อว.โชว์พลังมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

News Update

“ศุภมาส” ปลื้ม กว่า 170 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ รวมพลังขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ริเริ่มขับเคลื่อนด้วย 4 หน่วยงานหลัก สอวช. ทปอ. สกสว. และ สส. เตรียมลงนามความร่วมมือ เดินหน้าดำเนินงานสู่ Net Zero

วันนี้ (28 มีนาคม 2567) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา “พลังมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Campus)” จัดโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยเข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน 

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความตั้งใจในการนำพลังของมหาวิทยาลัยกว่า 170 แห่ง ที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยการนำของ ทปอ. ทั้ง 4 แห่ง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ของประเทศ ซึ่ง กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการนำพาประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน จึงได้มีการขับเคลื่อนนโยบายหลายด้าน อาทิ “อว. For EV” ที่มีมาตรการสำคัญ คือ EV Transformation โดยมีเป้าหมายให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานในกระทรวง อว. ปรับเปลี่ยนรถที่ใช้งานเป็นรถ EV 30% ภายในปี 2030 ซึ่งทำให้ได้เห็นถึงพลังของมหาวิทยาลัยในการร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว จากการที่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนมาใช้รถ EV และหลายมหาวิทยาลัยมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้รถ EV ในอนาคตด้วย ทั้งนี้ หากบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย 5,000 คัน ภายในปี 2030 ก็จะช่วยประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงปีละประมาณ 500,000 ตัน

รมว.อว. กล่าวอีกว่า เราได้เห็นพลังมหาวิทยาลัยที่เราได้ทำสำเร็จในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษาในด้านต่าง ๆ และได้ประกาศในงาน Future Thailand เมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา ครั้งนี้จะเป็นอีกครั้ง ที่เราจะได้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกัน ด้วยการใช้พลังมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนเรื่องที่สำคัญ ๆ ของประเทศ และ สอวช. สกสว. ก็ได้เข้ามาร่วมดำเนินการด้วย ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน มีบทบาทสนับสนุนที่สำคัญ และร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่อง Net Zero Emission ของประเทศทุกมิติ

“กระทรวง อว. มีพลังอย่างมากที่จะช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศ ในเรื่อง Net Zero Emission ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของประเทศที่ผูกโยงทั้งมิติเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม เนื่องด้วย กระทรวง อว. ของเรามีทรัพยากรที่พร้อมจะสนับสนุนการดำเนินงาน การจัดงานในครั้งนี้จึงตอบโจทย์เป้าหมายประเทศ นอกเหนือจากการดึงทรัพยากร อว. มาใช้ คือ มหาวิทยาลัยจะร่วมกันดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในด้านพลังงาน และการจัดการของเสีย นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนชุมชนและพื้นที่ต่าง ๆ ร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการทำงานวิจัยและใช้นวัตกรรม ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถขยายไปสู่การสนับสนุนให้มีการเรียนการสอน การทำวิจัย และการจัดสรรทุนวิจัยที่เกี่ยวข้องและตรงตามความต้องการอย่างแท้จริงต่อไปได้” รมว.อว. กล่าว 

ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ประธาน ทปอ. กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญของความร่วมมือครั้งนี้ คือการรวมพลังของมหาวิทยาลัยและเครือข่าย เพื่อให้เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2065 โดย สอวช. ภายใต้บทบาทการเป็นหน่วยประสานงานกลาง ด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) ภายใต้กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Mechanism) ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) และด้านนโยบาย อววน. ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะผลักดันในเชิงนโยบายระดับประเทศ ที่ต้องผลักดันผ่านกลไกของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ส่วน สกสว. มีบทบาทสนับสนุนการจัดสรรงบประมาณในการขับเคลื่อนงานวิจัยให้ไปสู่การปฏิบัติจริง รวมถึง สส. ซึ่งเป็นความหวังของประเทศ เป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ โดยทั้ง 4 หน่วยงานมีแผนที่จะทำข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานร่วมกันในเดือนพฤษภาคมนี้

ประธานฯ ทปอ. กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ทปอ. มีสมาชิก 36 สถาบัน และยังมีสมาชิกที่อยู่ในเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) อีกกว่า 49 แห่ง นอกจากนี้ ยังมี ทปอ. มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท) รวมแล้วกว่า 170 แห่ง ที่ร่วมกันทำงาน เพื่อตั้งโจทย์วิจัยที่มีเป้าหมายตรงกันตามนโยบายบายของ รมว.อว. ที่ให้เพิ่มงานวิจัยที่ตรงเป้า ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกมิติ และศึกษาเชิงนโยบายขยายผลไปสู่ Net Zero Emission ผลักดันไปสู่ระดับชุมชนด้วย

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวในช่วงการเสวนาหัวข้อ “พลังมหาวิทยาลัยขับเคลื่อน Net Zero Emission ของประเทศ” ว่า สอวช. พยายามตั้งเป้าหมายในภาพใหญ่ของประเทศเพื่อมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในมุมของการใช้การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) เข้าไปสนับสนุน อีกทั้งด้าน สส. ก็ตั้งเป้าหมายของประเทศในมุมของการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน หากไม่เพิ่มจำนวนผู้เล่น รวมถึงการไม่นำ อววน. ใส่เข้าไปในการการดำเนินการ โอกาสที่บรรลุเป้าหมายเป็นไปได้ยาก ขณะเดียวกันเป้าหมายดังกล่าวนั้น ก็เริ่มขยายผลไปสู่พื้นที่ ภาคชุมชน ที่ต้องปรับตัว ซึ่งต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐาน ของสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจำนวนมาก หากทุกหน่วยงานทำเรื่องนี้อย่างพร้อมเพรียงกันก็จะทำให้เกิดผลสำเร็จได้

ดร.กิติพงค์ กล่าวด้วยว่า นอกจากโครงสร้างพื้นฐานในมหาวิทยาลัยแล้ว เทคโนโลยีบางอย่างที่เราไม่มีก็อยากเสนอให้ทางมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ตลอดจนภาคเอกชน ร่วมมือกันนำเข้ามาจากประเทศที่มีความพร้อม เพื่อนำมาผสมผสานกับสิ่งที่เรามี จากนั้นถ่ายทอดไปสู่ผู้ใช้จริง คือเกษตรกรและชุมชน อาทิ เทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก (SMR/MMR) เพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะเป็นตัวเร่งไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ รองผู้อำนวยการ สอวช. ยังได้ร่วมบรรยายถึงบทบาท อววน. เพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อนเทคโนโลยีสนับสนุนการมุ่งสู่ Net Zero Emission และยังได้มีการจัดกิจกรรม Sharing and Learning: การขับเคลื่อน Net Zero Emission โดยผู้แทนจากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายต่าง ๆ ได้แก่ เครือข่าย SUN Thailand ทปอ. มรภ. ทปอ. มทร. และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้อภิปรายหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันด้วย