ไบโอเทค สวทช.จับมือ มธ.และ QUB ประชุมนานาชาติด้านความมั่นคงอาหาร

News Update

ไบโอเทค สวทช.  และ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ QUB จัดใหญ่ “ASEAN-ASSET 2023” งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านความมั่นคงอาหาร เน้นงานวิจัยและนวัตกรรมอาหารเพื่ออนาคต หวังช่วยลดความรุนแรงวิกฤตอาหารโลก

               วันนี้ (14 พ.ย. 66) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ   สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยควีนส์  (Queen’s University Belfast :QUB) สหราชอาณาจักร ศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (IJC-FOODSEC) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)  และมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.)   เปิดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “ASEAN-ASSET 2023: Global Summit on the Future of Future Food” ภายใต้แนวคิด  “ Global Protein Integrity” โดยมี นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยผู้บริหาร สวทช. ม.ธรรมศาสตร์ และ QUB ร่วมเปิดงาน

               ทั้งนี้งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 15 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในทวีปเอเชีย  เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความตระหนักในเรื่องความมั่นคงของอาหารเพื่ออนาคต  ซึ่งธนาคารโลก (World Bank) ได้เน้นย้ำว่าวิกฤตอาหารโลก (Global Food Crisis) ได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ปี 2565 ถือเป็นการเตือนภัยครั้งใหญ่ นอกจากนี้โครงการอาหารโลก (World Food Programme) ยังเปิดเผยข้อมูลว่าในเวลาเพียงสองปี จำนวนผู้ที่เผชิญหรือมีความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันเพิ่มขึ้นจาก 135 ล้านคนใน 53 ประเทศก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 เป็น 345 ล้านคน ใน 79 ประเทศในปี 2566

               ศ.ดร.คริสโตเฟอร์ เอลเลียต (Prof. Dr. Christopher Elliott), OBE, Institute for Global Food Security, Queen’s University Belfast เปิดเผยว่า   งานประชุม ASEAN-ASSET 2023 ถือเป็นเวทีสำคัญระดับนานาชาติในการแลกเปลี่ยน อภิปราย และแสดงความคิดเห็น รวมถึงเผยแพร่ผลงานวิจัยครอบคลุมหัวข้อเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องทั่วโลก เช่น วิธีการจัดหาอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือกผ่านการคิดเชิงนวัตกรรม การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อช่วยสนับสนุนการผลิตอาหารเพื่ออนาคต และความปลอดภัยของอาหารเพื่ออนาคตจากแหล่งต่าง ๆ เป็นต้น

               นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์  ปลัดกระทรวง อว.  กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและได้พยายามที่จะผลักดันให้เกิดความมั่นคงทางอาหารผ่านกลไกและมาตรการที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการอาหารแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร มีหน้าที่เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านคุณภาพอาหาร ความปลอดภัยด้านอาหาร ความมั่นคงด้านอาหารและอาหารศึกษา รวมทั้งจัดทำแผนเผชิญเหตุและระบบเตือนภัยด้านอาหารต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมาย นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2553 ได้มีการจัดทำ “กรอบยุทธศาสตร์ด้านการจัดการอาหารของประเทศไทย” ซึ่งพัฒนาเป็นแผนแม่บทที่มุ่งเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ความปลอดภัย คุณภาพ และการศึกษาในประเทศไทย ถือเป็นก้าวแรกสู่การประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบอาหารทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น จนมาถึงปี พ.ศ. 2564 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model)  โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ โดยกระทรวง อว. เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อน BCG Model ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตร เพิ่มปริมาณอาหารโปรตีนจากการนำนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ ควบคุมเรื่องของการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร (Food Loss and Food Waste) เป็นต้น

               ทั้งนี้กระทรวง อว. โดยหน่วยบริหารและจัดการทุน ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โดย ผศ.ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กล่าวว่า อาหารแห่งอนาคต (future food) ถือเป็นหนึ่งในหัวข้อจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร และ บพค. ยังส่งเสริมความร่วมมือกับทั้งภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศผ่านแผนงานต่าง ๆ เช่น แผนงานย่อยพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติ (Global Partnership)

               ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ได้พัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่หลากหลายครอบคลุมระบบอาหารยั่งยืน (sustainable food system) ทั้งหมด โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาสายพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ข้าว มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น อีกทั้งยังรับมือกับภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งทนทานต่อโรคและแมลง ขณะที่ด้านเกษตรสมัยใหม่ได้ส่งเสริมให้เกษตรนำระบบดิจิทัลเข้ามาวางแผนระบบเกษตรในภาพรวม อาทิ TAMIS ระบบขึ้นทะเบียนเกษตรกร Agri-Map ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการจัดการเชิงรุก

               “ สำหรับงานวิจัยด้านอาหารเรามุ่งผลักดันการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเกิดอุตสาหกรรมอาหารมูลค่าเพิ่มสูงและสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (high value added and functional ingredient) ต้นแบบผลิตภัณฑ์/กระบวนการใหม่ในกลุ่ม functional ingredients เช่น functional microbes และ functional protein การผลิตอาหารเฉพาะกลุ่มที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีการปรับโครงสร้างอาหาร การปรับสูตรและวัตถุดิบใหม่ เช่น อาหารทางสายยางสำหรับผู้ป่วย รวมถึงการวิจัยเรื่องความปลอดภัยอาหาร วิธีการตรวจวินิจฉัยเชื้อก่อโรค สารปนเปื้อนในอาหาร ตลอดจนบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่มีคุณสมบัติพิเศษ นอกจากนี้ เรายังริเริ่มพัฒนาการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรส่งออกที่มีมูลค่าสูงของประเทศไทยเช่นทุเรียนอีกด้วย”

               ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า Queen’s University Belfast สวทช. และ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันก่อตั้งศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (International Joint Research Center on Food Security หรือ IJC-FOODSEC) ในปี พ.ศ. 2565 ที่ไบโอเทค สวทช. เพื่อช่วยผลิตงานวิจัยระดับโลกเพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอาเซียน  ที่ผ่านมานักวิจัยภายใต้ IJC-FOODSEC มีงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพในประเทศและศึกษาด้านความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะในเรื่องสารพิษจากรา เพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศไทย และอาเซียนให้มีศักยภาพในการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของการผลิตและการส่งออกอาหารในระดับโลก

               ด้าน รศ.เกศินี  วิฑูรชาติ  อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ธรรมศาสตร์มุ่งผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ที่มีความรู้ความสามารถทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในทุกมิติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสริมประสบการณ์เรียนรู้ในหน่วยงานหรือโรงงานอุตสาหกรรมอาหารต่าง ๆ ให้แก่บัณฑิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรงในสาขาวิชา และมีความพร้อมทั้งความรู้และประสบการณ์ที่จะนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ

               รศ.เกศินี กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้าร่วมในโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลกเมื่อต้นปี พ.ศ. 2566 ผ่านการดำเนินงานของ IJC-FOODSEC ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คาดหวังให้ การผนึกกำลังระหว่าง IJC-FOODSEC บริษัทเมืองนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคอุตสาหกรรมอาหารทั้งในและต่างประเทศ  จะเป็นหนึ่งใน Game changer สำหรับการพัฒนากำลังคนขั้นสูงให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ  การส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นเลิศ และมีจุดยืนบนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิต่อไป

               ทั้งนี้ ที่ผ่านมางานประชุมนานาชาติ ASSET ซึ่งเป็นงานประชุมในสาขา Food Integrity ชั้นนำระดับโลก จัดโดย Institute for Global Food Security (IGFS), Queen’s University Belfast จะจัดในทวีปยุโรปเท่านั้น แต่หลังจากที่ QUB ม.ธรรมศาสตร์ และ สวทช. ได้ร่วมกันก่อตั้ง IJC-FOODSEC ขึ้นที่ไบโอเทค สวทช. ในปีนี้ (2566) ถือเป็นครั้งแรกที่งานประชุม ASEAN-ASSET จัดขึ้นในทวีปเอเชีย ระหว่างวันที่ 14 – 15 พ.ย. 66 มีผู้เข้าร่วมงานจากทั่วทุกมุมโลกมากกว่า 400 คน และมีผู้นำเสนอผลงานมากถึงจำนวน 36 เรื่อง