โชว์ “โปรตีนทางเลือกจากจุลินทรีย์” ผลงานนักวิจัยไทย ใน “NAC 2021”

News Update

ไบโอเทค สวทช. ประสบความสำเร็จผลงานวิจัย “โปรตีนทางเลือกจากจุลินทรีย์” หรือ “มัยคอโปรตีน (Mycoprotein)” ที่ผลิตได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย มีลักษณะเส้นใยคล้ายเนื้อสัตว์ ไม่มีคอเลสเตอรอล  พร้อมร่วมมือ เอกชน พัฒนาสู่ “เนื้อบดเทียม” และ “ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป” ออกสู่ตลาด เตรียมโชว์ในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 16 (NAC2021) ที่จะจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์   25-30 มีนาคม 2564 นี้

               ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง นักวิจัยอาวุโส กลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชันและนวัตกรรมอาหาร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยในงานแถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2564 (NAC2021) ว่า ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมรับประทานโปรตีนทางเลือกมากขึ้น เนื่องด้วยความใส่ใจในสุขภาพ และความกังวลต่อความปลอดภัยของเนื้อสัตว์ที่อาจพบการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ รวมถึงโรคต่างๆ ที่สัตว์อาจติดมา ทำให้มีผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกต่างๆ เช่น โปรตีนจากพืช โปรตีนจากแมลง รวมถึงโปรตีนจากจุลินทรีย์กินได้ออกมาวางจำหน่ายจำนวนมากในท้องตลาด

               “โปรตีนจากจุลินทรีย์ หรือ มัยคอโปรตีน (Mycoprotein)  ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ใหม่ เพราะมีการวางขายแล้วในยุโรป ส่วนในประเทศไทยที่ผ่านมายังไม่สามารถผลิตเองได้ และมีการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ขณะนี้ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. สามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนจากจุลินทรีย์ได้สำเร็จ ถือเป็นเทคโนโลยีของคนไทย และผลิตจากจุลินทรีย์ที่พบในประเทศ”

              ดร.กอบกุล อธิบายว่า การพัฒนาเทคโนโลยี ทีมวิจัยได้คัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีความปลอดภัย เป็นเกรดอาหาร (food-grade microbe) และมีประสิทธิภาพในการผลิต โดยมีคุณสมบัติเด่น คือ 1. เป็นสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่ผลิตโปรตีนปริมาณมาก 2. มีการสร้างเส้นใยที่มีลักษณะเหมาะสม และ 3. เป็นสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่ปลอดภัย ไม่สร้างสารพิษ หรือ มัยคอทอกซิน (Mycotoxin) ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยทีมวิจัยนำเส้นใยมัยคอโปรตีนที่ผลิตได้ไปตรวจวิเคราะห์เพื่อรับรองความปลอดภัยด้วย หลังจากได้สายพันธุ์จุลินทรีย์ที่เหมาะสม มีการพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิตทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ และโรงงานต้นแบบ เพื่อให้พร้อมต่อยอดสู่ระดับอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการผลิตโปรตีนที่มีคุณภาพและต้นทุนต่ำ เพื่อให้แข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้

               “โปรตีนที่จุลินทรีย์ผลิตมีลักษณะเป็นเส้นใยคล้ายกับเนื้อสัตว์ แต่ทีมวิจัยได้ปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพเพิ่มเติมเพื่อให้ได้เนื้อสัมผัสที่ดีมากขึ้น ตอนนี้ผลิตภัณฑ์จะมีลักษณะคล้ายเนื้อเทียมบด สามารถใช้ประกอบอาหารปรุงรสทดแทนเนื้อสัตว์บดได้ เช่น เบอร์เกอร์ ลาบ กะเพรา น้ำพริกอ่อง รวมถึงสาคูจากโปรตีนทางเลือก ซึ่งในอนาคตมีแผนพัฒนาขึ้นรูปให้เป็นชิ้นเนื้อที่มีความคล้ายคลึงเนื้อสัตว์มากขึ้น ส่วนคุณค่าทางโภชนาการพบว่ามีโปรตีนสูงเทียบเท่ากับโปรตีนจากไข่ ไม่มีคอเลสเตอรอล อีกทั้งยังมีกรดอะมิโนจำเป็นครบทุกตัว มีไฟเบอร์ ไวตามิน รวมถึงเบต้ากลูแคน นอกจากจะเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพแล้ว ยังมีความปลอดภัยในการบริโภคด้วย เพราะในกระบวนการผลิตซึ่งเป็นเทคโนโลยีการหมัก ไม่ใช้สารเคมี และไม่มียาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ดีขณะนี้ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. ได้ร่วมกับ บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด เจ้าของแบรนด์ “น้ำตาลลิน” ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศไทย เดินหน้าการวิจัยต่อยอดในระดับกึ่งอุตสาหกรรม รวมทั้งการวิจัยพัฒนาเพิ่มมูลค่าโปรตีนทางเลือกสู่ผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมต่างๆ ด้วย”

              ด้าน นางอัจฉรา งานทวี ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า ทุกวันนี้น้ำตาลถูกมองเป็นสิ่งที่อันตรายต่อสุขภาพ และรณรงค์ให้ทานน้ำตาลน้อยลง บริษัทจึงพยายามมองหานวัตกรรมที่จะต่อยอดการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีมูลค่ามากขึ้น กระทั่งมาเจองานวิจัยการพัฒนามัยคอโปรตีนจากจุลินทรีย์ของไบโอเทค สวทช. ทำให้เห็นโอกาส และเกิดเป็นความร่วมมือในการวิจัยพัฒนา เนื่องจากในกระบวนการผลิตต้องใช้น้ำตาลเป็นอาหารให้แก่จุลินทรีย์ ประกอบกับโปรตีนทางเลือกคือ “เทรนด์อาหารแห่งอนาคต” เป็นอุตสาหกรรมอาหารรูปแบบใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก

              “ตอนนี้เรามองการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปที่อาหารสำเร็จรูป รวมถึงการขายเป็นวัตถุดิบเนื้อเทียมให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมอาหารต่างๆ เพราะผู้บริโภคปัจจุบันรักสุขภาพมากขึ้น สังเกตจากผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ปรับเปลี่ยนมารับประทานโปรตีนจากพืชจำนวนมาก หรือแม้แต่ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพฟันและระบบการย่อยอาหาร ไม่สามารถทานเนื้อสัตว์ได้ปริมาณมาก โปรตีนจากจุลินทรีย์จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่มาทดแทนได้ นอกจากนี้ยังตอบโจทย์กลุ่มคนที่รักสิ่งแวดล้อม เพราะการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ถือเป็นวิธีหนึ่งในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอนนี้อยู่ระหว่างการวิจัยปรับเนื้อสัมผัสให้เหมือนเนื้อสัตว์มากที่สุด มีรสชาติดี และตุ้นทุนการผลิตต่ำเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด คาดว่าอาจจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ได้ภายในปลายปี 2564 นี้”

              ผู้ที่สนใจงานวิจัย “โปรตีนทางเลือกจากจุลินทรีย์” นวัตกรรมอาหารแห่งโลกยุคใหม่ ธุรกิจอาหารมุมมองใหม่แห่งอนาคต ติดตามเพิ่มเติมได้ที่งานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 16 (NAC2021: NSTDA Annual Conference 2021) ซึ่งจะจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 25-30 มีนาคม 2564 นี้ ลงทะเบียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ https://www.nstda.or.th/nac/ สอบถามเพิ่มเติม 02-5648000