2 ทีมสจล. คว้าชนะเลิศ “ ICT Competition 2022-2023” หัวเว่ยพร้อมหนุนสร้างบุคลากร ICT ในไทย

i & Tech

หัวเว่ย ประเทศไทย จัดพิธีมอบรางวัลICT Competition 2022-2023” 2 ทีมจากสจล.คว้าชนะเลิศทั้งประเภทคลาวด์และเครือข่าย  ผู้บริหารฯเผยพร้อมส่งเสริมการสร้างบุคลากรไอซีทีและนักพัฒนาด้านคลาวด์ในไทย  ด้าน NIA ชี้ไทยยังขาดแคลนโปรแกรมเมอร์1ล้านตำแหน่ง เตรียมต่อยอดความร่วมมือหัวเว่ย   Upskill- Reskill หวังพัฒนากำลังคนด้าน ICT  เพิ่ม 100,000 รายภายใน 4 ปี  

               วันนี้ ( 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566) ที่สำนักงานใหญ่ หัวเว่ย ประเทศไทย  อาคารจีทาวเวอร์ เดอะแกรนด์ พระราม 9  กรุงเทพ  บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด จัดพิธีปิดการแข่งขัน “ ICT Competition 2022-2023”  และงานประชุมวิชาการด้านไอซีที (ICT Academy Instructor Conference)พร้อมมอบรางวัลให้กับทีมนักศึกษาไทยที่ชนะการแข่งขันจำนวน 6 ทีม ซึ่งจะได้รับทุนการศึกษาและรางวัลรวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท รวมถึงทีมชนะเลิศจะได้รับโอกาสพิเศษในการเข้าฝึกงานกับหัวเว่ย ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้สัมผัสประสบการณ์ตรงทางด้านอุตสาหกรรม และผลักดันให้นักศึกษาแสวงหาโอกาสต่อยอดที่มีจำนวนมากในยุคดิจิทัล 

นายโภไคย ศรีรัตโนภาส   (ซ้ายสุด) นายเจย์ เฉิน (กลาง)และนายปริวรรต วงษ์สำราญ (ขวาสุด)ให้เกียรติเข้าร่วมพิธีปิดการแข่งขัน ICT Competition 2022-2023

               สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ แบ่งเป็นสองประเภท คือ คลาวด์ และเครือข่าย โดยประเภทคลาวด์ ทีมชนะเลิศคือ ทีมจากคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)  รองชนะเลิศอันดับหนึ่งคือทีมจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล.และรองชนะเลิศอันดับสองคือทีมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)  ส่วนประเภทเครือข่าย ทีมชนะเลิศคือทีมจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ  สจล.  รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง คือทีมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. และรองชนะเลิศอันดับสองคือ ทีมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.   

               นายเจย์ เฉิน  ประธานคณะกรรมการหัวเว่ย ประเทศไทย  กล่าวว่า “ ในประเทศไทย มีคำกล่าวว่า “บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดริเริ่มพัฒนาทักษะบุคลากรของหัวเว่ย  ผมเชื่อมั่นว่าด้วยความพยายามร่วมกัน เราสามารถช่วยอุดช่องว่างและสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับความสำคัญในการเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับการศึกษาและพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพควบคู่กันไป”

               ทั้งนี้ในปี 2565 หัวเว่ย ประเทศไทย ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส ) จัดทำเอกสารแม่บท (white paper) เรื่องการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัลแห่งชาติของประเทศไทย (Thailand’s National Digital Talent Development) ซึ่งระบุถึงความท้าทายหลัก  11 ข้อ และข้อเสนอแนะด้านนโยบาย 5 ข้อ ตามเอกสารดังกล่าว เศรษฐกิจดิจิทัลจะเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (GDP) ภายในปี 2570  หัวเว่ยจึงได้ขยายขอบเขตการแข่งขันปีนี้ และเพิ่มทุนการศึกษาให้แก่ทีมผู้ชนะ เพื่อให้สอดรับกับคำมุ่งมั่นของบริษัทในการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านไอซีทีในไทย 

