อว.ลงพื้นที่โครงการ U2T จ.ลำปาง พร้อมยกระดับเกษตรอินทรีย์พัฒนาชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว

News Update

“เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รมว.การอุดมศึกษาฯ นำผู้บริหาร อว.ลงพื้นที่โครงการ U2T จ.ลำปาง เตรียมยกระดับเกษตรอินทรีย์ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยว

            เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 64 ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) พร้อมผู้บริหาร อว.ลงพื้นที่โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการหรือมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ(U2T) ที่ศูนย์การเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บ้านหล่ายทุ่ง ต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เพื่อติดตามนักศึกษาที่ได้รับการจ้างงานโครงการ U2T และเยี่ยมชมโครงการเกษตรอินทรีย์วอแก้ว ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ทำการเกษตรของทุกหมู่บ้าน

            ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก กล่าวว่า ต้องขอบคุณโควิด-19 วิกฤตินี้ ทำให้รัฐบาลได้จ้างงานนักศึกษาและประชาชนเพื่อบรรเทาการว่างงานด้วยความเป็นห่วงพี่น้องประชาชน  ขณะที่ อว.เองได้นำมาคิดต่อว่าการจ้างงานของเราต้องไม่เพียงแต่ทำให้หายจากความทุกข์เท่านั้น  แต่ต้องทำให้มากกว่า คือ ให้ทั้งวิชาการความรู้ การเพิ่มและพัฒนาทักษะ ให้ประสบการณ์การทำงานในพื้นที่กับชุมชนและการทำงานแบบเป็นทีม  มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยง พร้อมจัดกิจกรรมเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้รู้จักพูดคุยกับคนมากหน้าหลายตา จึงอยากให้ผู้ได้รับการจ้างงานรักษาโอกาสนี้ไว้ การจ้างงานครั้งนี้ จะให้อนาคตใหม่เพื่อให้ทุกคนนำไปต่อยอดอาชีพในอนาคตได้

            “อย่างไรก็ตาม เท่าที่มีการประเมินเบื้องต้น พบว่าโครงการ U2T มีผลตอบรับดีมาก แต่ละเดือนทำให้มีเงินไหลเข้าตำบลดีมาก ผมจึงได้กำชับทางตำบล อบต. เทศบาล ช่วยทำให้มีเงินไหลเวียนอยู่ในชุมชนให้มากที่สุดเพื่อช่วยเศรษฐกิจชุมชน” รมว.อว.กล่าว

             ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก กล่าวอีกว่า สำหรับในพื้นที่ที่ศูนย์การเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบ้านหล่ายทุ่ง ต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง นักศึกษาที่ได้รับการจ้างงานโครงการ U2T จะร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ตราสินค้า สลากสินค้า  บรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมการตลาดและช่องทางการตลาด ได้แก่ อบรมพัฒนาตลาดออนไลน์  อบรมการคำนวณต้นทุนผลิตภัณฑ์ อบรมการจัดทำบัญชี อบรมการจัดการของเสียจากการผลิต นอกจากนั้น จะมีการยกระดับอาชีพเกษตรกรรม เช่น การส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก ที่ชุมชนยังขาดความรู้ในเรื่องการตรวจสอบสารอาหารในปุ๋ย และจากการสำรวจพื้นที่ในชุมชนและจากการค้นหาข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับการทำปุ๋ยพบว่า กระถินป่าที่มีอยู่ในชุมชนจำนวนมากสามารถนำมาทำปุ๋ยหมักได้ ผลการวิจัยพบว่ากระถินมีสารอาหารที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากมีปริมาณธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม

            และที่สำคัญจะมีการพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยว เพราะวอแก้วพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นพื้นที่ภูเขาและเนินเขา มีความสวยงาม มีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แม่วังฝั่งขวา อุทยานขุนตาล และมีวัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญ  ได้แก่ ประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุ วัดม่อนป๋อปอดอยแล รวมทั้งมีแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วยแม่ไพร ห้วยแม่เปิ๊บ ห้วยแม่ติว ห้วยบก ห้วยซ้อน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติและการเกษตร  ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวสนใจทำกิจกรรมในชุมชนจำนวนมาก เช่น นักปั่นจักรยาน ผู้สนใจเข้ามาอบรมการทำการเกษตรอินทรีย์ และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักโฮมสเตย์ เป็นต้น  โดยจะต้องมีการพัฒนาภูมิทัศน์ชุมชน เช่น การใช้ต้นพืชผักที่เพาะปลูกในการจัดสถานที่ การปรับปรุงภูมิทัศน์โดยใช้ภูมิปัญญาชุมชนและสอดรับกับวิถีชุมชน