เปิดงานวช.ครบรอบ 64 ปี “ สร้างองค์ความรู้ เชิดชูเกียรตินักวิจัย พัฒนาประเทศไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม”

News Update

วช. จัดงานครบรอบ  64 ปี “ สร้างองค์ความรู้  เชิดชูเกียรตินักวิจัย พัฒนาประเทศไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ตอกย้ำบทบาทหน่วยงานกลางด้านการบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ  โชว์ผลงานเด่นในรอบปี-เปิดเวทีเสวนาถกประเด็นสำคัญในการพัฒนาประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม 

                วันนี้ ( 24 ตุลาคม 2566 ) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานเนื่องในโอกาสสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ครบรอบ 64 ปี “ 64 ปี วช. สร้างองค์ความรู้  เชิดชูเกียรตินักวิจัย พัฒนาประเทศไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม”  เพื่อนำเสนอ บทบาทของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงฐานข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรม และให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชนและการพาณิชย์  รวมถึงภาคอุตสาหกรรม  โดยมี ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม  กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง  “วช.ในทศวรรษที่ 7 กับการพัฒนาประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม”  โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมพิธีเปิด

               ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ” หรือ “วช.” ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม “ จากการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 64 ปีที่ผ่านมา  วช. ซึ่งเข้าสู่ทศวรรษที่ 7 ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ได้มีการขับเคลื่อนกลไกต่าง ๆ ในการพัฒนาประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาบทบาทสำคัญในการกำหนดภูมิทัศน์ของการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ  มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการทำงานร่วมกันแบบสหวิทยาการ การสร้างเส้นทางอาชีพนักวิจัย  และเป็นสื่อกลางในการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และเชื่อมโยงงานวิจัยกับเครือข่าย เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์และช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ   ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย  “ วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และ “เน้นประเด็นสำคัญของประเทศ” ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้การนำของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. คนปัจจุบัน 

               สำหรับก้าวต่อไปเป็นความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ต่อการนำงานวิจัยและนวัตกรรมของ วช. และภาคีเครือข่าย โดยนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้  เทคโนโลยี  การใช้กลไกที่ทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ในการตอบโจทย์ ปัญหาความท้าทายสำคัญเร่งด่วนที่ประเทศกำลังเผชิญ  และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การเกษตรและ ความยั่งยืน  ตลอดจนพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและทางสังคมต่างๆ  โดยมีเป้าหมายในการสร้างโอกาส สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนแก่ประชาชนชาวไทย   ซึ่ง วช.  มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานของวช.จะเป็นตัวกลางในการนำงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในสาขาต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลสำเร็จของการวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติได้ต่อไป”

               ดร.วิภารัตน์   กล่าวถึงผลงานเด่นของ วช. ในรอบปีที่ผ่านมาว่า นอกจากระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกในการบริหารจัดการข้อมูลแผนงานและงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศแล้ว   วช. ยังได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566  ประเภทรางวัลประสิทธิผลเครือข่ายจากโครงการ “ศูนย์วิจัยชุมชน โดยเครือข่ายวิจัยภูมิภาค”  ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์วิจัยชุมชนทั่วประเทศ 69 ศูนย์  มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมถ่ายทอดสู่การใช้ประโยชน์แล้วมากกว่า 80 ผลงาน

               นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเด่นด้านผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดไปยังสหรัฐอเมริกาได้  ผ่านนวัตกรรมการกระจายรังสีในบรรจุภัณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับกฎระเบียบของทางสหรัฐอเมริกา รวมถึงสามารถขนส่งเนื้อทุเรียนทางเครื่องบินได้ด้วยบรรจุภัณฑ์ดูดกลิ่นและดูดความชื้น  งานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข  มีการพัฒนาระบบควบคุมการทำงานของเตียงผู้ป่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับด้วยระบบควบคุมผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น และการพัฒนาเท้าเทียมไดนามิกที่ช่วยให้ผู้พิการสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ 

               ส่วนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการออกแบบสวน “ภูมิทัศน์พรรณไม้ ลด PM2.5” และ “ศูนย์เกษตรวิถีเมือง” ที่ช่วยลดข้อจำกัดในการปลูกพืชในเมือง   มีการพัฒนาเทคโนโลยีโดรน  และผลักดันให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าการเกษตร  และมีงานวิจัยรองรับสังคมสูงวัย อย่างเช่น โครงการเกษียณมีดี ที่สร้างระบบนิเวศ การเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย

               ด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม  กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง  “วช.ในทศวรรษที่ 7 กับการพัฒนาประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม”  ว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา  ถือเป็นโชคดีอย่างมากของประเทศไทย ที่ได้มีการรวมพลังผู้ที่เกี่ยวข้อง มาขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่เป็นปึกแผ่น สามารถตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศไทย คือ การมีขีดความสามารถในความแข่งขันสูง  และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในด้านที่จำเป็น ประชาชนกินดี อยู่ดีมีความสุข ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาเพื่อพร้อมรับอนาคต

               ทั้งนี้การจะทำให้เกิดผลสำเร็จในการขับเคลื่อนดังกล่าว นอกจากจะต้องมีนโยบายที่ดีเป็นเอกภาพ   มีกองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแล้ว ยังต้องมีการสร้างความรู้พื้นฐานที่ดี มีการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ ๆ  และที่สำคัญคือ การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ มีการทำงานร่วมกันระหว่างผู้วิจัยกับคนใช้ประโยชน์ และต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนเพื่อผลักดันงานวิจัยออกไป  โดย วช.ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในการบริหารจัดการที่ดี สำหรับทิศทางการขับเคลื่อน วช. ต่อไปในอนาคต ควรจะมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน โดยให้คนที่ใช้ประโยชน์มีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายมากขึ้น นอกจากนี้ยังควรดำเนินการแบบบูรณาการองค์รวม มุ่งผลสัมฤทธิ์โดยดำเนินการแบบรัฐร่วมเอกชน โดยทำให้เกิดความไว้วางใจและเชื่อมั่น  

               สำหรับงานครบรอบ 64 ปี  วช.  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม  2566  ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บางเขน  ยังมีการเสวนาในประเด็นสำคัญต่อการพัฒนาประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม เช่น เศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยวิจัยและนวัตกรรม, 2050 to Carbon Neutrality ด้วยวิจัยและนวัตกรรม,   Go Green กับพลังงานใหม่ด้วยวิจัยและนวัตกรรม และ AI  ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน   และยังมีกิจกรรมในพื้นที่สร้างสรรค์การเรียนรู้   ทั้งการฝึกอาชีพและให้ความรู้จากงานวิจัย  เช่น การอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีโดรนแปรอักษร  เทคนิคการปลูกผักสลัดในพื้นที่เมือง  การผลิตสารสกัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพืชจากวัตถุดิบธรรมชาติ ดอกไม้จากวัสดุฉลาด และการอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์  รวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยมาให้ “ชิม ช้อป เพลิน” ในตลาดงานวิจัยนี้อีกด้วย .