มหาวิทยาลัยไทยติดการจัดอันดับระดับโลกเพิ่มขึ้น 3 แห่ง

News Update

มหาวิทยาลัยไทยได้รับการจัดอันดับระดับโลก ประจำปี 2024 จาก Quacquarelli Symonds (QS) เพิ่มขึ้นจาก 10 แห่งเป็น 13 แห่ง ทุกมหาวิทยาลัยได้อันดับสูงขึ้น ขณะที่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.นเรศวร ม.ศิลปากร เป็น 3 มหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับเข้ามาใหม่

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า Quacquarelli Symonds (QS) ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ประจำปี 2024 (World University Rankings 2024) โดยใช้หลักพิจารณาความเป็นเลิศใน 9 ด้าน ประกอบด้วย ชื่อเสียงด้านวิชาการ (Academic Reputation) ทัศนคติของผู้จ้างงานต่อบัณฑิตของแต่ละมหาวิทยาลัย (Employer Reputation) สัดส่วนคณาจารย์ต่อนักศึกษา (Faculty Student Ratio) สัดส่วนจำนวนการอ้างอิงต่อผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ (Citations per Faculty) สัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่างชาติ (International Faculty Ratio) สัดส่วนจำนวนนักศึกษาต่างชาติ (International Student Ratio) เครือข่ายวิจัยนานาชาติ(International Research Network) ผลลัพธ์ด้านการจ้างงาน (Employment Outcomes) และ ความยั่งยืน(Sustainability) ปรากฏว่ามีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้รับการจัดอันดับทั้งสิ้น 13 มหาวิทยาลัย เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ที่ได้ 10 มหาวิทยาลัยอีก 3 มหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับเข้ามาใหม่ คือ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.นเรศวร และ ม.ศิลปากร

 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวต่อว่า สำหรับอันดับของมหาวิทยาลัยไทย ปรากฏว่าได้อันดับเพิ่มขึ้นเกือบทุกมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อันดับที่ 211  ม.มหิดล อันดับที่ 382   ม.เชียงใหม่ อันดับที่ 571   ม.ธรรมศาสตร์ อันดับที่ 600 ม.เกษตรศาสตร์ ได้อันดับที่ 751-760  ม.สงขลานครินทร์ อันดับที่ 901-950  ม.ขอนแก่น อันดับที่ 951-1000  ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อันดับที่ 951-1000  ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อันดับที่ 1201-1400  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อันดับที่ 1201-1400   ม.นเรศวร อันดับที่ 1201-1400  ม.ศิลปากร อันดับที่ 1201-1400 และ ม.เทคโนโลยีสุรนารี อันดับที่ 1201-1400 

“จากการจัดอันดับในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเข้มแข็งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยไทย โดยมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับนั้น แต่ละแห่งสามารถนำข้อมูลดังกล่าวซึ่งมีรายละเอียดของตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพ มาใช้ในการพัฒนาต่อไป” ศ(พิเศษ)ดร.เอนก กล่าว