               สำหรับกลยุทธ์ในการพัฒนาบุคลากรดิจิทัลของหัวเว่ย นายเจย์ เฉิน  เปิดเผยว่า หัวเว่ยมีแผนในการสร้างนักพัฒนาด้านไอซีทีจำนวน 10,000 รายในปี พ.ศ. 2566  และสร้างนักพัฒนาด้านคลาวด์จำนวน 20,000 ราย ภายใน 3 ปี (พ.ศ. 2566 – 2568)  โดยหัวเว่ยมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจนในเรื่องของการส่งเสริมการสร้างบุคลากรไอซีทีและนักพัฒนาด้านคลาวด์ของประเทศไทย  การออกแบบโครงการพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากร รวมถึงการบริหารจัดการโครงการให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งหัวเว่ยได้จัดโครงการสำหรับผู้บริหารในแต่ละภาคอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการฝึกอบรมสำหรับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ  นอกจากนี้ยังมีโครงการฝึกทักษะและพัฒนาทักษะด้านอาชีพสำหรับหลากหลายกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย

               “ในการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรไอซีทีนั้น เราได้ทุ่มเทพัฒนาในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเนื้อหาสำหรับฝึกอบรม การจัดสรรบุคลากรในการฝึกอบรม สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก และการให้คำปรึกษาตลอดโครงการ รวมไปถึงการมอบโอกาสให้แก่นิสิตนักศึกษาที่ได้เข้ามาฝึกงานกับหัวเว่ย ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าโครงการฝึกงานได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง โครงการต่าง ๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทของหัวเว่ย ในการบ่มเพาะบุคลากรไอซีทีและนักพัฒนาด้านคลาวด์ให้มีศักยภาพ”

               อย่างไรก็ดีในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้มีการฝึกอบรมบุคลากรที่มีศักยภาพทางดิจิทัลสำเร็จหลักสูตรกว่า 70,000 คนในประเทศไทย นับเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ทำให้ได้รับรางวัล Prime Minister Award ด้าน “สุดยอดองค์กรดีเด่นด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” (Best Contributor in Human Capital Development) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตามกลยุทธ์การพัฒนาศักยภาพทางดิจิทัลปี 2566 ที่หัวเว่ยได้กำหนดเสาหลักการพัฒนาศักยภาพทางดิจิทัลสามประการสำคัญ ได้แก่ ภาวะผู้นำ (Leadership), องค์ความรู้และทักษะ (Knowledge and Skills), และวิชาชีพและอาชีพ (Profession and Vocation) 

               นอกจากนี้หัวเว่ยมีความร่วมมือที่ดีกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ซึ่งได้ช่วยพัฒนาและริเริ่มโครงการด้านไอซีทีของหัวเว่ยในหลากหลายโครงการ รวมไปถึงธุรกิจด้านคลาวด์ และการสนับสนุนธุรกิจ สตาร์ทอัพ  โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งหัวเว่ยเชื่อมั่นว่า AI ในประเทศไทยจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

               นายปริวรรต วงษ์สำราญ  ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมและศูนย์วิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย (Startup Thailand Center) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลต่อการขาดแคลนบุคลากร รวมไปถึงผู้ประกอบการนวัตกรรมที่มีทักษะในประเทศไทย ทาง NIAจึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะและความรู้ทางดิจิทัลที่จำเป็นสำหรับคนรุ่นต่อไป เพื่อให้พวกเขามีความพร้อมที่จะช่วยสร้างและส่งต่อด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  หัวเว่ย ซึ่งเป็นพันธมิตรภาคเอกชนที่สำคัญ ได้สนับสนุนการสร้าบุคลากรที่มีทักษะทางไอซีทีอย่างต่อเนื่อง และเราได้มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการและบุคลากรที่มีศักยภาพด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

