“1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว”

News Update

ยังจำกันได้ไหม ! … “  5 พฤษภาคม 2557 ”  เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่มีศูนย์กลางการเกิดอยู่ที่ ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย  ซึ่งเป็นเหตุการณ์ “แผ่นดินไหว” ที่รุนแรงที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของประเทศไทย

             ภัยพิบัติครั้งนั้นนอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง ทั้งการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินที่เสียหายอย่างมากไม่ว่าจะเป็นโบราณสถาน สถานที่ราชการ โรงเรียน  เส้นทางคมนาคมรวมถึงบ้านเรือนประชาชนแล้วยังสร้างความตระหนกตกใจให้กับประชาชนทั้งประเทศในขณะนั้น   เพราะจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่คนไทยเคยคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ได้กลายมาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลา  แม้จะไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อย แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าได้  แม้จะมีการแจ้งเตือนทันทีก็ถือว่ายังไม่ทันการณ์

             การเตรียมความพร้อมในการรับมือ  จึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญซึ่งที่ผ่านมาหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการศึกษาวิจัยองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง และได้มีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั่วโลก รวมถึงประสบการณ์ตรงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

                ล่าสุด…   กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ร่วมกับ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมรำลึกถึง “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ขึ้นระหว่างวันที่  5-7  พฤษภาคม  2567 ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จ.เชียงราย  เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรง ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

             นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ยากต่อการพยากรณ์ให้มีความแม่นยำ แม้ว่าปัจจุบันจะมีองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  จ.เชียงราย ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมาหลายครั้ง แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สร้างความตระหนกตกใจให้กับคนในพื้นที่และประชาชนทั้งประเทศ ก็คือเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง  ของประเทศเกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมากแรงสั่นสะเทือนของการเกิดแผ่นดินไหวสามารถรับรู้ได้ทั้งภาคเหนือของประเทศไทย ประเทศเมียนมาร์และสั่นสะเทือนจิตใจของประชาชน  เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และทำให้ประชาชนมีความตระหนักมากขึ้น  จึงร่วมกัน จัดงานดังกล่าวขึ้น  ซึ่งในจังหวัดเชียงรายก็ยังมีรอยเลื่อนที่สำคัญ ทั้งรอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนพะเยา ที่คาดว่ายังสามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้อีก

             การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีการบรรยายพิเศษ “รู้ทันแผ่นดินไหว” และการเสวนาในหัวข้อ “สิบปีผ่านไป แผ่นดินไหว เราไหวอยู่”   เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก  จึงควรศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการเกิดของแผ่นดินไหวที่แท้จริงและการซักซ้อมแผนเพื่อรับมือกับเหตุแผ่นดินไหวเพื่อเป็นแนวทางในการลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต 

             ด้าน ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ  เปิดเผยในงานแถลงข่าวการจัดงาน ว่า  “การเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหวเกิดขึ้นมานานแล้ว  ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวที่แม่ลาว  แต่เหตุการณ์ที่แม่ลาวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะว่าก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่แม่ลาว หลายคนยังไม่เชื่อว่าแผ่นดินไหวเป็นอันตรายที่แท้จริง  พอเกิดที่เชียงราย ทำให้หลายภาคส่วนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ทำให้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือที่ดีขึ้น ในฐานะที่ผมเป็นนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องแผ่นดินไหวมานาน ก็คิดว่าการเตรียมพร้อมรับมือในปัจจุบันยังต้องทำให้ดีกว่านี้อีก ส่วนการตระหนักรู้เรื่องแผ่นดินไหวของเราก็ยังไม่ดีพอ  การจัดงานครั้งนี้จึงสำคัญมากในการที่เราจะนำข้อมูลใหม่หรือความรู้ใหม่ ๆ มาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ”

             ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมที่ประเทศไทยยังสามารถทำเพิ่มเติมได้อีกนั้น  ดร.เป็นหนึ่ง  บอกว่า   เรื่องสำคัญลำดับแรกคือ การทำให้อาคารบ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยสามารถทนต่อแผ่นดินไหวได้  โดยปัจจุบันมีอาคารบ้านเรือนเป็นจำนวนมากที่อ่อนแออยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก   อาคารที่อ่อนแอเหล่านี้ถูกใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน  หากจะมีอาคารรุ่นใหม่เกิดขึ้นในอนาคตก็จะต้องออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหวได้ดีขึ้น ส่วนอาคารอ่อนแอที่มีอยู่ก็ต้องมีการเสริมความแข็งแรงให้ดีขึ้น

             “นอกจากนี้ยังต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือในจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวได้ เนื่องจากภัยพิบัติจะมีรูปแบบที่มีความซับซ้อน อาจจะอยู่ในรูปแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน  เราไม่เคยคิดว่าแผ่นดินไหวที่แม่ลาวจะเป็นตัวแทนของแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นในประเทศในอนาคต  เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาจจะร้ายแรงกว่านี้  แต่จะเกิดขึ้นอย่างไรก็ไม่รู้กัน เพราะฉะนั้นตอนนี้เรากำลังทำโครงการพัฒนาแบบจำลองเมืองเชียงใหม่และเชียงราย และอีกหลาย ๆ เมือง เพื่อประเมินผลกระทบและความเสียหาย  หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในอนาคต  โดยดูว่าสถานการณ์ในรูปแบบต่างๆ จะมีกระทบอย่างไร จะมีผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ เท่าไหร่ อาคารบ้านเรือนบริเวณใด แบบไหนจะเสียหายบ้าง  แบบไหนอ่อนแอเป็นพิเศษ เรากำลังประเมินกันอยู่ ในอนาคตเราอาจจะใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติให้ดีขึ้น และยังมี โครงการจัดสร้างระบบเฝ้าตรวจติดตามสุขภาพโครงสร้างอาคารสูงอีกด้วย ”

             ศ.ดร.เป็นหนึ่ง  กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัย ลำดับต้น ๆ ซึ่งจะอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันตก แล้ว ยังมีอีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าจะมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ คือกรุงเทพ และปริมณฑล เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนแหล่งดินอ่อนขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้มากกว่าปกติ ประมาณ 3-4 เท่าตัว  และไม่ใช่แค่ขยายความรุนแรงอย่างเดียว แต่ยังทำให้การสั่นสะเทือนมีลักษณะพิเศษ เป็นการสั่นแบบช้าๆ  จะมีผลอันตรายต่ออาคารบางประเภทที่เป็นอาคารสูงที่มีการยกตัวแบบช้าๆ  จะเกิดการกำทอนทำให้โยกตัวรุนแรงเกิดขึ้น  ซึ่งอาการบ่งชี้เหล่านี้เคยเกิดขึ้นแล้ว  เช่น กรณีการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกาะสุมาตรา หรือที่ประเทศจีน หรือที่ทะเลอันดามัน  ก็มาเขย่าตึกที่กรุงเทพ   เราคิดว่ามีโอกาสที่จะมีแผนดินไหวที่มีขนาดใหญ่กว่าที่เกิดขึ้นมาในอดีต  และมีผลกระทบที่รุนแรงกว่าในอดีต ดังนั้นการออกแบบอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ในกรุงเทพ จึงต้องเตรียมพร้อมในการรับมือแผ่นดินไหวด้วย

             ทั้งนี้สถานการณ์แผ่นดินไหวที่เป็นอันตรายต่ออาคารสูงในกรุงเทพ ฯ ได้แก่ แผ่นดินไหวขนาด 7-7.5 ที่จ.กาญจนบุรี แผ่นดินไหวขนาด 8 ที่แนวรอยเลื่อนสกายในประเทศพม่า และแผ่นดินไหวขนาด 8.5-9ที่แนวมุดตัวในทะเลอันดามัน

             สำหรับศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ   ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 โดยการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(สกสว.)  เพื่อเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านแผ่นดินไหว ซึ่งปัจจุบันมีเกือบ 50 คน จาก 18 สถาบันการศึกษา และ 2 หน่วยงานภาครัฐ

           ด้าน รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย กล่าวว่า มูลนิธิมดชนะภัย ตั้งอยู่ที่บ้านสิงหไคล จังหวัดเชียงราย เป็นองค์กรที่ไม่เเสวงหาผลกำไร เพื่อร่วมส่งเสริมด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรมให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองที่น่าอยู่ และเป็นเมืองศิลปะ รวมทั้งมุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์เเละวิศวกรรมศาสตร์เข้ามาช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ โดยทางมูลนิธิมดชนะภัย ได้ร่วมจัดกิจกรรม“1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหว ผ่านสื่อศิลปะและวิทยาศาสตร์ ให้กับผู้ที่สนใจตลอดเดือนพฤษภาคมนี้  และเป็นจุดเชื่อมต่อไปสู่เรื่องราวเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเป็นการสะท้อนให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการจัดการ ภัยพิบัติที่ดีร่วมกัน  

             นิทรรศการพิเศษ “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ประกอบด้วยนิทรรศการภาพเล่าเรื่อง นิทรรศการเชิงศิลปะสะท้อนภาพเหตุการณ์ และ นิทรรศการเชิงวิทยาศาสตร์  ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ ฟรีตลอดเดือนพฤษภาคมนี้  ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จ.เชียงราย