อว.-จุฬา ส่งมอบนวัตกรรมช่วยภาครัฐรับมือโควิด-19

News Update

อว.โดยวช.ร่วมกับจุฬาฯส่งมอบนวัตกรรมเครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อและนวัตกรรมที่นอนยางพาราเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ผ่านทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  เป็นประธานในพิธีส่งมอบนวัตกรรมเครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ณ สวนรื่นฤดี  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.   โดยมี พลเอกวรเกียรติ   รัตนานนท์ เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรกล่าวต้อนรับและรับมอบนวัตกรรมเครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่มีการระบาดของโรคโควิด-19

 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง  รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า นวัตกรรมเครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 เป็นผลงานวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2563 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ   และเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นประจำปี 2564 รวมถึงได้รับการคัดเลือกเป็น1ใน 11ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นตอบรับชีวิตวิถีใหม่และการปรับตัวอันเนื่องมาจากภาวะวิกฤติโควิด-19 จากกระทรวง อว.

ด้านศาสตราจารย์ ดร.สนอง  เอกสิทธิ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่านวัตกรรมเครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อจะพ่นละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่มีศักยภาพในการกำจัดไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และสปอร์ของเชื้อราได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ทิ้งสารเคมีตกค้างที่เป็นอันตรายสามารถกำจัดได้ทั้งเชื้อในอากาศและเชื้อที่อยู่บนพื้นผิววัสดุ   ทั้งนี้นักวิจัยได้พัฒนานวัตกรรมเครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อ 2 รุ่น คือเครื่อง VQ20 ที่พ่นละอองไอไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้น 3-7% เพื่อฆ่าเชื้อ และเครื่อง VQ20+HP35 ที่พ่นละอองไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ขนาดเล็กกว่า 5 ไมโครเมตร และล่องลอยในอากาศได้นาน

นอกจากนี้ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงอว. ยังส่งมอบนวัตกรรมที่นอนยางพาราโดยมี นายชัยชาญ  สิทธิวิรัชธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงมหาดไทย รับมอบนวัตกรรมที่นอนยางพารา ซึ่งจะนำไปใช้งานในโรงพยาบาลสนามเพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19

สำหรับนวัตกรรมที่นอนยางพาราเป็นผลงานต่อยอดจากโครงการวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหมอนยางพาราระดับชุมชน โดยใช้กรรมวิธีเติมส่วนผสมของด่างตีจนเกิดฟอง และใส่ซิงค์ออกไซด์เพื่อทำให้ฟองที่เกิดคงรูป ทำให้ได้ที่นอนยางพาราที่สามารถระบายอากาศได้ดี มีความยืดหยุ่นสูง  ไม่สะสมฝุ่น แบคทีเรีย และเชื้อโรค โครงการวิจัยดังกล่าวดำเนินการโดยนายชาย คงแก้ว  สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพัทลุง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. เพื่อปรับปรุงการผลิตและขยายกำลังการผลิตหมอนยางพาราระดับชุมชนให้ได้มาตรฐานเพียงพอและตรงต่อความต้องการของตลาด โดยสามารถเพิ่มมูลค่ายางพาราจาก 30 บาท/กิโลกรัม เป็น 300 บาท/กิโลกรัม และขยายกำลังการผลิตได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300ใบตามความต้องการของตลาด   อีกทั้งกลุ่มอาชีพสหกรณ์บ้านพังดานได้เปิดจุดสาธิตการแปรรูปหมอนยางพาราให้องค์กรต่าง ๆเข้ามาเรียนรู้ อีกด้วย