                ที่ผ่านมา NIA มีความร่วมมือกับหัวเว่ย ในสองโครงการหลัก คือ โครงการ Startup  Thailand League ที่ส่งเสริมมหาวิทยาลัยแห่งการเป็นผู้ประกอบการ  โดยมีการพัฒนาองค์ความรู้ให้นิสิต นักศึกษา ระดับปริญญาตรี โทและเอก สร้างความเป็นผู้ประกอบการและต่อยอดได้ และมีการใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ยคลาวด์ ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน  เอไอ หรือ IoT ต่างๆ ซึ่งปีนี้หัวเว่ยได้มีการคัดเลือก 3 ทีมนักศึกษาไปแข่งขันต่อในระดับโลก ส่วนอีกหนึ่งโครงการคือการพัฒนาผู้ประกอบการ ที่เริ่มต้นทำธุรกิจแล้ว และอยากจะได้เทคโนโลยีหัวเว่ยคลาวด์ในการนำไปต่อยอด   

               “ สิ่งที่มองเห็นระหว่างดำเนินโครงการ คือการขาดแคลนกำลังคน เราผลักดันธุรกิจในด้านนี้มากขึ้นก็จริง แต่เราก็ต้องการกำลังคนที่ไปเติมเต็มด้วย โปรแกรมปีหน้าที่จะทำร่วมกับหัวเว่ย คืออยากพัฒนาเรื่องกำลังคนให้มากขึ้น อีกทั้งเป็นพันธกิจที่สำคัญของกระทรวงอว.ด้วย ที่อยากจะ Upskill- Reskill บุคลากรทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งคิดว่าโปรแกรมในการพัฒนา ICT ของหัวเว่ย เป็นโปรแกรมที่ดีที่คิดว่าจะต่อยอดความร่วมมือร่วมกัน”

               นายปริวรรต  กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเราขาดแคลนโปรแกรมเมอร์อย่างมาก ประมาณหนึ่งล้านตำแหน่ง จึงต้องมีการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลดีอยู่แล้วให้สามารถเข้าใจกระบวนการและต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว   ซึ่งจากความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ   รวมถึงหัวเว่ย  NIA คาดว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนากำลังคนด้าน ICT  ประมาณ 100,000 รายได้ภายใน 4 ปี  นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567  นี้เป็นต้นไป โดยจะมีทั้งการ Upskill, Reskill และการเพิ่ม Skill ใหม่ สำหรับคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมด้วย

                ด้านนายโภไคย ศรีรัตโนภาส ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านกิจการพิเศษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะและบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีต่อประเทศไทยว่า “ในการที่เราจะสร้างอีโคซิสเต็มด้านนวัตกรรมดิจิทัล สิ่งสำคัญประการแรกคือการดึงความชำนาญเฉพาะด้านของแต่ละมหาวิทยาลัยรวมถึงนิสิตนักศึกษาในสถาบันนั้น ๆ ออกมาต่อยอดความร่วมมือกับภาคเอกชนด้านงานวิจัย  ประการที่สองคือการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาคเอกชน รวมถึงการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ การให้เรียนรู้ปัญหาและกลยุทธ์ในการเดินหน้าสู่ความสำเร็จในโลกธุรกิจ และสิ่งสำคัญประการที่สามคือการสร้างระบบการเรียนรู้ ที่ช่วยส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาเลือกทำโครงการหรือเรียนรู้หลักสูตรต่าง ๆ ได้ตามต้องการ  สามสิ่งที่กล่าวมานี้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเร่งเสริมสร้างอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัลในประเทศไทยให้เกิดขึ้นได้อย่างเร็วและแข็งแกร่งขึ้น”

            สำหรับการแข่งขัน ICT Competition เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2558 ในฐานะโครงการความร่วมมือริเริ่มภายใต้ Huawei ICT Academy ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับองค์กร (school-enterprise project) ที่หัวเว่ยจัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการเสริมทัพบุคลากรที่มีทักษะด้านไอซีทีด้วยผู้ประกอบวิชาชีพที่มีคุณภาพระดับสูง ผ่านความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ 37 แห่งในประเทศไทย   ทั้งนี้หัวเว่ยได้เชิญชวนให้มหาวิทยาลัยอื่น ๆ  เข้าร่วมโครงการ ฯ  เพื่อสร้างระบบนิเวศบุคลากรที่มีศักยภาพแข็งแกร่งไว้รองรับความต้องการในยุคดิจิทัลในประเทศไทยต่อไป