“เอปสัน ประเทศไทย” เร่งเครื่องธุรกิจปี 64 ตั้งเป้าโตเกิน 10%

News Update

“เอปสัน (ประเทศไทย)” เร่งเครื่องปี 64 โตเกิน 10% เดินหน้าดิสรัปท์โมเดลธุรกิจกลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ สู่บริการด้านงานพิมพ์สำหรับลูกค้าองค์กรธุรกิจเต็มตัว ชู “Epson EasyCare 360 เหมา เหมา” แถมได้เครื่องฟรีหลังหมดสัญญา 

               นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ผลกระทบหนักจากโรคโควิด-19 ทำให้การอุปโภคบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนหดตัว ธุรกิจห้างร้านปิดตัวลง ระบบซัพพลายเชนที่ต้องพึ่งการนำเข้าในหลายธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งยังมีปัจจัยบวกและโอกาสใหม่สนับสนุนธุรกิจของเอปสัน ทั้งต้นทุนที่ลดลงจากการขายออนไลน์ โรงงานใช้เอไอและระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตมากขึ้น ภาคธุรกิจหันมาใช้โรงงานผลิตและระบบซัพพลายเชนภายในประเทศ โรงพยาบาลเริ่มใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในขั้นตอนการให้บริการ เช่น การพิมพ์ฉลากยาสี รวมถึงการเกิดใหม่ของธุรกิจบุคคลหรือฟรีแลนซ์จำนวนมาก เช่น การรับจ้างพิมพ์ภาพ ซึ่งทำให้ยอดขายของบริษัทฯ ได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

               สำหรับกลุ่มสินค้าของเอปสันที่ทำผลงานได้ดีในปีที่ผ่านมาได้แก่ หุ่นยนต์แขนกล พรินเตอร์ฉลาก พรินเตอร์อเนกประสงค์ สำหรับธุรกิจรุ่น T-Series เครื่องถ่ายเอกสารอิงค์เจ็ท และพรินเตอร์สำหรับธุรกิจมินิแล็บ ขณะที่พรินเตอร์ใบเสร็จ โปรเจคเตอร์ และพรินเตอร์ดอทเมทริกซ์ ที่มีฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่มองค์กรธุรกิจ สถาบันศึกษา โรงแรม และธุรกิจค้าปลีก มียอดขายลดลง เพราะลูกค้าต้องหยุดกิจการหรืองดให้บริการชั่วคราว ในส่วนตลาดอิงค์แท็งค์พรินเตอร์ เอปสันยังครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งที่ 43% ซึ่งทำยอดขายจากช่องทางออนไลน์ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562 เช่นเดียวกับตลาดโปรเจคเตอร์ที่ยังคงรักษาตำแหน่งเจ้าตลาดไว้ได้ด้วยส่วนแบ่งตลาด 33% ในขณะที่ตลาดโดยรวมหดตัวลง 22%

               “เอปสันยังคงทำกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งปี เพื่อกระตุ้นยอดขายและรักษาระดับการรับรู้ต่อแบรนด์เอปสัน รวมแล้วมากกว่า 200 กิจกรรม ทั้งการสัมมนาออนไลน์ กิจกรรมส่งเสริมการขายทางเว็บไซต์และช่องทางโซเชียลของเอปสัน และแพลทฟอร์มออนไลน์มาร์เก็ตเพลสต่างๆ กิจกรรมซีเอสอาร์ การโร้ดโชว์สินค้า การสนับสนุนกิจกรรมของพาร์ทเนอร์ โปรแกรมทดลองใช้สินค้าของเอปสันฟรีนาน 1 เดือน รวมไปถึงการผลิตและเผยแพร่โฆษณาสินค้าและโปรโมชั่นตามช่องทางต่างๆ ของคู่ค้า”

                ในส่วนทิศทางธุรกิจในปีนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อธุรกิจของเอปสันยังคงเป็นสถานการณ์ทางการเมืองและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งหากมีแนวโน้มที่ดี คนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนต้านโควิด-19 ได้อย่างทั่วถึง จีดีพีของประเทศก็น่าจะกลับมาบวก จากที่ปี2563 นั้น -6.1% ได้เห็นการลงทุนของภาครัฐกลับมาในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวได้ดี สถาบันศึกษากลับมาเปิดทำการ ซึ่งเอปสันก็ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์เพื่อรุกตลาด B2B โดยภายหลังได้ปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้างและกระบวนการทำงานภายในองค์กร พัฒนาศักยภาพของเครือข่ายตัวแทนจำหน่าย และเพิ่มคุณค่า​ในส่วนต่างๆ ซึ่งช่วยยกระดับความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า โดยตั้งเป้าว่าบริษัทฯ จะกลับมาเติบโตได้ในระดับที่มากกว่า 10% ในปีนี้

