เปิด”ศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตร” ต้นแบบแห่งแรกของภาคใต้

ออนไซต์-ในสนาม

วช. ร่วม เปิดศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตร ต้นแบบแห่งแรกของภาคใต้ ที่วิทยาลัยการอาชีพหลังสวน จ.ชุมพร พร้อมให้บริการแบบครบวงจร

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับวิทยาลัยการอาชีพหลังสวน จ.ชุมพร และสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ  เปิดศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตรต้นแบบแห่งแรก ณ จังหวัดชุมพร  

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนการนำเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร มาใช้ยกระดับประสิทธิภาพภาคการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชุมพร โดยใช้กลไกการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตร เป็นต้นแบบ ณ วิทยาลัยการอาชีพหลังสวน จ.ชุมพร ซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้  วช.ได้สนับสนุนให้มีการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับและวิทยาลัยการอาชีพหลังสวน จ.ชุมพร ซึ่งศูนย์การเรียนรู้ที่วิทยาลัย จะเป็นต้นแบบศูนย์แห่งแรกของภาคใต้ ที่ให้บริการแบบครบวงจร อาทิ การถ่ายทอดองค์ความรู้ การประกอบ การซ่อม และการให้บริการการบินโดรนเพื่อการเกษตร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชุมพร

อาจารย์พิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล กล่าวว่า โครงการศึกษาประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรในพื้นที่ต้นแบบจังหวัดชุมพร ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อนำเทคโนโลยีโดรนไปใช้ประโยชน์กับเกษตรกร ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งพื้นที่ต้นแบบจังหวัดชุมพร เป็นพื้นที่ภูเขาสูงและมีพืชสวนที่มีต้นไม้สูง โดยเฉพาะทุเรียน ที่มีผลผลิตมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ มีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมากกว่า 24,000 ราย การพัฒนาเทคโนโลยีโดรนมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาภาคการเกษตรในภาคใต้ จึงเป็นการบูรณาการร่วมกันหลายภาคส่วนในการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้โดรนเพื่อการเกษตรในพื้นที่ต้นแบบ ณ วิทยาลัยการอาชีพหลังสวน จ.ชุมพร

โดยศูนย์แห่งนี้ ดำเนินการครบวงจร  มีการพัฒนาจัดทำเป็นหลักสูตรในการอบรม  ประกอบด้วย การประกอบการบินโดรน การฝึกบินโดรน การลงพื้นที่จริงเพื่อฝึกให้สามารถบินโดรนในพื้นที่จริง โดยใช้โดรนขนาดใหญ่ที่มีเรดาร์ป้องกันการชน เพิ่มฟังก์ชันใส่ถังในการหวานเมล็ดและยาฆ่าแมลงต่าง ๆ  และการบริการให้กับเกษตรกรในการพ่นสารเคมียาฆ่าแมลงโดยใช้โดรน  นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างยั่งยืน มีนักศึกษาหมุนเวียนต่อยอดอย่างต่อเนื่อง  มีการถ่ายทอดองค์ความรู้การอบรมเชิงปฏิบัติด้านการประกอบอากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตรกรรม   สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรกรรมในหลายด้านทั้งการลดระยะเวลาในการฉีดพันสารชีวภาพให้แก่พืช ทำให้เทคโนโลยีโดรนเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแบ่งเบาภาระในการทำงานของเกษตรกรได้

ด้านนายจีรศักดิ์ แสงหอย นายอำเภอหลังสวน จ.ชุมพร  กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ โดรนเพื่อการเกษตร ในพื้นที่ต้นแบบจังหวัดชุมพร เป็นการบูรณาการงานในพื้นที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้  เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะการนำโดรนมาใช้ในการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง การหว่านเมล็ดพันธุ์พืช การใส่ปุ๋ย เป็นต้น ช่วยลดเวลาในการทำงานและลดปัญหาการจ้างแรงงานลงไปได้ ซึ่งถือเป็นความยั่งยืนในการทำการเกษตรต่อไป

ทั้งนี้ คณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และคณะนักวิจัย ได้ลงพื้นที่ชมการสาธิตการใช้งานโดรนระบบอัตโนมัติเพื่อการเกษตร ณ แปลงปลูกในสวนทุเรียน   พบว่าโดรนเพื่อการเกษตรสามารถใช้งานได้อย่างดี ทั้งนี้ มุ่งหวังว่าโครงการนี้จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชุมพร และพื้นที่ใกล้เคียงในเขตภาคใต้  โดยการนำเทคโนโลยีโดรนมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดต้นทุน ลดปัญหาการจ้างแรงงาน และเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ให้ยั่งยืนต่อไป