บพข. เร่งดันธุรกิจ Functional Ingredients สร้างจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาหารมูลค่าสูงของไทย

News Update

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ เครือข่ายการสร้างนวัตกรรมอาหารและการส่งเสริมความรู้ด้านส่วนประกอบและอาหารเชิงหน้าที่ (Food Innovation and Regulation Network หรือ FIRN) ภายใต้สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารแห่งประเทศไทย (Food Science and Technology Association of Thailand หรือ FoSTAT) จัดงาน Functional Ingredients R&D Matching from the Ground Up เพื่อเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เชื่อมโยงนักวิจัย ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร อย. และหน่วยสนับสนุนทุน ให้ทำงานร่วมกันอย่างครบวงจร      

แนวโน้มการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพในปัจจุบันยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน (Functional Food) และส่วนประกอบฟังก์ชัน (Functional Ingredients) ขยายตัวใหญ่ขึ้น และมีมูลค่ากว่า 1.81 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยกว่า 50% อยู่ในแถบเอเชีย จากปัจจัยหนุนด้านการเติบโตของ Wellness Economy การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และความต้องการอาหารโลกที่เพิ่มมากขึ้น ทำผู้ประกอบหลายรายเริ่มให้ความสนใจในการเข้าสู่ตลาด Functional Foods มากขึ้นตามไปด้วย Functional Foods คืออาหารที่ได้รับการปรับปรุงให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นจากคุณสมบัติทางสารอาหาร ซึ่งสามารถช่วยปรับปรุงฟังก์ชั่นของร่างกายหรือลดความเสี่ยงต่อโรคได้ ในประเทศไทยได้มีนโยบายการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์อาหารที่มีกล่าวอ้างเชิงหน้าที่ (Food with Function Claims, FFC) อย่างเป็นระบบ

โดย บพข. เป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการพัฒนาระบบ FFC Thailand เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการกล่าวอ้างเชิงหน้าที่ของอาหารและสารสำคัญที่จัดอยู่ภายใต้การกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health Claim) ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาขีดความสามารถการออกตลาดผลิตภัณฑ์และขยายตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันของไทย โดยมุ่งเน้นให้มีการวิจัยและพัฒนา Functional Foods เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และคำนึงถึงความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เป็นหลัก

นอกจากนี้ บพข. ยังได้ให้การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีการตั้งโรงงานต้นแบบ (Pilot plant) จำนวน 9 แห่ง กระจายอยู่ตามมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อให้บริการกับภาคเอกชนที่ต้องการทดสอบผลิตภัณฑ์และขยายสเกลการผลิตอาหารมูลค่าสูงสู่ระดับอุตสาหกรรม ซึ่ง บพข. ได้ทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ FoSTAT และองค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อผลักดันการวิจัยพัฒนาและการตรวจสอบรับรอง การ Certificate of Analysis ของปริมาณสารสำคัญและคุณสมบัติอื่น ๆ ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการผลิต Functional Ingredients จากวัตถุดิบของไทย รวมทั้งการสร้างความเข้าใจทางภาควิชาการร่วมกับภาคธุรกิจในการวาง Market positioning พัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพร่วมกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถผลิต Functional Product แข่งขันสู้ในตลาดโลกได้

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา  บพข. ร่วมกับ FIRN ได้จัดงาน Functional Ingredients R&D Matching from the Ground Up เพื่อส่งเสริมการยกระดับความสามารถประเทศไทยให้เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบเพื่อ Functional Foods และเปิดพื้นที่ในการ matching ให้กับผู้ประกอบการ นักวิจัย และนักลงทุนที่มีแผนการพัฒนา Functional Ingredients ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยสู่ธุรกิจ Functional Foods โดยงานได้จัดขึ้นที่ห้องประชุมจามจุรี บอลรูม โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส โดยมี รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. เป็นประธานเปิดงาน

รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของ บพข. นั้นคือการทำให้ผู้ประกอบการของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งเราได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจเกษตรและอาหารมูลค่าสูงของประเทศ โดยเฉพาะด้าน Functional Ingredients และ Functional Foods ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของนักวิจัย และผู้ประกอบการธุรกิจ ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศที่จะสามารถตอบโจทย์ sustainability ด้านสุขภาพประชาชน และ BCG เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการสร้างธุรกิจผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงตลอด value chain ที่ทำให้เราสามารถใช้ Functional Ingredients จากภายในประเทศ และสามารถส่งออกไปแข่งขันในต่างประเทศได้ เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และธุรกิจสุขภาพอื่น ๆ ของไทย ซึ่งที่ผ่านมา บพข. ได้มีการสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาระบบนิเวศน์ที่เป็นทั้ง infrastructure และ value chain ด้าน ingredients และ functional โดยเราได้สนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน Pilot plant ที่มีความพร้อมเพื่อให้เอกชนสามารถมาใช้ทำการทดสอบ up scale การผลิตไปสู่ระดับอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันขีดความสามารถของผู้ประกอบการ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไทยให้แข่งขันในตลาดโลกได้

ด้าน ศ.ดร.ภาวิณี ชินะโชติ ที่ปรึกษา FoSTAT และหัวหน้าโครงการ FIRN ได้กล่าวถึงปัจจัยและระบบสู่ความสำเร็จ (Ecosystem) ของธุรกิจผลิตภัณฑ์เชิงฟังก์ชั่นของไทยว่า ธุรกิจ Functional Foods และ Functional Ingredients นั้นมีความน่าสนใจมากและมีการเติบโตสูง แต่ถึงแม้ธุรกิจ Functional Foods ในไทยประเทศไทยจะเติบโตได้ดี แต่การเติบโตของธุรกิจ Functional Ingredients ยังคงแบนราบ การจะทำให้ธุรกิจ Functional Ingredients ในไทยเติบโตขึ้นได้นั้นจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนให้เกิดการนำไปใช้ที่สอดคล้องกับโมเดล BCG คือการนำทุกส่วนของ Functional Ingredients มาใช้ประโยชน์ ทำให้ผู้ประกอบการต้นน้ำมีรายได้ที่สูงขึ้นและมีชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับการพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพด้าน Functional Ingredients และ Functional Foods รวมทั้ง Nutraceuticals และเวชสำอางนั้น

สิ่งสำคัญที่เราต้องทำคือการพัฒนาวัตถุดิบให้เป็นแหล่งของสารสำคัญที่ได้มาตรฐานนานาชาติ มีการประยุกต์ใช้ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มศักยภาพการผลิตวัตถุดิบตลอดห่วงโซ่ เช่น การปลูก การแปรรูปเบื้องต้น การสกัด และการควบคุมอายุการเก็บรักษา สิ่งต่อมาคือการพัฒนาธุรกิจ Functional Ingredients ที่ส่งทอดรายได้สู่เกษตรกรต้นน้ำ เราจะต้องโยงให้ SME เกษตรกร และชุมชนทั้ง supply chain สามารถเข้ามาในธุรกิจ Functional Foods ได้ ช่วยให้เกิดการกระจายรายได้จากธุรกิจอาหารมูลค่าสูงตกทอดลงมาสู่เกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบที่ต้นน้ำ และอีกสิ่งหนึ่งคือการพัฒนาทั้งระบบอาหารเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่จับต้องได้จริง เชื่อมโยงจากพื้นที่ต้นน้ำการเกษตรไปสู่ผลผลิตของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จึงจะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนของประเทศไทย หรือที่เรียก Paradigm Shift ด้วยมิติใหม่ของการทำวิจัยพัฒนาเกษตรอาหารมูลค่าสูง ทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่สามารถทำธุรกิจของตัวเองได้ในบริบทของชุมชนและภูมิภาคที่อาศัยอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาหางานทำในเมือง อันจะก่อให้เกิดการลดลงของจำนวนประชากรไทยที่อยู่ในกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 40% และกำลังลดลง ทำให้เกิดความไม่เสถียรของระบบอาหารประเทศไทย ฉะนั้นธุรกิจการเป็น supplier ในระดับผู้ผลิตวัตถุดิบของไทย ซึ่งอาจจะอยู่ในระดับตำบลหรือระดับจังหวัดจะต้องโตขึ้น บริษัทยักษ์ใหญ่จึงจะซื้อวัตถุดิบเหล่านี้ไปใช้ ตรงนี้เป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่จะทำให้ ecosystem การผลิตอาหารมูลค่าสูงของไทยเสถียรได้

นายจีระศักดิ์ คำสุริย์ ผู้จัดการแผนกวิจัยอุตสาหกรรมและกลยุทธ์สถาบันอาหาร ได้วิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรม Functional Ingredients ของไทยจากทิศทางการลงทุนของ Global players ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรม Functional Ingredients ทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Biotechnology ในขณะที่ประเทศไทยกลับขาดดุลการค้า เนื่องจากมีการนำเข้าวัตถุดิบทั้งสารสกัดและส่วนประกอบฟังก์ชันมากกว่าการส่งออก จึงทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก และส่วนแบ่งตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งสาเหตุมาจากการลงทุนทำ Functional Ingredients ขนาดใหญ่ในไทยนั้นยังมีไม่มากเพราะต้องใช้ต้นทุนการผลิตสูง ทำให้แข่งขันได้ยากกับสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นผู้เล่นหลักของตลาดโลกด้านการส่งออก Functional Ingredients

นอกจากนี้ยังพบว่ามีอุปสรรคด้านมาตรฐานของวัตถุดิบไทยที่ส่วนใหญ่ยังขาดมาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนด สารสำคัญที่สกัดได้จึงมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ นายจีระศักดิ์ จึงได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสารประกอบเชิงฟังก์ชันของไทยว่าควรมีการสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ ด้วยการเพิ่มการวิจัยพัฒนาเพิ่มศักยภาพวัตถุดิบและการสกัดให้มีคุณภาพคงที่มากขึ้น การเพิ่มศักยภาพโรงงานสกัดสมุนไพร การพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการทดสอบและทดลอง ตลอดจนการอำนวยความสะดวกการขึ้นทะเบียน พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีฐานข้อมูลวิชาการด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการบริโภค เพื่อให้สามารถขอขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานกำกับ (อย.) ในการกล่าวอ้างทางสุขภาพได้ นอกจากนี้รัฐควรมีการออกมาตรการดึงดูดการลงทุนเชิงรุก มาตรการสนับสนุน technical service provider มาตรการดึงดูด talent และสนับสนุนธุรกิจให้เติบโตแบบ In-organic growth