               อย่างไรก็ตาม เอปสันได้ขยายทีมขาย B2B ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงทีมพิเศษที่เน้นเจาะตลาดและดูแลลูกค้าองค์กรญี่ปุ่นโดยเฉพาะ และในด้านการเพิ่มคุณค่า (Value Proposition) ยังเน้นการเพิ่มสินค้าใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด เพื่อให้องค์กรทุกขนาดในทุกวงการธุรกิจได้เลือกโซลูชั่นที่เหมาะที่สุดกับตัวเอง พร้อมเดินหน้าดิสรัปท์โมเดลธุรกิจในกลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ ซึ่งเมื่อ 10 ปีก่อน เอปสันได้ดิสรัปท์เทคโนโลยีอิงค์เจ็ทพรินเตอร์มาสู่ระบบแท็งค์ และขยายการใช้ระบบไปทุกกลุ่มสินค้าพรินเตอร์ ตั้งแต่พรินเตอร์ขนาดเล็ก พรินเตอร์เพื่อธุรกิจ จนถึงพรินเตอร์ระดับมืออาชีพ ช่วยลดต้นทุนการพิมพ์ ประหยัดค่าไฟ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเอปสันมีอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ระบบแท็งค์มากที่สุดในท้องตลาด พิมพ์งานทั้งสีและขาวดำความเร็วที่เทียบเท่าเลเซอร์พรินเตอร์ และปีนี้จะดิสรัปท์ธุรกิจพรินเตอร์อีกครั้ง 

            โดยปีที่แล้ว เอปสันได้ทดลองเปิด Epson EasyCare 360 บริการเช่าเครื่องพรินเตอร์แบบรายแพคเก็จสำหรับลูกค้า Epson WorkForce ที่ต้องพิมพ์งานปริมาณมากอยู่เป็นประจำ เพื่อแข่งขันกับบริการของแบรนด์เครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งลูกค้าสามารถควบคุมต้นทุนการพิมพ์ของตัวเองได้ ไม่ต้องสต๊อกหมึก เพราะบริษัทฯ จะส่งหมึกให้โดยคำนวณค่าใช้จ่ายจากจำนวนพิมพ์รายแผ่น พร้อมบริการ On-site service ส่งช่างซ่อมไปถึงออฟฟิศ และยังมีบริการ Epson EasyCare Mono เพื่อกลุ่มลูกค้า Epson EcoTank M-series ให้สามารถเช่าเครื่องพร้อมหมึกแบบเหมาจ่ายรายเดือน และรับทันทีทั้งบริการติดตั้งพรินเตอร์ให้ถึงออฟฟิศ บริการจัดอบรมการใช้งาน และบริการแก้ปัญหาเบื้องต้นผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทั้ง 2 บริการได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เอปสันจึงเดินหน้าแผนดิสรัปท์โมเดลธุรกิจกลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ทั้งหมด จากที่เคยเน้นการขายเครื่องมาเป็นการบริการงานพิมพ์

                ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่มีความกังวลคือค่าพิมพ์สีต่อแผ่น ตามด้วยคุณภาพงานพิมพ์ และบริการซ่อมบำรุง เอปสันจึงออกบริการเช่าเครื่องแบบใหม่ในชื่อ “Epson EasyCare 360 เหมา เหมา” สามารถพิมพ์สีหรือขาวดำก็ได้ที่ 120,000 แผ่น หรือ 24 เดือน ซ่อมบำรุงถึงที่สายตรงตอบกลับภายใน 2 ชั่วโมง เริ่มต้นเดือนละ 790 บาท ได้รับเครื่องที่ใช้อยู่ฟรีหลังหมดสัญญา และยังสร้าง Epson Virtual Solutions Center เพื่อให้ลูกค้า B2B ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่รวมถึงกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และปากีสถาน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเอปสัน ประเทศไทย ได้สัมผัสกับประสบการณ์เสมือนจริงระหว่างการทำความรู้จักกับเทคโนโลยีและ B2B โซลูชั่นของเอปสัน ซึ่งจะแบ่งออกตามประเภทธุรกิจหรืออุตสาหกรรม อาทิ เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน การพิมพ์ดิจิทัล ร้านค้าปลีก อุตสาหกรรมการผลิต การศึกษา สาธารณสุข และองค์กรธุรกิจ และในเฟสถัดไปจะมีการเพิ่มเติมโซนพิเศษสำหรับลูกค้าโฮมยูสทั่วไปให้ สามารถมาชมสินค้าและพูดคุยกับพนักงานขายทางออนไลน์ได้ทันที โดยได้รับบริการทุกอย่างเหมือนอยู่หน้าร้าน โดยในเฟสแรก Epson Virtual Solutions Center นี้จะเปิดให้บริการในเดือน เม.ย.2564