ดีป้าชู “บัญชีบริการดิจิทัล-dSURE” กลไกยกระดับมาตรฐานดิจิทัลไทย

i & Tech News Update

กระทรวงดีอี-ดีป้าหนุนยกระดับมาตรฐานดิจิทัลไทย ชี้โอกาสเอสเอ็มอีไทยเข้าถึงตลาดภาครัฐพร้อมสิทธิประโยชน์ด้านภาษีหากมีมาตรฐานในระดับสากล ชูกลไกบัญชีบริการดิจิทัล และ dSURE  สร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์

           เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2568 ที่อาคาร ดีป้า (สำนักงานใหญ่) ซอยลาดพร้าว 10 นายประเสริฐ    จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  (ดีอี) และ นายนรุณ สุขสมาน  รองเลขาธิการสํานักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเปิดงาน  “Global ISO Conference 2025”  การประชุมประจำปีของคณะอนุกรรมการด้านซอฟต์แวร์และวิศวกรรมระบบ (ISO/IEC JTC1/SC7) ครั้งที่ 44 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 13 มิถุนายน 2568  โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร  ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และนายอมฤต ฟรานเซน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงคณะอนุกรรมการด้านซอฟต์แวร์และวิศวกรรมระบบจาก 26 ประเทศ เข้าร่วมในพิธีเปิดงาน

           นายประเสริฐ จันทรรวงทอง กล่าวว่า รัฐบาล โดย กระทรวงดีอี ให้ความสำคัญกับการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ควบคู่กับการยกระดับมาตรฐานดิจิทัลให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญคือ การพัฒนากลไก “บัญชีบริการดิจิทัล” (Thailand Digital Catalog) ของดีป้า  ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานผู้ประกอบการไทย โดยตรวจสอบคุณสมบัติและรับรองมาตรฐานของสินค้าและบริการดิจิทัล อาทิ Software, Software as a Service (SaaS), Digital Content, Smart Devices, Hardware & Firmware ให้เป็นไปตามเกณฑ์สากล เช่น CMMI, ISO และ dSURE ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ที่มอบให้กับผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการใช้งาน (Safety) ความสามารถในการทำงาน (Functionality) และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity)

           “รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล   Global ISO Conference 2025  เป็นเวทีสำคัญที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานซอฟต์แวร์และวิศวกรรมระบบจากทั่วโลกมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ วิสัยทัศน์ และจุดประกายแนวคิดใหม่ ๆ ที่เป็นรูปธรรมในการยกระดับมาตรฐานซอฟต์แวร์ของโลกได้อย่างแท้จริง เพื่ออนาคตดิจิทัลที่มั่นคงและยั่งยืนสำหรับทุกคน”  

           ผศ.ดร.ณัฐพล  นิมมานพัชรินทร์  ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า     ดีป้ามุ่งขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จอันเป็นรูปธรรมในการสร้างความเชื่อมั่นและโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยผ่านบัญชีบริการดิจิทัล และมาตรฐาน dSURE โดย บัญชีบริการดิจิทัลจะเป็นกลไกที่ทำหน้าที่เป็นประตูสู่โอกาสทางธุรกิจที่สำคัญของผู้ประกอบการดิจิทัลไทย ขณะที่ dSURE จะเป็นตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ดิจิทัลตามมาตรฐานสากล

           “จากความร่วมมือกับ สมอ. และ สภาอุตสาหกรรมฯ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยที่ดีป้า ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับมาตรฐานโดยการขอรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 29110 แล้ว  521 บริษัท และผลักดันผลิตภัณฑ์ดิจิทัลให้ได้รับการขึ้นทะเบียนบนบัญชีบริการดิจิทัลแล้ว  702 รายการ จาก 109 บริษัท โดยส่วนใหญ่เป็น Digital Services  597 รายการ รองลงมาคือ Software และ Software  Service  93 รายการ ที่เหลือคือ Hardware  และ Smart Devices 8   รายการและ Cloud Technology 4 รายการ

           นอกจากนี้ ดีป้า ได้ออกแบบกรอบแนวทางการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับคนไทย หรือ Digital Skill Roadmap เพื่อ Upskill, Reskill รวมถึงเพิ่ม New Skill ด้านดิจิทัลให้กับประชาชนคนไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างงาน เพิ่มโอกาสทางอาชีพ เพิ่มรายได้ ตลอดจนเติมเต็มความต้องการของตลาดด้วยทักษะดิจิทัลขั้นสูง ซึ่งการดำเนินงานของ ดีป้า สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศในการเป็นผู้นำด้านมาตรฐานดิจิทัลของภูมิภาค และเป็นเครื่องยืนยันถึงเป้าหมายในการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรดิจิทัลไทยที่พร้อมก้าวสู่เวทีระดับสากล”  

