บพข.หนุนใช้งานวิจัยและนวัตกรรมตอบโจทย์วิถีคนเมือง

Cover Story

                “ โจทย์วิจัยที่ดี…ควรมาจากความต้องการของผู้ใช้ ”  ด้วยการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน โดยเฉพาะกับ “คนเมือง”  ที่มีวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์แตกต่างไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง   ความเจริญของเทคโนโลยี  ความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ สภาพการแข่งขันของธุรกิจ ความเร่งรีบและปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ รวมถึงมลภาวะ ได้ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย  และกลายมาเป็นโจทย์สำคัญในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานต่าง  ๆ   ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเมืองในหลาย  ๆ มิติ  เพื่อที่จะทำให้การดำเนินชีวิตทั้งด้านการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัวของ “คนเมือง” ดีขึ้น

                 เมื่อเร็ว ๆ นี้  หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข.  ได้นำผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเมืองที่น่าอยู่ ( Digital Tech for Liveable City) ไปร่วมจัดแสดงในงาน  “ ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” ที่กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)  โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) รวมถึงหน่วยบริหารและจัดการทุนอื่น ๆ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดขึ้นที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

               งานนี้…ใช้ “กรุงเทพฯ” เป็นตัวแทนพื้นที่ของคนเมือง ที่จะนำผลงานวิจัยจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ไปใช้ประโยชน์ 

               “รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์”  ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาของ  บพข.สอดคล้องกับนโยบายของ “นางสาวศุภมาส อิศรภักดี”  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่ต้องการเร่งรัดการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปช่วยในการพัฒนาเมืองในทุกมิติ  โดยจับคู่โจทย์ความต้องการกับผลงานวิจัยของ อว. ที่เหมาะสม  เพื่อเกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และมุ่งพัฒนาความร่วมมือกับผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง  ซึ่งโจทย์วิจัยของ บพข. จะดูความต้องการของผู้ใช้งานเป็นหลัก  แต่กว่างานวิจัยจะไปถึงผู้ใช้ได้นั้น จำเป็นต้องมีผู้ประกอบการที่มองเห็นถึงความต้องการของตลาดหรือสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง  บพข. จึงมุ่งขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันทั้งจากภาครัฐและเอกชน  เพื่อทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง  มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน

               สำหรับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเมืองในมิติต่าง ๆ นั้น  ผู้อำนวยการ บพข. บอกว่า  เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องเร่งรีบพัฒนาเป็นพิเศษ เพราะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่องของข้อมูลและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง  บพข. ได้สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  การจัดทำข้อมูล และการสร้างแพลตฟอร์มกลาง เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลางรวมถึงสตาร์ทอัพ   ได้ใช้ประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรมและสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างรวดเร็ว  

               ซึ่งในงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง”   บพข. ได้มีการนำเสนอตัวอย่างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุน โดยเฉพาะ “เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเมืองที่น่าอยู่”  หรือ “Digital Tech for Liveable City”   ซึ่งมีความน่าสนใจ และถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายด้าน   อย่างเช่น  แพลตฟอร์ม “กิน อยู่ ดี”  แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพของคนไทยแบบครบวงจร  ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตปัจจุบันของสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมสูงวัย  การรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19  ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5   และการสร้างความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ 

               แพลตฟอร์มนี้  มีจุดเริ่มต้นจากการพัฒนาของ “ รศ.วิรุฬห์  ศรีบริรักษ์” จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่มุ่งมั่นในการสร้างเทคโนโลยีที่เป็นของคนไทยและเพื่อคนไทย  ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ   โดยอาศัยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และไอโอที(IoT) เป็นฐานในการพัฒนา  ซึ่งผลิตภัณฑ์และบริการของแพลตฟอร์ม “กิน อยู่ ดี”   จะพัฒนาจากการวิเคราะห์ปัจจัยภายใน ภายนอก และสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพของแต่ละบุคคล ทั้งวิถีการใช้ชีวิต การทานอาหาร ที่อยู่อาศัย ตลอดจนปัจจัยด้านดีเอ็นเอ เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิต ทั้งการกิน สุขภาพ ที่ยู่อาศัย และทรัพย์สิน

               ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อใช้ประโยชน์ด้านธุรกิจ บพข.นำเสนอผลงาน “ระบบบัญชีอัจฉริยะ Ztrus” จากบริษัท แอ็คโคเมท จำกัด ซึ่งเป็นดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยที่พัฒนาระบบ OCR (Optical Character Recognition)ในการเปลี่ยนข้อความในภาพหรือไฟล์สแกนเอกสาร ให้เป็นข้อมูลดิจิทัล และนำเทคโนโลยี AI  เข้ามาช่วย ทำให้เป็น Document Intelligence Platform ที่มีความฉลาด ยืดหยุ่น อ่านได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เช่น บัตรประชาชน ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น  สามารถอ่านข้อมูลได้แม่นยำถึง 97 % และอ่านได้อย่างรวดเร็วไม่เกิน 1 นาที  

               ระบบดังกล่าวตอบโจทย์ผู้ใช้งานในเชิงธุรกิจที่เป็นกระบวนการสำคัญ ที่เดิมต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากในการตรวจสอบ  โดย Ztrus มีการพัฒนาโซลูชั่นที่ช่วยลดปริมาณงาน เช่น  Purchase Order to  Sale Order (PO2SO)  การอ่านเอกสารคำสั่งซื้อจากลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว นำเข้าข้อมูลและสามารถสร้างเอกสารขายได้รวดเร็วขึ้น  หรือ 3-Way Matching (3WAYMAT)  ซึ่งเป็นการนำเอกสาร 3 ชนิด คือ Purchase Order, Invoice และ Receipts มาตรวจสอบความถูกต้อง ความครบถ้วนของรายการภายใน รวมถึงหาความแตกต่าง ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการทางธุรกิจ

                การใช้งาน AI  กับงานด้านเอกสารดังกล่าว สามารถลดปริมาณงานที่ต้องทำได้ 40 % – 80 % และเปลี่ยนหน้าที่ของผู้ใช้งานจากผู้พิมพ์เอกสาร มาเป็นผู้ตรวจสอบ รับรอง และแก้ไขข้อมูล ซึ่งเป็นการยกระดับหน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ใช้งานให้สูงขึ้น  และที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนในการใช้งานโซลูชั่นดังกล่าวซึ่งอยู่ในระบบ ERP ที่ต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาจำนวนมาก ช่วยทำให้ธุรกิจขนาดกลางที่กำลังเติบโต สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียมและมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

               นอกจากนี้  บพข. ยังสนับสนุนการพัฒนา “ Open Thai GPT”  หรือ “ปัญญาประดิษฐ์ภาษาไทยสำหรับคนไทยทุกคน”   ซึ่งสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท ไอแอพพ์เทคโนโลยี จำกัด  และเครือข่ายจากภาครัฐและเอกชน พัฒนาขึ้น โดย Open Thai GPT เป็นระบบแบบจำลองภาษาไทยขนาดใหญ่หรือ Large Language Model (LLM)ที่สามารถประมวลผลภาษาไทยได้เร็วเทียบเท่า ChatGPT  มีฐานข้อมูล Dictionary  ภาษาไทยมากกว่า 25,000 คำ ตอบโจทย์การสืบค้นข้อมูล แปลภาษา และสร้างข้อมูลอัตโนมัติภาษาไทย สามารถจัดการความซับซ้อนของการแบ่งคำ การใช้วรรณยุกต์ภาษาไทยได้  

               ระบบ Open Thai GPT  มีการพัฒนาแบบซอฟต์แวร์ Opensource  ที่ไม่เพียงแต่ส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ในชุมชนวิชาการและนักพัฒนาด้าน AI  แต่ยังเปิดโอกาสให้กับสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีคนไทยในการพัฒนาแอพพลิเคชันด้าน AI ที่เข้าใจและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ภาษาไทยมากขึ้น  และยังเปิดโอกาสให้กับภาษาไทยในการได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี  AI รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอนาคตอีกด้วย

               …นี่แค่ตัวอย่างของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ที่นำมาตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนเมืองในปัจจุบัน  

               นอกจากเทคโนโลยีดิจิทัล แล้ว บพข. ยังสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนเมือง เช่น ความนิยมในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของคนเมือง ที่ทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  บพข. ได้มีการยกระดับการพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงให้เป็นอาหารระดับพรีเมียม มูลค่าสูง ซึ่งสามารถแข่งขันในตลาด 

