“พรหมรัศมี ฟาร์มสเตย์” โมเดลนำร่องใช้ วทน.ยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ออนไซต์-ในสนาม

วว. ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง นำวทน.ยกระดับมาตรฐานผลผลิตและการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไทย นำร่องจังหวัดราชบุรีเป็นโมเดลต้นแบบ ก่อนขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ  ต่อไป

ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า  นางสาวศุภมาส   อิศรภักดี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบนโยบายขับเคลื่อนเชิงพื้นที่  โดยสนับสนุนให้ วว. และมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (มรมจ.) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับมาตรฐานผลผลิตทางการเกษตร พร้อมให้ความรู้ด้านมาตรฐานท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้สถานที่ท่องเที่ยวของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ช่วยสร้างโอกาสและความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจ ทั้งนี้ได้มีการนำร่องที่จังหวัดราชบุรีเป็นโมเดลต้นแบบ

โดย วว. และ มรมจ.ได้ร่วมกันนำ วทน. ไปยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้กับ “พรหมรัศมี ฟาร์มสเตย์” หรือ “ไร่พรหมรัศมี”  ตำบลยางหัก  อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี  ซึ่งมีพื้นที่ส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงเกษตรประมาณ 150 ไร่  และมีจุดเด่นคือ ทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีการปลูกผลไม้หลากหลายชนิด ได้แก่ เงาะ ทุเรียน จำปาดะ ฝรั่ง กาแฟ รวมถึงพืชผักปลอดสารพิษ เป็นต้น  และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรให้กับสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน ประชาชน และนักท่องเที่ยว ที่สนใจด้านท่องเที่ยวเชิงเกษตร  ได้แก่  การปลูกผัก ผลไม้ตามฤดูกาล การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การเลี้ยงปลา และการทำฝายชะลอน้ำ  จากการดำเนินงานของ วว. และ มรมจ. ประสบผลสำเร็จในการร่วมผลักดันให้ไร่พรหมรัศมี ได้รับการรับรองมาตรฐานท่องเที่ยวเชิงเกษตรของไทย

สำหรับองค์ประกอบของการได้รับการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนั้น นอกจากจุดเด่นทางด้านธรรมชาติและทัศนียภาพที่สวยงาม รวมทั้งการทำการเกษตรเฉพาะถิ่น ร่วมกับวิถีชีวิตชุมชนแล้ว ยังต้องมีองค์ประกอบของจุดเด่นทางด้านเทคโนโลยีทางการเกษตรหรือนวัตกรรมใหม่ ในการนำไปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร  ซึ่ง  มรมจ. ได้ดำเนินการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์น้ำปลาหวาน ที่เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของฝากให้กับนักท่องเที่ยว  โดย วว. ได้นำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล 

ผู้ว่าการ วว. กล่าวต่อว่า การสร้างความเข้มแข็งด้านอาชีพให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงเกษตร จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีด้านการเกษตรซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญตามเกณฑ์มาตรฐานท่องเที่ยวเชิงเกษตร  วว. จึงได้ส่งเสริมชุมชนในการนำเทคโนโลยี “ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์” แบบ  4  ชั้น  ผลงานวิจัยของ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ วว. เข้าไปใช้ในกระบวนการผลิต  โดยเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับใช้งานเชิงพาณิชย์ สำหรับผู้ประกอบการ OTOP หรือ SME ตัวเครื่องมีพื้นที่อบแห้งสูงสุด 4 ตารางเมตร ประกอบด้วยถาดวางวัตถุดิบ ขนาด 1×1 ตารางเมตร จำนวน 4 ชั้น สามารถรองรับน้ำหนักวัตถุดิบได้สูงสุด 20 กิโลกรัม/ครั้ง มีระบบดูดความชื้นด้วยพัดลมดูดอากาศ 2 ชุด ใช้แผงโซล่าเซลล์ขนาด 10 วัตต์ ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง มีอัตราการอบแห้งสม่ำเสมอและทั่วถึง  ต้นทุนต่ำ ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร โดยกลุ่มจะนำไปอบดอกกาแฟและผักผลไม้ในฟาร์ม  ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงงาน และทำให้ผลิตภัณฑ์อบแห้งมีความสะอาด ปลอดภัย  ถูกหลักอนามัย

ทั้งนี้ สำนักรับรองระบบคุณภาพ วว. ได้ไปทำการตรวจประเมินมาตรฐานท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้กับไร่พรหมรัศมี  ซึ่งได้ผ่านการประเมินและได้รับการรับรองมาตรฐานท่องเที่ยวเชิงเกษตรในระดับดี และจากการดำเนินงานของ วว. ร่วมกับพันธมิตร ได้ส่งผลให้ นางรัศมี ทับทิมทอง ผู้ประกอบการไร่พรหมรัศมี ได้รับการรับมอบเครื่องหมายการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ประจำปี 2566 จากกรมการท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ซึ่งการได้รับเครื่องหมายมาตรฐานท่องเที่ยวดังกล่าว จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ในด้านการบริหารจัดการที่ดี การให้บริการที่มีคุณภาพ รวมถึงด้านความสะอาด ด้านความเป็นธรรม ด้านความปลอดภัย ด้านความยั่งยืน และความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การยกระดับการสร้างความเชื่อมั่นและยอมรับในระดับสากลสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของไทยที่ยั่งยืน

นางรัศมี  ทับทิมทอง  ผู้ประกอบการไร่พรหมรัศมี  กล่าวว่า  ในการทำสวนเกษตรแบบผสมผสานและการทำฟาร์มสเตย์มีการรวมกลุ่มของสมาชิกกลุ่มทุเรียนและเงาะแปลงใหญ่จำนวนกว่า 100 คน  ในพื้นที่ 1,000 กว่าไร่  ที่เดิมมีปัญหาในการตากแห้งผลผลิตตามธรรมชาติด้วยแสงแดด ซึ่งมีปริมาณไม่สม่ำเสมอ ต้องมีการขนย้ายผลผลิตตลอดเวลา และไม่ถูกสุขลักษณะ นอกจากนี้เครื่องอบที่มีการจำหน่ายยังมีขนาดเล็กและราคาแพง ดังนั้นเมื่อมีเทคโนโลยีของ วว. คือ ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ จะช่วยให้กลุ่มสามารถอบแห้งผลผลิตได้ปริมาณมาก ไม่ต้องเก็บเข้า-ออกทุกวัน ได้มาตรฐาน สะอาด ถูกสุขอนามัย

“ การที่ วว. และมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เข้ามาช่วยส่งเสริมสนับสนุน จนกระทั่งทำให้สามารถได้รับการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนั้น มีความภาคภูมิใจ…ดีใจ และขอขอบคุณที่ภาครัฐได้เข้ามาช่วยให้การประกอบการมั่นคงมากขึ้น มีการบริหารจัดการที่ดี ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวในความเชื่อมั่น และเข้ามาใช้บริการ จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อยากให้โครงการนี้ขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศ  เพื่อเพื่อนๆ จะได้มีรายได้ที่มั่นคง ครอบครัวมีความสุข  ” นางรัศมี  กล่าว