ไบโอเทคเปิดตัว SOP คู่มือใช้สารชีวภัณฑ์ในทุเรียน ย้ำ!ต้องใช้แบบ “ถูกต้อง ถูกวิธี ถูกเวลา”

ออนไซต์-ในสนาม

               ยอมรับและเข้าใจถึงประโยชน์ของ “สารชีวภัณฑ์” ผลผลิตจากจุลินทรีย์ตามธรรมชาติที่สามารถทำลายศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมีที่อันตรายทั้งต่อเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม   ซึ่งหลาย ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเชื่อกันว่าจะเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับนโยบาย “Thai go Green” ภาคการเกษตรของรัฐบาล  

               แต่การผลักดันให้เกิดการใช้สารชีวภัณฑ์ในกลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงไม่ใช่เรื่องง่าย… เพราะ “สารชีวภัณฑ์”  ไม่ใช่ว่าแค่ซื้อมาใช้แล้วจะสามารถแก้ปัญหา หรือกำจัดศัตรูพืชได้อย่างครอบจักรวาล หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง ไม่ถูกวิธี และไม่ถูกเวลา  ย่อมไม่ได้ผล

                “การใช้งานชีวภัณฑ์อย่างเหมาะสม” จึงถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญของการอบรมเชิงเชิงปฏิบัติการเรื่อง “เรียนรู้การจัดการโรคและแมลงในทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์”  ซึ่งทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง จัดขึ้นที่สวนทุเรียนของ “คุณสันติ จิรเสาวภาคย์”   อ.บ้านค่าย จ. ระยอง  ซึ่งเป็นแปลงทดลองการใช้สารชีวภัณฑ์ในการควบคุมโรค ที่ทำให้ทุเรียนในสวนแห่งนี้ยืนต้นตายไปกว่า 100 ต้น

               พร้อมทั้งเปิดตัว Standard Operating Procedure หรือ SOP  สำหรับการใช้ชีวภัณฑ์แบบผสมผสานในพืชเศรษฐกิจ “ทุเรียน”  ซึ่งได้มีการรวบรวมองค์ความรู้ จัดทำเป็นคู่มือการจัดการศัตรูทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจร

               “ดร.วรรณพ วิเศษสงวน”  ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช.  กล่าวว่า  ประเทศไทยมีความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพสูงมาก ทั้งจุลินทรีย์ พืช และสัตว์  ซึ่งทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ของไบโอเทค  สวทช. ได้ศึกษาความหลากหลายของสายพันธุ์จุลินทรีย์  มุ่งค้นหาและศึกษาความเป็นประโยชน์ของจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตร ที่เน้นค้นหาจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นชีวภัณฑ์ การย่อยสลายวัสดุเหลือทิ้งจากไร่นา และจุลินทรีย์ที่กระตุ้นการเจริญเติบโตและการดูดซับธาตุอาหารที่มีประสิทธิภาพ

                ปัจจุบันไบโอเทค สวทช. มีคลังจุลินทรีย์ของประเทศ (TBRC) ที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับต้น ๆ ของเอเชีย จากการวิจัยยาวนานกว่า 20 ปี ทำให้สามารถคัดกรองและคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช โรคและแมลงสำคัญในพืชเศรษฐกิจของประเทศ และผลักดันการใช้ประโยชน์ชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืช เช่น ราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) สำหรับควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไก่แจ้ แมลงหวี่ขาว ฯลฯ และราเมตาไรเซียม (Metarhizium) สำหรับควบคุมไรแดงชนิดต่าง ๆ  

               นอกจากนี้ยังมีชีวภัณฑ์จากแบคทีเรียและราเพื่อควบคุมโรคพืช เช่น ราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma) ควบคุมราก่อโรคพืชต่าง ๆ เช่น โรครากเน่า-โคนเน่าจากเชื้อราไฟทอปธอร่า เป็นต้น  ซึ่งชีวภัณฑ์เหล่านี้หากได้รับการส่งเสริมการใช้อย่างเหมาะสมไปสู่เกษตรกร จะเป็นการลดการใช้สารเคมีในอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ สนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

                “ งานอบรมเชิงปฏิบัติการที่จัดขึ้นนี้  เป็นตัวอย่างของการนำงานวิจัยที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของทรัพยากรทางชีวภาพ  โดยนำจุลินทรีย์มาทำเป็นสารชีวภัณฑ์เพื่อทดแทนการใช้ยาฆ่าแมลงกำจัดศัตรูพืชต่าง ๆ  ซึ่งถือเป็นความสำเร็จ และตอบโจทย์นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอว. ที่อยากให้งานวิจัย และนวัตกรรมต่าง ๆ ออกมาตอบโจทย์และเข้าถึงเกษตรกร โดยสิ่งที่นำมาจัดแสดงนั้นมีการทดสอบแล้วในพื้นที่จริงว่าได้ผล  และอยากให้เกษตรกรนำไปขยายผลใช้งานต่อไป  ซึ่งสิ่งที่สำคัญ ก็คือ  การใช้ได้อย่างถูกต้อง  ซึ่งไบโอเทคมีการรวบรวมองค์ความรู้เป็น SOP คู่มือการจัดการศัตรูทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจร  ซึ่งโรคพืชและแมลงมีหลากหลาย  แต่ละพืชก็จะมีโรคที่แตกต่างกัน คนส่วนใหญ่จะคิดว่าง่าย  ซื้ออะไรมาใช้ก็ได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง  เหมือนกับการรักษาโรคที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่าเป็นโรคอะไร จึงจะแก้ได้ตรงจุด ถ้าวินิจฉัยโรคผิดก็จะไม่ได้ผล” 

                “ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา” รองผู้อำนวยการไบโอเทค  กล่าวว่า การอบรมดังกล่าว  เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area based): การจัดการทำแบบมาตรฐานจัดการศัตรูพืช (Standard Operating Procedure: SOP) โดยใช้ชีวภัณฑ์แบบผสมผสานในพืชเศรษฐกิจ ทุเรียน”   ซึ่งภาคตะวันออก ถือเป็นเป้าหมายในเรื่องของทุเรียน  ปัจจุบันทีมวิจัยมีการทดสอบชีวภัณฑ์กับทุเรียนในพื้นที่จังหวัดระยองและจันทบุรี และได้มาซึ่งองค์ความรู้ที่จะสามารถเอามาสังเคราะห์และจัดทำเป็นคู่มือให้เกษตรกรสามารถดูแลรักษาสวนทุเรียนจากการเกิดโรคและศัตรูพืชเข้าทำลาย โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของสวนทุเรียนในปัจจุบัน  รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถใช้ชีวภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ    ช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมี  ไม่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม  และลดปัญหาการตรวจพบสารเคมีตกค้าง  ทำให้สามารถยกระดับทุเรียนสู่มาตรฐานการส่งออกได้  

               ด้าน “นางอุบล มากอง”  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง  กล่าวว่า ปัจจุบันภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรีและตราด  มีผลผลิตผลไม้ต่าง ๆ เช่น ทุเรียน เงาะ และมังคุด รวมประมาณ 1.1 ล้านตัน  เป็นผลผลิตทุเรียนกว่า 7 แสนตัน ซึ่ง 80 % เป็นการส่งออก   โดยทุเรียนยังมีปัญหาเรื่องของต้นทุนการผลิตและ ความปลอดภัยในการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า  จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสวนทุเรียนที่มีประสิทธิภาพ อย่างเช่น ความร่วมมือในการจัดการแมลงศัตรูพืชด้วยชีวภัณฑ์ รวมถึงความร่วมมือด้านอื่น ๆ ในอนาคต อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืม คือเรื่องของต้นทุนการผลิตและความง่ายของการจัดการและเข้าถึงเทคโนโลยีด้วย

               ขณะที่ “นางสาววรนุช  สีแดง”   เกษตรจังหวัดระยอง  บอกว่า เป็นโอกาสดีของจังหวัดระยอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้การจัดการโรคและแมลงในทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์ ของ สวทช.  ซึ่ง ทุเรียน เป็นพืชที่จัดการค่อนข้างยากโดยเฉพาะเรื่องโรคแมลง  ทำให้ทุกวันนี้มีการใช้สารเคมีค่อนข้างเกินความจำเป็นและทำให้เกิดความสูญเสียทั้งเรื่องต้นทุนการผลิต  ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

               “ ในช่วง5 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในจังหวัดระยอง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่า 50 %  โดยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนไม่ต่ำกว่า1 แสนไร่  ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การปลูกทุเรียนประสบผลสำเร็จหรือไม่ ก็คือเรื่องการจัดการโรคและแมลง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเกษตรกรใช้สารเคมี ซึ่งมีผลเสียเป็นจำนวนมาก   การผลักดันให้ใช้สารชีวภัณฑ์จึงถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยให้ภาคการเกษตรลดการใช้สารเคมี และเป็นวิธีการที่ยั่งยืน ปลอดภัยทั้งชีวิตและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องของต้นทุนการผลิต ซึ่งจะลดลงอย่างแน่นอนถ้าเกษตรกรรู้จักประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับสวนของตนเอง ซึ่งเชื่อว่าเรื่องชีวภัณฑ์  ปัจจุบันเกษตรกรกว่า 50 %  รับรู้และเข้าใจแล้วและกำลังเดินหน้าไปสู่การใช้ชีวภัณฑ์อย่างจริงจัง แต่อาจจะยังติดปัญหาเรื่องของหัวเชื้อต่าง ๆ ที่เกษตรกรยังไม่สามารถผลิตเอง ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจะมีแนวทางในการส่งเสริมต่อไป”

