รอชมงานวิจัย BCG Implementation พลิกโฉมประเทศใน “ NAC2024 ”

Cover Story

             กลับมาอีกครั้ง ..กับงาน “การประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 19 (19th NSTDA Annual Conference: NAC2024) ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 19   

             ปีนี้จัดแบบออนไซต์เต็มรูปแบบทั้งภาคการประชุมและนิทรรศการ  ภายใต้แนวคิด “สานพลัง สร้างงานวิจัย พลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วย BCG Implementation”  ที่จะเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) และผลงานวิจัยพัฒนาที่ สวทช. ดำเนินการวิจัยเองและที่ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร

             ในการนี้ สวทช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดการประชุมและทอดพระเนตรนิทรรศการวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. โดยสามารถติดตามรับชมการถ่ายสดผ่านสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย NBT 2HD

             ….สำหรับงานวิจัย BCG  อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ของ สวทช.   แต่ไฮไลท์ของการนำเสนอผลงานวิจัยในงาน NAC 2024 ในปีนี้   ก็คือ  การมุ่งเน้นนำเสนอให้เห็นภาพการดำเนินการในการนำเอางานวิจัย BCG ไปใช้ประโยชน์กับภาคส่วนต่าง ๆ  ซึ่งเป็นการร่วมกันสานพลัง  สร้างงานวิจัยที่จะพลิกโฉมประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

             ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์  ผู้อำนวยการ สวทช.  กล่าวว่า สิ่งที่จะเห็นในงานเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงาน BCG Implementation เพื่อตอบเป้าหมายหลักของแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ได้กำหนดไว้ใน 4 มิติ  ได้แก่ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ  เพิ่มการพึ่งพาตนเอง  และสร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทยสู่ความยั่งยืน

              “   นักวิทยาศาสตร์ทำการวิจัยเพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมถึงเมื่อมีเรื่องโลกร้อน มีปัญหาเรื่องประเทศไทยเสียเปรียบในขบวนการผลิต  รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเรื่องของ BCG Economy  Model   โดย สวทช.ได้มีรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งโจทย์ยากไม่ใช่ในเรื่องของการวิจัย ในเรื่องของ Bio   ไม่ใช่ความยากของการวิจัยในเรื่อง Circular หรือเรื่อง Green  แต่ส่วนที่ยาก ก็คือ เมื่อวิจัยแล้วจะทำอย่างไร ซึ่งปีนี้งาน  NAC 2024  จะนำเรื่องเหล่านี้มานำเสนอ และตอบคำถามที่ว่าหากจะเอางานวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้งานจริง ควรที่จะตอบโจทย์อะไรบ้าง ที่ผ่านมาเรื่องนี้มักจะมุ่งอธิบายว่า  Bio-Circular- Green คืออะไร แต่ไม่ได้บอกว่าทำแล้วได้อะไร ดังนั้นเป้าหมายของโครงการ BCG Economy  Model จะตอบอย่างชัดเจนใน 4 เรื่องหลักข้างต้น ”

             ดร. สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) สวทช. กล่าวว่า  หนึ่งในไฮไลต์ที่ได้รับความนิยมจากผู้เข้าร่วมงาน NAC ทุกๆ ปี คือ หัวข้อสัมมนาที่เข้ากับยุคสมัย ปัญหาโลกร้อน โลกรวน และเทรนด์งานวิจัยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น งาน NAC ปีนี้ มีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจหลายหัวข้อที่นอกจากวิทยากรทั้งจากนักวิจัยจาก 5 ศูนย์แห่งชาติแล้ว ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรจากหน่วยงานพันธมิตรของ สวทช. ทั้งในและต่างประเทศ ที่ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรงที่จะมาร่วมแชร์ข้อมูล มากกว่า 40 หัวข้อ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์จากการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม อาทิ มาตรการรองรับ CBAM ของอุตสาหกรรมไทยพร้อมมุ่งสู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน, โลกเปลี่ยน คนปรับ : พัฒนาคุณภาพน้ำชุมชนเพื่อคุณภาพชีวิต ด้วย วทน. และ ฝุ่น! : ปัญหาและการรับมือ  หรือ ด้านสุขภาพการแพทย์ ได้แก่ เทคโนโลยี Digital Health เพื่อการยกระดับการให้บริการสาธารณสุข, จีโนมิกส์ประเทศไทย: การแพทย์จีโนมิกส์เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย Pharma NETwork ผสานพลังเพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาไทย  

             นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Open house โดย สวทช. และประชาคมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ร่วมเปิดบ้านต้อนรับนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม และนักลงทุน ได้เข้าชมโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ  รวมถึงการเข้าชมตัวอย่างผลงานนวัตกรรมจากบริษัทผู้เช่าพื้นที่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ตลอดจนนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ธุรกิจจากบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี  

             สำหรับไฮไลต์ของนิทรรศการปีนี้ ดร.สุธี ผู้เจริญชนะชัย  รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า  นอกจากนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย” ยังมีนิทรรศการความก้าวหน้าของงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากนักวิจัย สวทช. ทั้ง 5 ศูนย์วิจัยแห่งชาติ ที่ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ตลอดจนชุมชนและภาคประชาสังคมทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 57 ผลงาน  มีทั้งผลงานวิจัยที่นำไปใช้จนเกิดประโยชน์ในวงกว้างเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และผลงานวิจัยที่พร้อมส่งมอบให้กับภาคสังคมได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้

             ตัวอย่างผลงานวิจัยเด่นด้าน BCG และใกล้ตัว   อย่างเช่น  การพัฒนาวัคซีนสำหรับสัตว์เศรษฐกิจ โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ซึ่งที่เป็นการพัฒนา วัคซีนป้องกันโรคระบาดในสุกรจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ท้องถิ่นของประเทศไทย มีความใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ โดยใช้องค์ความรู้จากผู้วิจัยในประเทศทั้งหมด ซึ่งไวรัสต้นแบบมีความปลอดภัยสูงในสุกร และมีความสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้ดีกว่าวัคซีนรูปแบบอื่น ๆ ในปัจจุบัน โดยวัคซีนสำหรับสัตว์เศรษฐกิจที่พัฒนาขึ้นนั้น ผ่านการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพเบื้องต้นร่วมกับกรมปศุสัตว์ในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน และมีศักยภาพการขยายขนาดเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้   ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการลงนามความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคเอกชนเพื่อต่อยอดการใช้งานในฟาร์มเกษตรกร

             นวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองติดตามโรคไตเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวานเชิงคุณภาพ (AL-Strip) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ซึ่งเป็นชุดตรวจแบบรวดเร็วอ่านผลได้ด้วยตาเปล่าในเวลา 5 นาที  ทำงานโดยอาศัยหลักการการจับกันระหว่างแอนติเจนกับแอนติบอดีแบบแข่งขัน (competitive lateral flow immunochromatographic assay) โดยใช้แอนติบอดีที่จำเพาะต่อโปรตีนไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ ใช้งานง่าย มีความแม่นยำ มีความจำเพาะต่ออัลบูมินสูง และมีราคาถูกกว่าการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการตรวจคัดกรองภาวะไตเสื่อมในระยะต้น ลดค่าใช้จ่ายและลดการเดินทางเข้ามาตรวจในโรงพยาบาล รวมทั้งสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมสุขภาพเชิงป้องกันโรคไตเรื้อรังในคนไทย  ปัจจุบันผลงานวิจัยอยู่ระดับ TRL7  พรอ้มเข้าสู่เชิงพาณิชย์

             Thai School Lunch for BMA (สำหรับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นเป็นระบบจัดสำรับอาหารเช้า-กลางวัน ในโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้มีคุณค่าสารอาหารตามเกณฑ์สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร สามารถวิเคราะห์ปริมาณวัตถุดิบที่ต้องใช้ การประมาณการค่าใช้จ่าย ระบบการตรวจรับวัตถุดิบที่จัดส่งโดยผู้ประกอบการอาหาร และแกลลอรี่รูปภาพอาหารในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้ปกครอง ครู และสังกัดการศึกษาสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอาหารร่วมกันได้ ตอบความต้องการเรื่องของโภชนาการ ค่าใช้จ่าย  รวมถึงการติดตาม ประเมินคุณภาพ และการบริหารจัดการที่ผู้บริหารกทม. สำนักการศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 50 เขตสามารถติดตามการจัดการอาหารของโรงเรียนได้แบบ real-time  ปัจจุบันมีการใช้งานจริงในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 437 แห่ง

             Lookie Waste: แอปพลิเคชันตรวจสอบปริมาณขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหาร โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันบนแพลตฟอร์มโทรศัพท์มือถือ รองรับทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android เพื่อใช้ตรวจสอบปริมาณขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน สามารถติดตามขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารจากแหล่งกำเนิดได้อย่างต่อเนื่อง โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการประมวลผลด้วยภาพถ่าย (image processing) ในการทำนายประเภทอาหารและคาดการณ์ปริมาณขยะอาหารจากการบริโภค รวมถึงประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์ หน่วยเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์   รวมทั้งคาดการณ์ผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์ในรูปแบบมูลค่าทางการเงินที่ผู้บริโภคต้องสูญเสียจากขยะอาหาร นำไปประยุกต์ใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบาย มาตรการลดและป้องกันขยะอาหาร และวางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภค

             “EnPAT” น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยาก โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) ร่วมกับพันธมิตร พัฒนาขึ้น มีคุณสมบัติเด่นที่มีจุดติดไฟสูงกว่า 300 องศาเซลเซียส สามารถป้องกันอัคคีภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ช่วยสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้แก่ประชาชน ต่อเหตุการณ์ไฟไหม้จากหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่น้ำมันปาล์มไทยได้มาก เป็นการช่วยยกระดับผลผลิตทางการเกษตร โดยนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ก่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย  ปัจจุบันระบบEnPAT มีกำลังการผลิตใน ระดับ Pilot Scale ที่ 400 ลิตรต่อครั้ง และจะมีการนำร่องใช้งานจริงภายในปี2567 นี้ โดยจะติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าที่บรรจุEnPAT  ในพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)

             นอกจากนี้ในงาน NAC 2024   จะมีการนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของบริษัทเอกชนภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (อวท.)  เช่น บริษัท นาโน โค๊ตติ้ง เทค จำกัด ดีพเทคสตาร์ทอัพของไทยที่ได้รับสิทธิประโยชน์และสร้างโอกาสทางธุรกิจจากการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกของ อวท. ทั้งการวางแผน บ่มเพาะและอบรมเพิ่มทักษะทางธุรกิจ และได้รับโอกาสจากการเชื่อมโยงแหล่งทุนทั้งในและต่างประเทศ จนล่าสุดได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่ Hong Kong Science Park มอบทุนไปขยายตลาดต่างประเทศ

             สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ ในงาน  NAC2024  ยังเปิดบริการให้ผู้เข้าร่วมงานปรึกษาและขอคำแนะนำจากศูนย์ Connex ซึ่งเป็นศูนย์เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. สู่ภาคธุรกิจในรูปแบบครบวงจร ที่จะช่วย Connect ผู้ประกอบการธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งความรู้ งานวิจัย รวมถึงแหล่งทุน และเป็นตัวกลางในการให้คำปรึกษาที่ตรงโจทย์โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการต่อยอดเชิงพาณิชย์

             และในงานดังกล่าวยังมีกิจกรรม NAC Market ที่จะนำสินค้านวัตกรรมที่พัฒนาจากงานวิจัยและบริการต่าง ๆ ของ สวทช. และสินค้าชุมชนและสินค้าอื่น ๆ มาจำหน่าย รวมถึงมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเยาวชน การเสวนาสำหรับครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ในรูปแบบที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะไม่ได้ฟังบรรยายอย่างเดียว แต่ยังได้ลงมือประดิษฐ์และการทดลองจริงอีกด้วย

             งาน NAC2024 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2567 เวลา 09.00-16.30 น. ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (ยกเว้นวันที่29 มีนาคม 2567 เปิดให้เข้าชม เวลา 13.00-16.30 น.) ผู้สนใจลงทะเบียนร่วมงานได้ฟรีที่ https://www.nstda.or.th/nac  สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0 2564 8000