               ขณะที่การตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มรักสุขภาพและกลุ่มสตรี    บพข. สนับสนุนการพัฒนา “ Winona probiotic ” นวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากโพรไบโอติก สายพันธุ์ไทยรายแรกในประเทศ  ซึ่งผลการศึกษาจากศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางวิจัยด้านโพรไบโอติก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) พบว่าเป็นโพรไบโอติกที่มีคุณสมบัติ ช่วยลดการอักเสบ ลดน้ำตาลและไขมัน ช่วยระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ รวมไปถึงสมดุลสภาวะช่องคลอด   ซึ่ง “นพรัตน์  สุขสราญฤดี”  ผู้ก่อตั้งบริษัทวิโนน่า เฟมินิน จำกัด  บอกว่า วิถีคนเมืองในปัจจุบัน  มีการพึ่งพายาเป็นจำนวนมาก  อาหารทำให้คนเมืองมีปัญหา เพราะเน้นที่ความเร็ว อร่อย และถูกด้วย  ลำไส้จึงมีปัญหาจากอาหารที่ทาน ซึ่งจุลินทรีย์จะเป็นกลไกธรรมชาติที่จะช่วยปรับสมดุลในร่างกายให้คนกรุงโดยไม่ต้องทานยา  

               รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์   ผู้อำนวยการ บพข. บอกอีกว่า ที่ผ่านมา  บพข.  ยังได้สนับสนุนโจทย์วิจัยที่เกิดจากปัญหาของคนกรุงโดยตรง  อย่างเช่น กรณีหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดเมื่อปี 2565 ทำให้เกิดเหตุไฟไหม้ในย่านตลาดสำเพ็ง  บพข. ได้สนับสนุนโครงการพัฒนา  “น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยากจากน้ำมันปาล์ม หรือ EnPAT ”   โดย ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข ทีมวิจัยเทคโนโลยีเชื้อเพลิงสะอาดและเคมีขั้นสูง ศูนยเ์ทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)   

               ปัจจุบันน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าส่วนใหญ่ใช้น้ำมันแร่ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมซึ่งมีความเสถียรต่อออกซิเจนสูงและเป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดี แต่ก็มีความเสี่ยง เรื่องของการลุกติดไฟได้ง่ายเมื่อเกิดการลัดวงจรในหม้อแปลงไฟฟ้า และหากเกิดการรั่วไหลออกสู่ภายนอก น้ำมันแร่จะปนเปื้อนในดินและน้ำ สร้างปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จากปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยได้มีการพัฒนา  “EnPAT” ซึ่งติดไฟยาก โดยมีจุดวาบไฟหรือจุดติดไฟสูงกว่า 300 องศาเซนเซียส  ขณะที่น้ำมันแร่มีจุดติดไฟน้อยกว่า 150 องศาเซนเซียส    จึงสามารถสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนต่อการเกิดไฟไหม้ในหม้อแปลงไฟฟ้า นอกจากนี้ยังย่อยสลายได้ในธรรมชาติ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

               และเมื่อหมดอายุการใช้งาน ยังสามารถนำ “EnPAT”  มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลได้อีกด้วย เนื่องจากมากกว่า 97% ของ EnPAT ผลิตมาจากน้ำมันปาล์ม  ปัจจุบันงานวิจัยอยู่ระหว่างดำเนินโครงการและนำร่องทดสอบภาคสนามเชิงบูรณาการเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืนต่อไป

                จากผลงานที่นำเสนอ …จะเห็นได้ว่าการสนับสนุนของ บพข. ในปัจจุบัน  ไม่ได้มุ่งเน้นแค่การต่อยอดงานวิจัยเชิงลึกหรือดีฟเทคเท่านั้น  แต่ยังมุ่งตอบโจทย์ความต้องการใช้งานจริงที่ครอบคลุม และเปิดกว้างสำหรับการสร้างนวัตกรรมใหม่  ๆ ที่มีการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน   มีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศอย่างชัดเจน โดยใช้การวิจัยและพัฒนาเป็นหัวใจหลักในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน  เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างยั่งยืน และที่สำคัญต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย.