“DustBoy” คว้ารางวัล Grand Prize จากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติที่เกาหลีใต้

News Update

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำ DustBoy คว้ารางวัลสูงสุด Grand Prize  จากงาน “Seoul International Invention Fair 2023” ณ สาธารณรัฐเกาหลี

นักประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างความภาคภูมิและชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในการคว้ารางวัลสูงสุด Grand Prize จากงาน “Seoul International Invention Fair 2023” (SIIIF) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1-4 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการ COEX สาธารณรัฐเกาหลี จากผลงานเรื่อง “เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ DustBoy” โดยทีมนักประดิษฐ์เจ้าของผลงาน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล, ดร.รัตชยุดา กองบุญ, ดร.ภูชีวันท์ สุริยะวงศ์ และ ดร.ฮัยศัม สาแม โดยประดิษฐกรรม DustBoy เป็นระบบติดตามค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ด้วยเครื่องตรวจวัดมาตรฐานแบบ Low cost sensor ที่มีประสิทธิภาพสูง ที่มีการติดตั้งในภูมิภาคต่างๆของไทยทั่วประเทศ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีการรับรองมาตรฐาน พร้อมนี้ DustBoy ยังสร้างระบบเครือข่ายเฝ้าระวังและเตือนภัย PM 2.5 ที่มีประสิทธิภาพและทันสถานการณ์

พร้อมนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยังนำทีมนักประดิษฐ์ไทยคว้ารางวัลสำคัญจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติในเวที SIIF 2023 อีกหลายผลงาน ได้แก่

รางวัลจาก The World Intellectual Property Organization (WIPO) จากผลงานเรื่อง “ไอเซดาร์ ลิเวอร์: ยกระดับการดูแลสุขภาพในชนบทด้วยการคัดกรองมะเร็งตับด้วยการเรียนรู้เชิงลึกระยะไกล” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ธีรภัทร อึ้งตระกูล ดร.ทศพร เฟื่องรอด และแพทย์หญิง ธนิตา ลิ้มศิริ จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (The World Intellectual Property Organization (Creativity) ซึ่งประดิษฐกรรมดังกล่าวเป็นนวัตกรรม AICEDA Liver มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับการให้บริการการดูแลสุขภาพในพื้นที่ห่างไกล โดยอาศัยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการคัดกรองมะเร็งตับและท่อน้ำดี ผ่านการสร้างโมเดลปัญญาประดิษฐ์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึก เพื่อตรวจจับรอยโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีบนภาพอัลตราซาวด์สองมิติโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยให้การคัดกรองมะเร็งตับในพื้นที่ห่างไกลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาโรคได้รวดเร็ว

รางวัลจาก Korea Invention Promotion Association (KIPA) ผลงานเรื่อง “VIRTUALcare: เครื่องจำลองภาพเสมือนจริงสำหรับตรวจวัดและบำบัดโรคตาขี้เกียจในเด็ก” โดยนายชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ นางสาวสุวรรณา อัมพรดนัย นายธรรมนิตย์ ไชยภัทรสุทธิกุล นายศิรพัฒน์ จิตสำราญ และนายวิชญ์ อภิรักษ์คุณวงศ์ จาก โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้รับรางวัล KIPA Special Prize on stage จาก Korea Invention Promotion Association สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งประดิษฐกรรมดังกล่าวเป็นชุดอุปกรณ์ Boosting HAND จะพัฒนาทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและการทำงานร่วมกันของสมองสองซีกในเด็กด้วย Mini-game และประเมินความปกติของกล้ามเนื้อมัดเล็กโดยใช้ข้อมูลจากสถิติที่บันทึกไว้ พร้อมทั้งเสริมความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อมัดเล็กด้วยการบำบัดแบบสั่น

นอกจากนี้ยังมีรางวัล Special Prize on stage จากองค์กรนานาชาติ อีก 4 ผลงาน ได้แก่ ผลงานเรื่อง “เครื่องมือปอกสายเคเบิลขนาด 185 มม.2 แบบอัตโนมัติ” โดย นายคมศักดิ์ ศรีเครือแก้ว และคณะ จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้รับรางวัลจาก King Abdulaziz University ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย  

ผลงานเรื่อง “โปรแกรมจัดการจราจรขาออก ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง” โดยนางวชิราภรณ์ ชัยวัฒนากุลกิจ และคณะ จากบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ได้รับรางวัลจาก Vietnam Fund for Supporting Technological Creations สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม 

ผลงานเรื่อง “นวัตกรรมระบบอัตโนมัติเพื่อจับเก็บกระจกและปูกระดาษ” โดย ณัฐพงศ์ นาคแสงจันทร์ และคณะ จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้รับรางวัลจาก Taiwan Invention Association สาธารณรัฐจีน 

และผลงานเรื่อง “เอ็มดีไลท์ แฮร์ เฮอร์เบิล แชมพูขจัดรังแค” โดย ศาสตราจารย์ นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล และคณะ จาก สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย ได้รับรางวัลจาก Pomeranian Medical University in Szczecin สาธารณรัฐโปแลนด์

และในเวทีดังกล่าว มีผลงานคนไทยได้รับรางวัลเหรียญทอง 38 ผลงาน  เหรียญเงิน 19 ผลงาน เหรียญทองแดง 21 ผลงาน และรางวัล  Special Prize  จากประเทศต่างๆ