วช. โชว์ 10 ผลงานเด่นด้านวิจัยและนวัตกรรม ปี 66 พร้อมเปิดตัว 10 Flagships ปี 67

News Update

วช.แถลง10 ผลงานเด่นการวิจัยและนวัตกรรมปี 2566 “10 Masterworks 2023” พร้อมเปิดตัว “10 Flagships งานวิจัย ปี 2567”  เร่งขับเคลื่อนสู่ความเป็นเลิศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่ 28 ธันวาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)แถลงข่าว “10 ผลงานเด่นการวิจัยและนวัตกรรม ปี 2566”  หรือ “10 Masterworks2023” จากการขับเคลื่อนและบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่สาธารณะ และการมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ พร้อมเปิดตัว “10 Flagships งานวิจัย ปี 2567”  การขับเคลื่อนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ สู่ความเป็นเลิศ และนำประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้นำการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติ เพื่อยกระดับขีด ความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์โลก โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ท้าทายสังคมและประเทศ ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ

ทั้งนี้ปี 2566 ซึ่งครบรอบ  64 ปี วช. มีการดำเนินงานที่หลากหลาย และได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในรอบปี 2566  ได้มีผลงานที่ปรากฏออกมาและฉายภาพให้เห็นถึงการสร้างโอกาสใหม่ ๆ รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นกับวงการวิจัยและนวัตกรรม

 โดยปีนี้  วช.  ได้สรุป 10 ผลงานเด่นการวิจัยและนวัตกรรม  ประกอบด้วย 1. รางวัลการวิจัยแห่งชาติ   ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยมาอย่างต่อเนื่องหลาย 10 ปี  2. การประกวดสิ่งประดิษฐ์ในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่ง วช. ปัจจุบันไม่ได้เป็นแค่หน่วยงานในการประสานงานในการนำผลงานไปสู่เวทีระดับนานาชาติ แต่ปัจจุบันวช.ได้รับการยอมรับในภาพของหน่วยงานหนึ่งที่เป็นสมาชิกขององค์กรระดับนานาชาติในเรื่องของการประดิษฐ์คิดค้น   โดยวช.ได้คัดเลือกและนำส่งผลงานจากประเทศไทยเข้าร่วมประกวดในเวทีนานาชาติกว่า 300 ผลงานต่อปี และสามารถคว้ารางวัลจำนวนมากจากทุกเวที และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ได้ในระดับนานาชาติ

 3. ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาทิ ระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ National Research and Innovation Information System : NRIIS  ซึ่งมีการจัดตั้งหน่วยบริหารข้อมูลดูแลร่วมกับภาคีเครือข่าย ปัจจุบันระบบต่าง ๆ สามารถเป็นส่วนกลางทั้งการติดตาม การประเมิน การดูแลโครงการและการใช้ประโยชน์  นอกจากนี้ยังมีการจัดทำจดหมายเหตุการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และดัชนีการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ

4.งานวิจัยด้านผลผลิตการเกษตรในระดับส่งออก อาทิ การพัฒนาและยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสดแบบแกะพู และการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว มะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา 5.งานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ นวัตกรรม Software Smart Bed นวัตกรรมป้องกันการเกิดแผลกดทับ นวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกเอสเพส (sPace) และโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ หรือ Fluke Free Thailand 6.งานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อาทิ นวัตกรรม “ระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ” หรือ “ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ (Air Quality Information Center: AQIC)” และ สวน “ภูมิทัศน์พรรณไม้ลด PM2.5”

7.การพัฒนาสมรรถนะด้วยปัญญาประดิษฐ์: เทคโนโลยีโดรน อาทิ การบินโดรนแปรอักษรหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดรนประเมินความเสี่ยงปัญหาภัยแล้งให้เกษตรกร และโดรนบรรทุกสารดับเพลิง เพื่อการสนับสนุนและลดความเสี่ยงของการดับไฟป่า 8.งานวิจัยเพื่อเตรียมรับสังคมสูงวัย อาทิ โครงการเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง

9. ศูนย์พัฒนาความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม อาทิ ศูนย์เกษตรวิถีเมือง พื้นที่แห่งการเรียนรู้นวัตกรรมการปลูกพืชในเมือง ศูนย์พัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนาคตและความยั่งยืน เป็นอาคารต้นแบบในการนำสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมมาสร้างพื้นที่ในการเรียนรู้ และ 10. รางวัลรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2566 (Digital Government Award 2023) หรือ DG Awards 2023 ซึ่ง วช. ได้ยกระดับระบบการให้บริการในรูปแบบออนไลน์ หรือ e-Service ให้มีมาตรฐาน จนได้รับรางวัล 4 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลหน่วยงานคุณภาพ ด้านบุคลากรดิจิทัล รางวัลหน่วยงานคุณภาพ ด้านบุคลากรดิจิทัล รางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านการใช้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) และ รางวัลรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานระดับกรมที่ให้บริการเป็นหลัก อันดับที่ 5

สำหรับในปี 2567  ดร.วิภารัตน์   กล่าวว่า   วช. ได้ตั้ง Flagships ที่จะขับเคลื่อนยกระดับผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อทำให้เกิดผลงานที่มี Impact สูงทางสังคมและเศรษฐกิจ สร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการ เพื่อตอบโจทย์ท้าทายสำคัญทางสังคม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ บรรลุตามเป้าหมายการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยได้วาง Flagships ไว้ 10 ด้าน ดังนี้

Flagships ที่ 1 ด้านอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ วช. ได้กำหนดทิศทางและจุดมุ่งเน้นที่สำคัญของ Creative economy และ soft power ที่ประเทศไทยมีโอกาสและมีศักยภาพ ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ให้เป็นไปอย่างมีทิศทางเชิงกลยุทธ์ นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจโดยอุตสาหกรรม Soft Power เป้าหมายของประเทศไทย

Flagships ที่ 2 ด้านอุตสาหกรรมอาหาร วช. มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Innovation house) โดยใช้วัตถุดิบทางการเกษตรมาแปรรูปในเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ

Flagships ที่ 3 ด้านเศรษฐกิจฐานรากและเชิงพื้นที่ วช. มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและพื้นที่ชุมชนให้มีความมั่นคงและยั่งยืน

Flagships ที่ 4 ด้านการรองรับสังคมสูงวัย วช. มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมที่รองรับสังคมสูงวัย เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ

Flagships ที่ 5 ด้านสังคมไทยไร้ความรุนแรงนวัตกรรมยุติธรรมท้าทายไทย วช. มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์สังคมไทยไร้ความรุนแรง เพื่อความสงบสุขสันติของประชาชน

Flagships ที่ 6 ด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ วช. มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพและเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น นวัตกรรมเท้าเทียมไดนามิกส์, นวัตกรรมทวารเทียม, นวัตกรรมเตียงพลิกตะแคงป้องกันแผลกดทับ เป็นต้น

Flagships ที่ 7 ด้านสิ่งแวดล้อม วช. มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืน และครอบคลุมในประเด็นต่าง ๆ

Flagships ที่ 8 ด้านการบริหารจัดการน้ำ วช. มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ผลักดันแนวทางการจัดการน้ำเพื่อรับมือและแก้ปัญหาวิกฤตน้ำท่วม น้ำแล้ง ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ

Flagships ที่ 9 ด้าน AI ปัญญาประดิษฐ์ วช. มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ 

Flagships ที่ 10 ด้านการพัฒนาการของมาตรฐานการจัดการข้อมูลในคลังสารสนเทศดิจิทัลของไทย วช. ได้จัดทำมาตรฐานการจัดการข้อมูลในคลังสารสนเทศดิจิทัล เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการจัดการข้อมูลในคลังสารสนเทศดิจิทัลและใช้เป็นมาตรฐานในการตรวจประเมินและรับรองคุณภาพการดำเนินงานคลังสารสนเทศดิจิทัลของประเทศไทย

“วช. เชื่อมั่นว่า 10 Flagships ปี 2567 จะชูศักยภาพงานวิจัยให้ใช้ได้จริง สร้างโอกาสให้คนไทยก้าวไกลระดับโลก ตอกย้ำภารกิจขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ พลิกโฉมให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาและพร้อมสำหรับโลกอนาคต” ดร.วิภารัตน์ กล่าว