ภายในงานยังได้มีการเสวนาถึงแนวทางการยกระดับนวัตกรรมและธุรกิจ Functional Ingredients เพื่อผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพและเชิงหน้าที่ของไทย โดย ภญ.วิวรรณ ชมพืช เภสัชกรชำนาญการกลุ่มทะเบียนผลิตภัณฑ์ กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดร.ภก.ชาญณรงค์ เตชะอังกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย น.สพ.ดร.กษิดิ์เดช ธีรนิตยา CEO และ Co-founder ของบริษัท Morena Solutions จำกัด โดยได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับเทรนด์ของ Functional Product และ Functional Ingredients ในไทยและตลาดโลก ซึ่งในขณะนี้ Functional Ingredients กลุ่มโปรไบโอติกคือสิ่งที่ตลาดโลกมีความต้องการมากที่สุด คิดเป็น 28% ของตลาด รวมถึงกลุ่มวิตามินต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง สำหรับ Functional Product ผลิตภัณฑ์กลุ่มเบเกอรี่และซีเรียลได้รับความนิยมสูงที่สุด คิดเป็น 28% รองลงมาคือกลุ่มผลิตภัณฑ์นม คิดเป็น 27% สาเหตุมาจากไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่ต้องการบริโภคอาหารที่สามารถทานได้อย่างสะดวกและมีโภชนาการสูง นอกจากนี้ยังได้มีการพูดคุยถึงกฎ ข้อบังคับ เพื่อความสำเร็จในด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรและอาหาร เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจแนวทางการขอยื่น health claim ผ่าน อย. รวมไปถึงการขับเคลื่อนระบบนิเวศน์เพื่อพัฒนา Functional Ingredients โดยได้มีการให้ข้อเสนอแนะแลกเปลี่ยนแนวคิดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรม และตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพกับผู้เข้าร่วมงาน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวิจัยพัฒนาผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้ปฏิบัติตามแนวทาง และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยตลอดห่วงโซ่ได้

ในช่วงท้ายของงานได้มีการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการขยายการผลิตของอาหารฟังก์ชั่น และการจัดการด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดย ดร.ธเนศ เหล่ารบ อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร และที่ปรึกษาแผนกวิจัยและพัฒนา บริษัท เกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด เพื่อแนะแนวทางการนำไปใช้ในงานวิจัยหรือการวิเคราะห์ Functional Food และ Functional Ingredients เพื่อนำงานวิจัยสู่การพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ รวมทั้งได้มีการจัดกิจกรรม “Star Search – R&D Matching for Success เฟ้นหาสุดยอดนักวิจัย หนุนไอเดียธุรกิจสู่ทางรุ่งผลิตภัณฑ์เชิงฟังก์ชั่น” ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงาน และพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ร่วมกับผู้ประกอบที่มีความสนใจในธุรกิจ Functional Food และ Functional Ingredients เพื่อพัฒนาเครือข่ายและการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการในนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

ธุรกิจด้าน Functional Foods และ FFC นับว่าเป็นธุรกิจสำคัญของไทย ที่นอกจากจะทำให้เกิด market share ใหม่แล้วยังทำให้เกิดการขยายรายได้สู่ผู้ผลิตต้นน้ำ เช่น เกษตรกร ผู้ผลิตที่มีโรงงานอาหารหรืออื่น ๆ ซึ่งมีวัตถุดิบเหลือใช้อยู่ในมือ (เช่น เปลือกมังคุด/สับปะรด น้ำนึ่งปลา รำข้าว) และผู้ผลิต Functional Ingredients ที่อาจเป็นผู้ประกอบการเดิม start-up หรือผู้ประกอบการต่างชาติที่มีเทคโนโลยีและสนใจร่วมมือกับบริษัทไทย เหล่านี้ล้วนเป็นแนวทางการขยายธุรกิจที่อาจจะไม่ติดกับ road block ทางวิชาการที่ยากและใช้เวลานานในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการยื่นขออนุญาตกับ อย. ในประเทศและในต่างประเทศ

ซึ่ง บพข. ได้ดำเนินงานในการสนับสนุนให้เกิดระบบ FFC Thailand เพื่อเป็นเครื่องมือยกระดับมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน Functional Ingredients และ Functional Foods ให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผ่านการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้ง FoSTAT อย. สวก. ให้เป็นเครือข่ายในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาและขับเคลื่อนให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ ๆ เกิดธุรกิจ และอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ทำให้อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ และสร้างกำลังคนที่มีทักษะความสามารถที่สูงขึ้น แข่งขันในตลาดโลกได้