                 “ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน”  นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค สวทช. เปิดเผยว่า  ทราบกันดีว่าเราเป็นเกษตรกรรมที่พึ่งพาสารเคมีจำนวนมาก เวลาใช้ไม่ได้ผลก็เพิ่มจำนวน  ปัจจุบันไทยนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกว่า 1 แสนตัน มูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท  ผลที่ตามมา คือการเจ็บป่วย มากกว่า 4,000 รายต่อปี   นอกจากนี้ในช่วงระหว่างปี 2559-2562 ยังมีผู้เสียชีวิตจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มากกว่า 2,000 ราย เกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมกระทบอุตสาหกรรมสัตว์น้ำและการท่องที่ยว

               “ สิ่งที่อยากจะนำเสนอคือสิ่งชีวิตที่มาจากธรรมชาติ ที่เรียกกว่า ชีวภัณฑ์  ซึ่งมีความยั่งยืน ไม่เป็นพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราพยายามสาธิตให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับสารเคมี  ซึ่งจริง ๆแล้วประเทศไทยมีสมบัติอันล้ำค่า คือ เรามีคลังจุลินทรีย์ของประเทศ ที่มีความสามารถต่าง ๆ อย่างเช่น ชีวภัณฑ์ที่ใช้ในสวนทุเรียน อย่าง ราบิวเวอเรีย ราเมตาไรเซียม ราไตรโคเดอม่า  และโปรตีนวิป ซึ่งมีบริษัทมารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว”

               สำหรับการดำเนินการในพื้นที่ ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจโรคและแมลงศัตรูที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่จังหวัดระยอง และทดสอบประสิทธิภาพของชีวภัณฑ์ในการจัดการสวนทุเรียน ทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการระบาดของโรคและแมลงสำคัญ เพื่อสร้างองค์ความรู้และกระบวนการจัดการปัญหาโรคและแมลงในสวนทุเรียนด้วยชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมีที่มีอันตราย  โดยได้คัดเลือกพื้นที่สวนคุณสันติ  เป็นพื้นที่ทดสอบการใช้ชีวภัณฑ์ระดับแปลงและจัดทำเป็นแปลงสาธิตแสดงประสิทธิภาพของสารชีวภัณฑ์แก่ผู้ปลูกทุเรียน โดยมีเป้าหมายในการแก้ปัญหา ยุติความสูญเสียจากการยืนต้นตายของต้นทุเรียน

               ทั้งนี้ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจโรคและแมลงที่เป็นปัญหาในแปลง พูดคุยสร้างความเข้าใจและถ่ายทอดความรู้เรื่องชีวภัณฑ์กับคุณสันติและคุณพ่อ รวมไปถึงคนงานที่อยู่ในสวนอย่างใกล้ชิด มีการทดสอบประสิทธิภาพของการใช้ชีวภัณฑ์ทั้งแบบแปลงที่มีการใช้สารชีวภัณฑ์อย่างเดียวตามการระบาด แบบผสมผสานชีวภัณฑ์และสารเคมี  และแบบวิธีดั้งเดิมตามแนวทางของเกษตรกรที่ใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียว

               โดยเริ่มการทดสอบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-ปัจจุบัน พบว่า ชีวภัณฑ์มีประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงศัตรูได้ดีหรือเทียบเท่าสารเคมี และยังพบการเพิ่มขึ้นของแมลงศัตรูธรรมชาติที่มีประโยชน์ (แมลงดี) ในแปลงที่ใช้ชีวภัณฑ์และผสมผสานมากกว่าแปลงสารเคมี แสดงให้เห็นว่าการใช้ชีวภัณฑ์สามารถฟื้นคืนสมดุลธรรมชาติระบบนิเวศในสวนทุเรียนได้ดี ในด้านของโรคทุเรียน พบว่า ชีวภัณฑ์สามารถหยุดการตายของต้นทุเรียนได้ ต้นทุเรียนค่อย ๆ ฟื้นตัว

