บพข. สจล. และ รฟท. ทดสอบเดินรถไฟ “สุดขอบฟ้า” (รถไฟไทยทำ) เตรียมพร้อมให้บริการคนไทย

News Update

                หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด  ทดสอบเดินรถไฟ “สุดขอบฟ้า” (รถไฟไทยทำ) จากสถานีรถไฟหัวลำโพง ไปยังที่หยุดรถพระจอมเกล้า เพื่อเตรียมพร้อมส่งมอบ รฟท. ให้คนไทยได้ใช้งาน

                รถไฟ “สุดขอบฟ้า” เป็นรถไฟโดยสารต้นแบบ ผลงานจากการวิจัยและพัฒนาโดยทีมวิจัย สจล. ภายใต้โครงการวิจัย “การพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ)” ด้วยทุนสนับสนุนจาก บพข. ภายใต้แผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต ร่วมกับ กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด โดยมี รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เป็นหัวหน้าโครงการ และมี รฟท. เป็นผู้นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับการให้บริการทางรถไฟแก่ประชาชน ภายใต้เป้าหมายที่มีร่วมกันคือ ต้องการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตรถขนส่งทางรางด้วยหลักคิด “การพึ่งพาตนเอง”

                รถไฟโดยสารต้นแบบนี้ได้รับการออกแบบและผลิตโดยคนไทย ใช้วัสดุและอุตสาหกรรมภายในประเทศ (local content) กว่า 44% ในการประกอบตู้รถไฟชนิด Luxury Class และ Super-Luxury ที่หรูหราและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค ซึ่งได้รับแรงบรรดาลใจจากที่นั่งชั้นเฟิร์สคลาสบนเครื่องบิน เพื่อรองรับความต้องการใช้ตู้รถไฟโดยสารจากนี้ไปอีก 20 ปี ที่คาดว่าจะมีไม่น้อยกว่า 2,425 ตู้ จากการเพิ่มขึ้นของทางรถไฟที่รัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารถไฟต่อตู้ เฉลี่ยตู้ละ 50 ล้านบาท รวมมูลค่าสำหรับตลาดการผลิตตู้รถไฟโดยสารประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยมีแผนการให้บริการรถไฟระยะกลางในแนวเส้นทางรถไฟรางคู่ระยะ 200-500 กิโลเมตร และรถไฟท่องเที่ยวในแนวเส้นทางของ รฟท. เพื่อแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำและรถยนต์ส่วนตัว โดยตู้รถไฟที่ทีมวิจัยผลิตใช้ต้นทุนอยู่ที่ 32 ล้านบาท ซึ่งมีความคุ้มค่ากว่าการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก สามารถช่วยประเทศลดต้นทุนการนำเข้าตู้รถไฟจากต่างชาติได้ไม่น้อยกว่า 30% ซึ่งนับเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มหาศาล นอกจากนี้องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ในการประกอบตู้รถไฟที่ได้จากโครงการจะถูกถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศ รวมทั้งนักศึกษา ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมขนส่งทางรางของไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป (สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของรถไฟสุดขอบฟ้าได้ที่ https://pmuc.or.th/beyond-horizon/)

รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล 

                รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล กล่าวว่า “เป้าหมายหลักของโครงการนี้คือการพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบด้วยการพึ่งพาอุตสาหกรรมในประเทศเป็นหลัก ตอบรับนโยบาย Thai First และนโยบายด้านการสนับสนุนส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตในประเทศโดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางของประเทศ เราได้พัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ “รถไฟสุดขอบฟ้า (Beyond Horizon)” ประกอบด้วยโครงสร้างตัวรถชนิดโครงข้อแข็งสามมิติ (Space Frame) ร่วมกับ โครงสร้างเปลือกบาง (Shell Elements) และระบบโครงสร้างเชื่อมต่อกับแคร่รถไฟ Bolster) โดยมีกระบวนการออกแบบตามมาตรฐานระดับสากล อาทิ EN, UIC, AAR และ ดำเนินการตามข้อกำหนดของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาทีมวิจัยได้มีการทดสมรรถนะ (Performance Tests) ของรถไฟอย่างต่อเนื่อง เช่น การทดสอบ Water Tightness Test และการ Running Test ในระยะทาง 700 กม. รวมถึงผ่านการทดสอบระบบหยุดรถฉุกเฉินที่ความเร็ว 94.1 กม./ชม. และผ่านการทดสอบการวิ่งที่ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม.”

รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา

                ด้าน รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. กล่าวว่า  “บพข. คาดหวังที่จะได้เห็นงานวิจัยและพัฒนาที่เราให้การสนับสนุนนั้นสามารถออกไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ เราได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้มานานด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาโครงการนี้แบบ multiyear และยังจะมีการสนับสนุนต่อในปีถัดไป เพราะเราทราบดีว่าการวิจัยและพัฒนาหลายอย่างนั้นไม่สามารถสำเร็จได้ภายในปีเดียว เราเห็นว่าโครงการนี้มีศักยภาพที่จะสามารถสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างในแง่ของการพัฒนาอุตสาหกรรมขนส่งระบบรางของประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยี และถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งสิ่งที่ประเทศจะได้กลับมาจากการลงทุนทำ R&D นั้นนอกจากเม็ดเงินที่ได้กลับมาในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ยังมีผลตอบแทนสูงในเชิงสังคม และที่สำคัญคือในเชิงองค์ความรู้ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศของเรา และเราไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติตลอดไป

                ในช่วงเริ่มต้นของโครงการนี้ เราใช้ local content อยู่ที่ประมาณ 40% และเราคาดหวังที่จะขยับให้มีการใช้ local content ที่สูงขึ้นไปอีกในอนาคต นอกจากนี้ โครงการนี้ยังได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการที่เราผลิตได้เองในประเทศ สามารถใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าการนำเข้าอย่างมหาศาล สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้พิสูจน์ได้ชัดว่าเรากำลังลงทุนในสิ่งที่คุ้มค่าแก่การลงทุน และเราต้องการที่จะเห็นโครงการเช่นนี้เกิดขึ้นอีกจำนวนมาก โดย บพข. มีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และบริการ ของคนไทยที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ”

นายนิรุฒ มณีพันธ์

                                นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “โครงการนี้นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรต่าง ๆ ของไทย ทั้งสถาบันวิจัย ภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มาร่วมกันทำงานเพื่อสร้างเทคโนโลยีที่เป็นของเราเอง เราสามารถผลิตตู้รถไฟโดยสารได้เองโดยใช้วัสดุภายในประเทศของเรา รถไฟ “สุดขอบฟ้า” มีความทันสมัย หรูหรา มีระบบความปลอดภัย และระบบอำนวยความสะดวกและเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ที่ครบครัน อยู่เหนือความคาดหมายของใครหลายคน สามารถเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยที่มีต่อรถไฟไทยให้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้ ซึ่งเราเชื่อเสมอว่าฝีมือและสมองของคนไทยนั้นไม่แพ้ชาติใดในโลก ซึ่งวันนี้ทีมวิจัยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราสามารถทำได้ และสิ่งนี้จะกลายเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญที่จะทำให้เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสิ่งต่อไปที่เราต้องทำคือการทดสอบตลาด และดูกระแสตอบรับของสังคม เพื่อนำมาพัฒนาแผนการให้บริการและการบริหารต้นทุนต่อไป”

                โครงการพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ) นับเป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความคุ้มค่าในการลงทุน R&D ด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ บพข. ให้การสนับสนุนและผลักดันให้โครงการนี้สามารถพัฒนาจากห้องปฏิบัติการไปสู่การทดสอบ รับรองมาตรฐาน จนไปสู่การนำไปโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ภายใต้งบประมาณจากกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ผ่านการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ คือ บพข. และ รฟท. ภาคเอกชนคือ กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด ที่เป็นผู้ร่วมลงทุน และสถาบันวิจัย ประกอบด้วย ทีมวิจัยจาก สจล. ที่ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ทำให้โครงการนี้สามารถประสบความสำเร็จได้ และสามารถสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นภายในประเทศ

                โดยได้มีการจดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากโครงการแล้วจำนวน 7 ผลงาน และองค์ความรู้ เทคโนโลยี เหล่านั้นได้รับการถ่ายทอดไปผู้ประกอบการที่สามารถผลิตและประกอบได้ในประเทศมากกว่า 10 บริษัทเข้าร่วมในโครงการ ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศให้มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก.