“NRIIS Project Tracking” ตอบโจทย์นักวิจัย ติดตามสถานะขอทุนแบบ Real Time

News Update

                 ทราบกันดีว่า… กว่านักวิจัยจะผลิตผลงานออกมาตอบโจทย์ประชาชน สังคมหรือประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะนอกจากความรู้ ความสามารถ ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาแล้ว  เงินทุนวิจัยคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โครงการต่างๆ สามารถดำเนินการต่อไปได้  

           และ “ หน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยของประเทศ” ก็คือ แหล่งเงินทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาที่สำคัญ  

            ทั้งนี้ปัจจุบันพบว่า การดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนของการบริหารจัดการทุนวิจัยของประเทศนั้น นักวิจัยสามารถทราบสถานะการดำเนินงาน ผ่านรูปแบบการแจ้งเป็นเอกสารจากเจ้าหน้าที่บริหารจัดการทุน  หรือการส่งผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้นักวิจัยไม่ได้รับความสะดวกรวดเร็วและอย่างทันท่วงทีในแต่ละขั้นตอน

           สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  พัฒนาระบบ   “  NRIIS  Project Tracking”   ขึ้น เพื่อใช้ในการติดตามสถานะโครงการวิจัยแบบ Real Time ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้นักวิจัยสามารถติดตามกระบวนการขอทุนวิจัย ตั้งแต่การยื่นข้อเสนอจนกระทั่งได้รับอนุมัติหรือปฏิเสธ  โดยระบบจะช่วยให้นักวิจัยสามารถติดตามสถานะข้อเสนอทุนวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง

           ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล  ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.)  กล่าวว่า ระบบดังกล่าวพัฒนาขึ้นตามนโยบายของ กสว. ที่ต้องการให้นักวิจัยและผู้เกี่ยวข้องสามารถติดตามความก้าวหน้าของโครงการวิจัยของตนเองได้ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการของแหล่งทุนวิจัยให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

           “วันนี้  วช. ร่วมกับ สกสว.และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบ ได้เปิดใช้งานระบบในการติดตามการวิจัยและวัตกรรมของประเทศ ที่เรียกว่า  NRIIS  Project Tracking ซึ่งเป็นการพัฒนาที่สำคัญตามนโยบายของกสว. ระบบนี้จะทำให้นักวิจัยและผู้เกี่ยวข้องสามารถที่จะติดตามได้ว่าโครงการวิจัยแต่ละโครงการของตนเอง ขณะนี้ได้อยู่ในขั้นตอนใดของการพัฒนาโครงการวิจัย นับจากยื่นข้อเสนอโครงการไปแล้ว รับทราบได้ในทุกขั้นตอน ทำให้สามารถบริหารจัดการทั้งในแง่ของเวลา การวางแผนงานได้  ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ ให้เกิดความโปร่งใส รับรู้และติดตามได้ ซึ่งเป็นการพัฒนาที่สำคัญมากที่จะทำให้เห็นการวิจัยที่มีความต่อเนื่องและจะเชื่อมโยงขบวนการต่าง ๆ ได้ ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่วยงานบริหารจัดการทุนต่างๆ ที่ได้เชื่อมโยงข้อมูลเข้ามาในระบบหลังบ้านของระบบกลาง และเป็นการนำระบบดิจิทัลเข้าใช้ในหน่วยงานภาครัฐ”

           ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์   กล่าวต่อว่า ปัจจุบันระบบเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้งานแล้ว โดยเน้นที่ขั้นตอนตั้งแต่การยื่นข้อเสนอโครงการไปจนถึงโครงการได้รับทุน หรือไม่ได้รับทุน  ส่วนก้าวต่อไปจะมีการดำเนินการเพิ่มเติม(บางส่วนมีการเปิดใช้แล้วแต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์) ในขั้นต่อไปหลังจากได้รับทุนแล้ว เช่น  การเบิกจ่ายเงิน ในแต่ละระยะ การส่งรายงานความก้าวหน้าของทุนรวมไปถึงขั้นตอนการปิดโครงการ  สิ่งเหล่านี้สามารถที่จะทำต่อไปได้  ทั้งนี้ระบบฯ จะมีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล  เช่น การให้สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องเฉพาะเจ้าของโครงการ

           สำหรับความสนใจในการใช้งาน   ประธาน กสว.  บอกว่า สิ่งที่นักวิจัยอยากรู้ คือ “โครงการที่ส่งไป อยู่ขั้นไหนและอีกนานแค่ไหนจะรับทราบผล”  ดังนั้น   NRIIS  Project Tracking  จะตอบโจทย์คำถามนี้และในขั้นตอนต่อไป ในระบบหลังบ้านยังมีการวิเคราะห์ข้อมูล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทุน จะมีข้อมูลภายใน สามารถวิเคราะห์ได้ว่าในแต่ละขั้นตอนใช้ระยะเวลาเท่าใด และติดขัดที่ปัญหาใดได้บ้าง  เรียกว่าเป็น “บิ๊กดาต้า” ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้  ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  อย่างไรก็ดี ขณะนี้ กสว.ได้มอบนโยบายว่า หน่วยบริหารจัดการทุนวิจัย จะต้องสามารถที่จะดูแลในการให้ทุนวิจัยให้ได้ภายใน 3 เดือน หลังจากที่ได้มีการยื่นขอทุน  แต่จะมีการติดตามข้อมูลและพิจารณาว่ายังมีขั้นตอนใดที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

           นางมาริยาท  ตั้งมิตรเจริญ  ผู้อำนวยการ กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  วช. กล่าวว่า  ระบบ NRIIS  Project Tracking   เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของระบบ NRIIS  หรือ ระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ  เพื่อให้กระบวนการขอทุนวิจัยเป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส    โดยเป็นเครื่องมือสนับสนุนนักวิจัยในการติดตามความคืบหน้า ตรวจสอบข้อมูล และวิเคราะห์งานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายและความต้องการของประเทศ

           ระบบนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานผ่านเว็บไซต์แบบตอบสนอง (Responsive Website) รองรับการใช้งานบนอุปกรณ์หลากหลายรูปแบบ ช่วยให้นักวิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักวิจัยในการติดตามความก้าวหน้าของงานวิจัยของตนได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

           ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน  หัวหน้าทีมพัฒนาระบบ NRIIS คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าถึงระบบ NRIIS Project Tracking ว่า  เมื่อนักวิจัยส่งข้อเสนอโครงการเรียบร้อยแล้ว จะได้รับรหัสติดตามสถานะโครงการจากหน้าระบบและจากอีเมล์ที่นักวิจัยได้ลงทะเบียนไว้   โดยสามารถติดตามสถานะโครงการผ่านทาง https://projtrack.nriis.go.th  หรือคลิกที่หน้าระบบ NRIIS เพื่อเข้าสู่หน้าติดตามสถานะโครงการ รองรับการใช้งาน ทั้งคอมพิวเตอร์ PC และบนหน้าจอมือถือ