วช.เผยภาวะเศรษฐกิจกระทบ ลงทุน R&D ไทยปี 66 เหลือ 0.94 % ของ GDP

News Update

วช. เผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาของไทย ปี 66 เหลือ 0.94 % ของGDP  ลดลง 16.5 %  จากตัวเลขปีก่อนหน้าที่  1.16 % ของ GDP  ชี้ปัจจัยลบจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากภาวะ เศรษฐกิจซึ่งเป็นรอยต่อจากโควิด-19 คาดปัจจุบันมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐที่กองทุนววน. สูง เกือบ 2 หมื่นล้านบาท

              ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  กล่าวว่า ผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ปี 2567  ซึ่งเป็นการสำรวจข้อมูลในปี 2566  พบว่า  ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนารวมทั้งสิ้น 168,106  ล้านบาท  หรือ 0.94 %ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP โดยมีอัตราเติบโตลดลง  16.5  %   จากตัวเลขที่สำรวจข้อมูลในปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 201,415 ล้านบาท  หรือ 1.16 % ของ GDP   ขณะที่ประเทศไทย ตั้งเป้าไว้ที่ 2 %  ของ GDP ภายในปี 2570

               ทั้งนี้ผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาดังกล่าว มาจากภาคเอกชน 112,126 ล้านบาท ลดลง  23.4 % จากปีก่อนหน้า ในขณะที่ภาคอื่น ๆ (ภาครัฐบาล อุดมศึกษา รัฐวิสาหกิจ และเอกชนไม่ค้ากำไร) มีค่าใช้จ่าย 55,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  1.6  %   โดยคิดเป็นสัดส่วนภาคเอกชนต่อภาคอื่นๆ อยู่ที่  67 : 33   

              อย่างไรก็ดีเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาในสัดส่วนสูงสุดถึง 94 %     หรือ 105,617.95 ล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมขนาดกลาง มีสัดส่วนประมาณ  5  %  หรือ  5,624.88 ล้านบาท   และอุตสาหกรรมขนาดย่อมมีเพียง  1 %  หรือ 882.72 ล้านบาท  และหากแบ่งตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่าในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสูงสุดอยู่ที่ 54,487 ล้านบาท  ลดลงจากปีก่อนหน้า  30 %  ส่วนภาคอุตสาหกรรมค้าส่ง-ค้าปลีก มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 20,665 ล้านบาท  ลดลง 37 %   และภาคอุตสาหกรรมการบริการ แม้จะมีมูลค่า 36,973 ล้านบาท  แต่ก็มีการเติบโตเพิ่มขึ้นเพียง 4 %   ดังนั้นการลดลงค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงทำให้การใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาภาคเอกชนโดยรวมลดลง

               ส่วนสาเหตุที่ภาคเอกชนลดค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา  ประกอบด้วย 1. บริษัทมีความจำเป็นต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อลดต้นทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ที่ปรับนโยบายจากการทำกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนาในทุกบริษัทที่อยู่ในเครือไปให้บริษัทแม่ดำเนินการเองทั้งหมด 2. ผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการสินค้าทั้งในตลาดต่างประเทศและในประเทศลดลง องค์กรจึงต้องลดต้นทุนเนื่องจากขาดทุนสะสมและการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิต  และ3.ในปีที่ผ่านมาบางบริษัทมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในเรื่องครุภัณฑ์ และห้องปฏิบัติการทดลอง จึงทำให้ในปี 2566 มีการลงทุนลดลง

              “   การสำรวจครั้งนี้ถือเป็นข้อมูลในขั้นแรก  ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลในช่วงรอยต่อของสถานการณ์โควิด-19 และอยู่ในช่วงฟื้นฟู  ทำให้ตัวเลขอาจจะขยับปรับลดลงไปบ้าง แต่ในเรื่องของเม็ดเงินลงทุนจริง ๆ ในส่วนของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้มีการกำหนดทิศทางและวางตัวเลขไว้เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งในปีล่าสุด แนวโน้มเม็ดเงินของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 2 หมื่นล้านบาท  ซึ่งจากการวิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสาขาอาหารแห่งอนาคต (Future Food)  การใช้สมุนไพรไทยเพื่อป้องกันโรค  รวมถึงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตรเพื่อการพึ่งพาตนเองด้านการแพทย์   อย่างไรก็ดี  ทางวช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาคมวิจัยและนวัตกรรม ได้เตรียมนำข้อมูลในชุดดังกล่าวเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อเป็นประโยชน์ในการกำหนดทิศทางนโยบาย และกลไกการทำงานต่อไป เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

               ดร.วิภารัตน์   กล่าวอีกว่า  ในส่วนของมาตรการขับเคลื่อนภาคเอกชนรายใหญ่ที่มีผลกระทบต่อตัวเลขค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา  กระทรวงอว.โดยรัฐมนตรี “ศุภมาส อิศรภักดี” ได้มีการฉายภาพของประเด็นเป้าหมายในเชิงยุทธศาสตร์การลงทุนกับภาคเอกชนไว้หลายเรื่อง เช่น อว.ฟอร์เซมิคอนดักเตอร์ อว.ฟอร์เอไอ หรือ อว ฟอร์อีวี และอีกหลายเรื่องที่เป็นการจับมือกับภาคเอกชนในเรื่องของกการกระตุ้นและในเรื่องของผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่องของเม็ดเงินในกองทุนต่าง ๆ ที่กองทุน ววน.ไปรวมกับกองทุนในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ  เพื่อทำให้การทำงานในภาคธุรกิจในเซคเตอร์ต่าง  ๆ มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าการสำรวจในปัจจุบันจะเห็นตัวเลขที่ดีขึ้น

              สำหรับผลสำรวจด้านบุคลากรวิจัยและพัฒนา (R&D)  ดร.วิภารัตน์     กล่าวว่า แม้จะได้รับผลกระทบไม่มาก แต่มีแนวโน้มผันผวนตามธรรมชาติ เช่น การเกษียณและนักวิจัยใหม่เข้ามาทดแทน โดยในปีสำรวจล่าสุด พบว่าจำนวนบุคลากร ด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยมีสัดส่วน 23 คนต่อประชากร  10,000 คน  โดยอยู่ในภาคเอกชน 68% และภาคอื่น ๆ 32%