประกาศความสำเร็จการจัดการขยะอาหารจากครัวเรือน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบรรลุเป้าหมายประเทศไทยที่ยั่งยืน (MOI’s Success on Food Waste Management for Climate Action and a Commitment to Sustainable Thailand)” โดยได้รับเกียรติจาก นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย  คุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย พร้อมคณะผู้แทนหน่วยงานใน UN Thailand นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง  ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด และผู้แทนภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีของกระทรวงมหาดไทยเข้าร่วมงาน   

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณคุณกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ KBank ที่นำทีม KBank ประกาศจุดยืนเป็นสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินรายแรกของประเทศไทยหยิบยื่นความสำเร็จของการที่จะจูงใจให้พี่น้องประชาชน ได้ภาคภูมิใจว่าการเป็นคนดีของโลกด้วยการคัดแยกขยะและจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน สามารถแปลงให้กลายเป็นทุนกลับคืนสู่หมู่บ้าน/ชุมชนได้ ในราคา 260 บาท/ตันในเฟสแรก

“กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนก็ใช้เวลาในการเดินทางมาเกือบ 10 ปี โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อขณะที่ผมดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ เป็นประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและได้พบว่าที่จังหวัดลำพูนมีการคัดแยกขยะในทุกกิจกรรมของชีวิต แม้แต่งานทำบุญ จะไม่มีอาหารตั้งโต๊ะ แต่เป็นบุฟเฟ่ต์เป็นหม้อ ๆ ใครจะทานเท่าไหร่ก็ไปเติมตักเอา แล้วเศษอาหารที่เป็นขยะเปียก หรือเศษใบไม้ ก็มีการคัดแยก เพื่อที่จะทำให้ลูกหลานไม่เจ็บไข้ได้ป่วยจากไข้ซิก้าอันเกิดจากยุงที่มีแหล่งเพาะพันธุ์จากขยะเน่าเหม็น โดย ดร.วันดี เห็นว่าการจัดการขยะในตอนนั้นใช้ “เสวียน” เป็นหลัก เป็นถังขยะเปียกระบบเปิด จึงได้มาช่วยกันคิดออกแบบจนกลายเป็น “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน”

และหลังจากนั้นก็ได้ขับเคลื่อนต่อมาโดยโชคดีที่มีภาคีเครือข่ายที่น่ารัก คือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) โดยมี ดร.ประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย เป็นผู้อำนวยการในขณะนั้น รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจาก ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กรุณาอนุญาตให้ ศาสตราจารย์ ดร.ชนาธิป ผาริโน จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยในเรื่องการรับรองระเบียบวิธีการวิจัย (Methodology) ในการบริหารจัดการขยะของถังขยะเปียกลดโลกร้อน และส่งให้ อบก. รับรองคิดเป็นค่าคาร์บอนเครดิตร่วมกับหน่วยงานภายนอก” นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์  ย้ำว่า จากจุดเริ่มต้นในครั้งนั้น ส่งต่อมาถึงเมื่อตนดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กัญชรยาคง จุลเจริญ ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย จึงเกิดเป็นความต่อเนื่องเชื่อมส่งต่อมาถึงการขับเคลื่อนที่มีอุดมการณ์เดียวกับองค์การสหประชาชาติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) คือ การรักษาโลกใบเดียวนี้ให้มีอายุยืนยาว ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนได้ตื่นตัวลุกขึ้นมาเพื่อที่จะทำให้การใช้ชีวิตของตัวเองเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้ระบบนิเวศ สภาวะแวดล้อมเหมาะกับลูกหลานของเราเพื่อที่จะสามารถอยู่อาศัยได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งปัจจัยความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ส่วนกลางแต่ “ส่วนกลางเป็นจุดเริ่มต้นในฐานะผู้นำ” ที่ต้องแสดงให้ “ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ข้าราชการทุกส่วนของกระทรวงมหาดไทยและผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น” ในการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสิ่งที่เป็นนโยบายหรือสิ่งที่พวกเราอยากให้ทำนั้นมันสำคัญและจำเป็นต้องทำ แล้วจะทำแบบปี 2 ปีแล้วหยุดไม่ได้ ต้องทำตลอดไป ทำตลอดเวลา

โดยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เป็นที่ยืนยันอย่างชัดแจ้งว่า สิ่งที่คนมหาดไทยทุกคนได้ทำอย่างต่อเนื่องโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำคนสำคัญนั้น ทำให้องค์การระหว่างประเทศที่มีสมาชิกทั่วโลก คือ องค์การสหประชาชาติ ได้เห็นและร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์กับพวกเราที่หอประชุม UN Thailand ซึ่งเป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจอย่างยิ่ง และความสำเร็จของนโยบายที่ดีจะส่งผ่านไปหาพี่น้องประชาชนได้ ทุกส่วนราชการ ทุกหน่วยงานต้องมาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อที่จะให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด นายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ ท่านกำนันทั้ง 7,255 ตำบล ได้ช่วยกันขับเคลื่อนร่วมกันทุกภาคีเครือข่าย เพราะคนมหาดไทยทุกคนเชื่อมั่นว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตการทำงานเราต้อง Change for Good ตลอดเวลา” และในวันนี้จังหวัดนำร่องทั้ง 4 จังหวัด คือ จังหวัดลำพูน สมุทรสงคราม เลย และจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ประกาศความสำเร็จ และในระยะเวลาไม่ไกลจากนี้ เราจะมีอีก 22 จังหวัด รวมเป็น 26 จังหวัด จะร่วมประกาศความสำเร็จปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เราจัดเก็บได้มากกว่า 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีว่าแม้ว่ามันจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายแต่เราทุกคนได้ทำสิ่งที่ดีให้กับโลกของเรา และเมื่อทุกเส้นทางมารวมกันมันก็จะทำให้สิ่งที่ดีขยายวงกว้างทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพมากยิ่งขึ้น

ด้านดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวทางอันเนื่องมาจากพระดำริที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับ SDGs ทั้ง 17 ข้อของ UN เริ่มตั้งแต่พระดำริ Sustainable Fashion ด้วยการใช้ผ้าไทยที่เกิดจากการที่พี่น้องประชาชนปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหมและใช้สีธรรมชาติ ในการย้อมผ้า เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ผ่าน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” ทำให้เกิดรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในทุกถิ่นที่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งพระราชทานโครงการพระดำริที่เป็นองค์รวมและพระราชทานพระอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยน้อมนำมาขับเคลื่อน คือ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พระราชดำริเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การน้อมนำเอาทุกเรื่องที่เป็นวิถีชีวิตเชิงบวกมาเสริมสร้างพลังความรัก ความสามัคคีความเกื้อกูลกันให้พี่น้องประชาชนในชุมชนได้รวมตัวกันดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลและรักษาศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น และช่วยเหลือสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน โดยล่าสุด UN Thailand ได้ไปเยี่ยมหลายจังหวัด เช่น ที่จังหวัดพัทลุง ปัตตานี สกลนคร จังหวัดลพบุรี ซึ่งการลงพื้นที่จะเป็นแรงผลักดันขับเคลื่อนต่อไปในอนาคตเพื่อที่จะทำให้พวกเราทุกคนได้มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินการต่อไป

“ขอขอบคุณพี่น้องคนไทยทั้งประเทศภายใต้การดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานแม่บ้านมหาดไทยทั้ง 76 จังหวัด ท่านนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ ท่านนายกองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 7,849 แห่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีของกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอขอบคุณ KBank และ UN Thailand รวมถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประชาชนทุกคนที่ได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ และพวกเราขอยืนยันว่าสิ่งที่ทุกคนได้เสียสละเพื่อโลกใบนี้ มีผลตอบแทนให้กับลูกหลานของเราชั่วกัปชั่วกัลป์ ที่ลูกหลานของเราได้มั่นใจได้ว่าคลอดออกมาแล้วจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อยู่ในโลกที่สวยงาม เหมาะสม ในการดำรงชีวิตตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าวในช่วงท้าย

ด้าน นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารตระหนักและให้ความสำคัญต่อการเร่งแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยและประชาคมเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ จึงได้ประกาศความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการทำงานของธนาคาร และร่วมมือกับพันธมิตรภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นจริงอย่างยั่งยืน ธนาคารมีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับกระทรวงมหาดไทย ด้วยการรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากชุมชนนำร่อง 4 จังหวัด ในโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในครั้งนี้ โดยธนาคารรับซื้อทั้งหมด 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และได้รับการรับรองจากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกเรียบร้อยแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับครัวเรือนผ่านกลไกของรัฐและภาคประชาสังคมแบบบูรณาการแล้ว ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ รายได้ที่ชุมชนได้รับจากการขายคาร์บอนเครดิตในการดำเนินโครงการ จะกลับคืนสู่ประชาชนและครัวเรือนที่เป็นเจ้าของคาร์บอนเครดิต เพื่อใช้เป็นทุนในการดำเนินโครงการพัฒนาตามความเห็นชอบของประชาคมในพื้นที่ต่อไป

คุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวชื่นชมความคิดริเริ่มต่าง ๆ เช่น โครงการคัดแยกขยะที่เป็น “ตัวเร่งSDGs” ช่วยให้ประเทศพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนตามวาระของชาติเรื่อง Bio – Circular – Green Economy : BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว) โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตครั้งแรกนี้ คือหมุดหมายสำคัญจากการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่นแบบทั้งองคาพยพ ทั้งภาครัฐ-สังคม 14 ล้านครัวเรือน ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด กระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารธนาคาร และหน่วยงานสหประชาชาติ (United Nations) “สิ่งสำคัญ คือ การส่งเสริมประเทศให้มีต้นแบบตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตที่โปร่งใสเป็นรูปธรรมด้วยการสนับสนุนอย่างจริงจังขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ตลอดมา”