                ดังนั้น ทีมวิจัยจึงได้สนับสนุนให้คุณสันติฉีดพ่นไตรโคเดอร์มาแบบปูพรมทั้งสวน เพื่อลดความรุนแรงของเชื้อราไฟทอปธอร่า และไตรโคเดอร์มา ทั้งยังสามารถส่งเสริมความแข็งแรงของพืชได้อีกด้วย เมื่อพิจารณาด้านคุณภาพและปริมาณผลผลิต พบว่า การใช้ชีวภัณฑ์หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวภัณฑ์ร่วมกับสารเคมี ไม่ส่งผลเสียต่อรสชาติและคุณลักษณะภายนอกของผลทุเรียน และทุเรียนยังให้ผลผลิตใกล้เคียงกับการใช้สารเคมีคือ เฉลี่ย 43-57 ผล/ต้น

               ขณะที่ “นายสันติ จิรเสาวภาคย์” เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน  เจ้าของพื้นที่ทดสอบ  กล่าวว่า สวนทุเรียนของตน เกิดประสบปัญหาต้นทุเรียนติดเชื้อรากเน่าโคนเน่าจากราไฟทอปธอร่าและพิเทียมที่รุนแรง ทำให้มีการยืนต้นตายของทุเรียนหลายสิบต้นเกิดความเสียหายอย่างมาก   จึงได้ปรึกษาทางทีมวิจัยของไบโอเทค ซึ่งมีความรู้เรื่องชีวภัณฑ์ และได้ทำการทดสอบในสวนทุเรียนของตน โดยถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องโรคและแมลง และการจัดการสวนทุเรียน ผลลัพธ์ที่เห็นได้ทำให้มีความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดโรคแมลงในสวนทุเรียนมากขึ้น ปัจจุบันทางทีมวิจัยยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเก็บข้อมูลผลผลิตในอีกหนึ่งรอบการผลิต

               ดร.อลงกรณ์ หัวหน้าทีมวิจัย บอกอีกว่า ชีวภัณฑ์คือสิ่งมีชีวิตจากธรรมชาติ ดังนั้นจะใช้ระยะเวลาในการเข้าทำลายตัวแมลงหรือตัวโรคพืช ดังนั้นเราจะต้องเรียนรู้ที่จะใช้อย่างถูกเป้าหมาย หมายความว่าจะต้องรู้ว่าเชื้อชนิดนี้เหมาะกับแมลงศัตรูพืชชนิดใด และต้องใช้อย่างถูกเวลา  เนื่องจากชีวภัณฑ์เหล่านี้เป็นสิ่งมีชีวิตดังนั้นการฉีดพ่นในขณะที่มีแสงแดดจัด มีความร้อนสูงจะทำให้ชีวภัณฑ์เหล่านี้ตายได้    และจะต้องฉีดพ่นให้ถูกตัว เช่น เชื้อรา ตัวชีวภัณฑ์จะออกฤทธิ์ก็ต่อเมื่อเกาะติดตัวศัตรูพืช จึงจะเข้าไปทำลายศัตรูพืชได้  ดังนั้นเราจึงเน้นว่า “ชีวภัณฑ์” ที่ผ่านมา อาจจะไม่ได้มีการนำเสนอเยอะ แต่ต้องย้ำว่าต้องใช้แบบถูกเป้าหมาย ถูกเวลา และถูกวิธี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ  โดยจะระบุใน SOP ของทุเรียน ซึ่งเป็นต้นแบบของพืชเศรษฐกิจหลัก

                นอกจากทุเรียนแล้วทีมวิจัยฯ ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพในระดับแปลงในหลากพืชพันธุ์และหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย อาทิ โหระพาเพื่อการส่งออก จ.นครปฐม  กล้วยไม้เพื่อการส่งออกในกลุ่มผู้ผลิตกล้วยไม้ภาคกลาง-ตะวันตก  ถั่วฝักยาวและพริก จ.ราชบุรี  เมล่อน จ.พระนครศรีอยุธยา และมังคุด จ.จันทบุรี เป็นต้น

               โดยชีวภัณฑ์ที่ใช้อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างไปจากสารเคมี นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้ริเริ่มจัดทำระบบสนับสนุนการใช้ชีวภัณฑ์แบบ one stop service ที่เชื่อมต่อเกษตรกร นักวิชาการ และผู้ผลิตชีวภัณฑ์ รวมถึงเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลผู้ให้บริการตรวจสอบสภาพอากาศ เพื่อสร้างผู้ช่วยส่วนตัวของเกษตรกรในการวินิจฉัยโรคและแมลง แนะนำ SOP หรือมาตรฐานการปฏิบัติงาน ในแต่ละพืชและชีวภัณฑ์ที่เหมาะสม และเป็นที่รวบรวมผู้ผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐานมาให้บริการเกษตรกร คาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดใช้งานได้ในปี 2567  และคาดหวังว่าระบบนี้จะสนับสนุนให้เกิดการใช้ชีวภัณฑ์เป็นวงกว้างและยั่งยืนได้ต่อไป