           ผศ.ดร.ณัฐพล  กล่าวอีกว่า  การยกระดับมาตรฐานดิจิทัลต่างๆ ไปสู่ระดับสากล จะมีส่วนช่วยทำให้ดัชนีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถทรานฟอร์มจากระดับ 1.0 ที่ใช้เครื่องมือแบบAnalog  และกระบวนการแบบ Manual หรือระดับ 2.0 ในปัจจุบัน ที่มีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มความสะดวกในการทำงาน ก้าวไปสู่เป้าหมาย 4.0 ที่มีการใช้งานระบบอัตโนมัติในการบริหารงานแบบเรียลไทม์ และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจได้ทันที ได้เร็วขึ้น ซึ่งภาครัฐได้มีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำมาตรฐานและพัฒนาบุคลากรในด้านดังกล่าว ทั้งสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ

            ด้านนายอมฤต ฟรานเซน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ฯ กล่าวว่า  ปัจจุบันการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่าง ๆ ยังมีช่องว่างระหว่างผู้ประกอบการในกรุงเทพและต่างจังหวัด ที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ร่วมกับดีป้า จัดกิจกรรมโร้ดโชว์ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ  เพื่อให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีในภูมิภาค  สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากการมีมาตรฐานสากลได้  รวมถึงมีการนำเสนอมาตรการสนับสนุน ผ่านโปรแกรม Software as a Service    ที่ไม่ต้องลงทุนสูง  และแบบแพคเกจ ที่เรียกว่า DIGITAL ONE โดยรวมเทคโนโลยีดิจิทัลจากผู้ประกอบการต่าง ๆ มาให้เอสเอ็มอีทดลองใช้งาน ในเวลาที่กำหนด  ในราคาเพียง 1,110 บาท  ซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.digitalonefti.org

           นอกจากนี้ ในพิธีเปิดงาน Dr. Sundeep Oberoi, Chairperson of ISO/IEC JTC1 SC7 ได้มอบรางวัล Token of Appreciation ให้แก่ ดีป้า สมอ. และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมกล่าวขอบคุณทั้ง 3 หน่วยงานที่จัดการประชุมในครั้งนี้ขึ้น ทั้งนี้ในงาน Global ISO Conference 2025 ยังมีกิจกรรมบรรยายพิเศษสำหรับนักพัฒนา ผู้ประกอบการ และหน่วยงานไทย เพื่ออัพเดทแนวโน้มการพัฒนามาตรฐานดิจิทัลในหัวข้อสำคัญ อาทิ Standards and Policies, Green Software และ Low Code / No Code Development โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ

           สำหรับงาน Global ISO Conference 2025 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 13 มิถุนายน 2568 ซึ่งถือเป็นการประชุมประจำปีของคณะอนุกรรมการด้านซอฟต์แวร์และวิศวกรรมระบบ (ISO/IEC JTC1/SC7) ครั้งที่ 44 โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วม 26 ประเทศ รวมกว่า 190 คน และมีการประชุมใหญ่ (Plenary Meeting) การประชุมกลุ่มทำงานย่อย (Working Groups – WGs) ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนามาตรฐานในประเด็นสำคัญ อาทิ การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI-based software development) วิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green software) การพัฒนาแบบ Low Code (Low code development) เป็นต้น รวมถึง การประชุมกลุ่มเฉพาะกิจ (Ad Hoc Groups – AHGs) เพื่อศึกษาประเด็นใหม่ ๆ หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจ รวมทั้งสิ้นกว่า 60 การประชุม

           ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้มาซึ่งมาตรฐานที่ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานซอฟต์แวร์และระบบทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่า จากการประชุมในครั้งนี้จะขยายผลให้เกิดการพัฒนามาตรฐานซอฟต์แวร์และระบบฉบับใหม่/ปรับปรุง ไม่น้อยกว่า 40 ฉบับ ครอบคลุมการอนุมัติมาตรฐาน รายงานความคืบหน้าของงาน และการกำหนดทิศทางอนาคตต่อไป