วช.พร้อม ! เครือข่ายวิจัยพร้อม! รอชมได้เลย “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” โชว์ผลงานเด่นกว่า 1 พันชิ้น

News Update

กลับมาอีกครั้ง! กับเวทีนำเสนอผลงานวิจัยไทยระดับชาติ “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” โดย วช. ร่วมกับเครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศจัดขึ้นเป็นปีที่ 18 พร้อมโชว์ผลงานวิจัยที่โดดเด่นแห่งปี กว่า 1,000 ผลงาน  หวังเป็นเวทีเชื่อมโยงงานวิจัยให้ก้าวไกล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

              วันนี้ (24 กรกฎาคม 2566) ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย จัดแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 ( Thailand Research Expo 2023 )” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์  ภายใต้แนวคิดหลัก “ วิจัยไทยก้าวไกล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานในวันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00 น.

             ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในบทบาทของการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ในวงกว้าง  จึงได้จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ”  ขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549  เพื่อเป็นเวทีระดับชาติในการนำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์ และขับเคลื่อนให้เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้ และกระจายโอกาสในการเข้าถึงฐานข้อมูลความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม  ซึ่งมีการบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างองค์กรและเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ  สำหรับในปีนี้ วช. ได้จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” หรือ  “ Thailand Research Expo 2023 ” ขึ้น เป็นปีที่ 18   โดยจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยกว่า 1,000   ผลงาน  จากเครือข่ายระบบวิจัยร่วมจัดงาน กว่า 140 หน่วยงาน

             “ความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย ทั่วประเทศ และทุกภาคส่วนในครั้งนี้ถือว่าเป็นการร่วมกันนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาการผ่านผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ สามารถที่จะเชื่อมโยง การบูรณาการองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ อีกยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดกลไกในการพัฒนาส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้พัฒนางานวิจัย ผู้สร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม สู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้าง  การจัดงานดังกล่าวจึงถือว่าเป็นกลไกความร่วมมือที่มีความเข้มแข็งของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย ในการนำผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ รวมถึงการสนับสนุน การส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องที่จะนำสู่เป้าหมายในการพัฒนาขับเคลื่อน เศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และ มนุษยศาสตร์”

              สำหรับกิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “วิศวกรสังคมและนวัตกรสังคม เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ยั่งยืน” โดยพลเอกดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ องคมนตรี  “แก่นการพัฒนาประเทศบนพื้นฐาน SEP for SDGs” โดย ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา  และ “ บทบาทของการวิจัยและนวัตกรรมต่อขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศไทย”  โดย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว.   นอกจากนี้ยังมีการประชุมสัมมนา กว่า 100 หัวข้อ  ที่มีประเด็นที่น่าสนใจทั้งเรื่องของการบริหารจัดการงานวิจัย ปัญหาสำคัญของประเทศ และเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคม  อาทิ ทิศทางการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ,  การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน , การยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์:ชุมชนเข้มแข็งและมาตรฐานผลิตภัณฑ์, CEO Forum for Net Zero  รวมถึงการนำเสนอบทความผลงานวิจัย และการประชุมให้ความรู้ในช่วง Twilight Program

             พลาดไม่ได้… คือ ภาคนิทรรศการที่น่าสนใจ อย่างเช่น  นิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย   และการนำเสนอนิทรรศการผลงานวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย  ซึ่งมีการนำเสนอผลงานภายใต้ 6 Theme สำคัญ ได้แก่ 1) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG  ครอบคลุมงานวิจัยฯที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว สู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายคือ เกษตรและอาหาร  พลังงานและเคมีชีวภาพ  สุขภาพและการแพทย์ และการท่องเที่ยวและบริการ 2) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม    ครอบคลุมงานวิจัยฯ ที่เกี่ยวกับ การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ บริการดิจิทัล รวมทั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การพัฒนาประตูการค้าการลงทุน ศูนย์กลางคมนาคมระบบโลจิสติกส์และระบบราง การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรมขนาดใหญ่(IDEs)

              3) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ครอบคลุมงานวิจัยฯ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยใน15 สาขา เช่น งานฝีมือและหัตถกรรม ดนตรี  การแสดง   ภาพยนตร์   ซอฟต์แวร์ แฟชั่น อาหารไทย การแพทย์แผนไทยและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 4) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับสังคมอย่างยั่งยืน  ครอบคลุมงานวิจัยฯ ที่เกี่ยวกับ การพัฒนาสังคมสูงวัย  การพัฒนาคนทุกช่วงวัย การผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สังคมไทยไร้ความรุนแรง การคุ้มครองแรงงานไทย การพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่ทันสมัยสนับสนุนการสร้างสุขภาวะที่ดี  5)  งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน  ครอบคลุมงานวิจัยฯ ที่เกี่ยวกับ สังคมคาร์บอนต่ำ การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการขยะ  และ 6) งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพของชุมชน   ครอบคลุมงานวิจัยฯ ที่มีการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบาย ชุมชนสังคม และเชิงพาณิชย์ผ่านรูปแบบและกลไกต่าง ๆ

             นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา นิทรรศการนำเสนอบทความผลงานวิจัย    การจัดกิจกรรม Highlight Stage ซึ่งเป็นเวทีหลักที่ใช้เทคนิคการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความพร้อมใช้ประโยชน์ กิจกรรมการให้คำปรึกษาเรื่องการวิจัย   และการเจรจาธุรกิจ  รวมถึงการมอบรางวัลมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566  การประกวดนวัตกรรมสายอุดมศึกษา 2566  และการยกย่องเชิดชูเกียรติคุณนักวิจัย ทั้งศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น วช. และเมธีวิจัยอาวุโส วช.

                 สำหรับภายในงานแถลงข่าว ฯ  ดร.วิภารัตน์  ได้ร่วมเสวนาในเวที “Thailand Research Expo Talk : เวทีรวมพลังวิจัยไทยก้าวไกล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน”  ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา อาทิ  ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ  ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม   รศ.ดร.สุดเขตต์  นาคะเสถียร   ประธานเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย : RUN    รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล   ดร.เชาวลิต สิมสวย ผู้แทนประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และนายภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

             ปีนี้ วช.ได้เปิดตัว “นายพิพัฒน์  อภิรักษ์ธนากร”  ทูตวิจัยมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566  ซึ่งจะเป็นตัวแทนพลังคนรุ่นใหม่ในการสื่อสารงานวิจัยให้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 

             พร้อมกันนี้ภายในงานแถลงข่าว ฯ  ยังได้มีการจัดแสดงตัวอย่างผลงานวิจัยไฮไลท์  เช่น   การเปลี่ยนขยะเป็นกราฟีนมูลค่าสูง ผลงานต้นแบบจากทีมวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ที่สามารถผลิตกราฟีนวัสดุแห่งอนาคตจากขยะชีวมวล ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากกว่า 1,000 เท่า  หุ่นยนต์ล้างแผงโซล่าร์เซลล์ (Robotic Solar Cleaner) ผลงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่เน้นการใช้งานง่าย โดยยึดติดกับแผงโซล่าร์เซลล์ สั่งงานได้ผ่านมือถือ  

             โครงการฟื้นฟูและต่อยอดผ้าลายอย่าง เอกลักษณ์ อยุธยา “จุฬาพัสตร์” สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ผลงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ที่ต่อยอดความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูและยกระดับลายผ้าโบราณให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความร่วมสมัยแต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์จากมรดกภูมิปัญญาของชุมชน  

             การพัฒนามาตรฐานเพื่อรับรองคุณภาพ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากกัญชง : เฮมป์ครีตบล็อก และเฮมป์พาร์ทิเคิลบอร์ด  จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ที่ผู้ทำ ผู้ใช้ นักวิชาการ และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ร่วมมือกันร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์นวัตกรรมวัสดุก่อสร้างเฮมป์ครีตบล็อกและเฮมป์ พาร์ทิเคิลบอร์ดจากแกนกัญชงขึ้น เพื่อผลักดันผลงานวิจัยเข้าสู่อุตสาหกรรมและสามารถผลิตแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ และ การบริหารพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช อย่างยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งเป็นต้นแบบการเรียนรู้  ฟื้นฟูป่า  สู่ธนาคารธรรมชาติ  โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  สร้างความเข้มแข็งชุมชน  เพื่อรับมือวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก

             นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์จากโปรตีนจิ้งหรีด เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟังก์ชั่นนอลฟู้ด สูตรโปรตีนสูงไขมันต่ำ  ระบบลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะผสม   ผลงานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ  ที่ช่วยให้หน่วยงานประหยัดค่าใช้จ่ายในการสร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีความปลอดภัยสูงและการผลิตเครื่องปรุงรสจากปลาร้าด้วยเทคโนโลยีกล้าเชื้อจุลินทรีย์ ผลงานจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงที่สำคัญของอาหารไทย จากปลาน้ำจืดโดยกระบวนการหมักแบบธรรมชาติ

             งาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” หรือ “Thailand Research Expo 2023” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ที่ ห้องประชุมชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพ  ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.researchexpo.go.th