ดีป้า” ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส1 ทรงตัว

News Update

“ดีป้า” ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส1  ปีนี้ทรงตัว เผยผู้ประกอบการเสนอภาครัฐเร่งขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้ชัดเจน  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน กระตุ้นการลงทุน ก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19

              สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า แถลงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Sentiment Index) ไตรมาส 1 ประจำปี 2564 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 46.4 จาก 49.9 ของไตรมาส 4 ปีก่อน

              ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ทรงตัวเป็นผลมาจากการที่ภาคธุรกิจและประชาชนชะลอคำสั่งซื้อและลดปริมาณการซื้อสินค้าและบริการดิจิทัล แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงเวลาดังกล่าวจะเริ่มคลี่คลาย แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ อันเป็นผลมาจากคลัสเตอร์การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ  ซึ่งหากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมจะเห็นว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ สูงกว่าระดับ 50 คือ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 50.6 ซึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการล็อกดาวน์จากปีที่ผ่านมา ทำให้กิจกรรมทางกายภาพปรับสู่ช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปสู่การใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคเนื้อหาดิจิทัล การค้า และการทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ประกอบกับแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช่วยพยุงกำลังซื้อโดยภาพรวมไว้ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่า 50 คือ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 46.4 กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อยู่ที่ระดับ 46.1 กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 45.8 กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 42.9 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ตัวเลขผลประกอบการและยอดคำสั่งซื้อลดลง

              “ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐดำเนินนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดความชัดเจน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ทั้งประเด็นความชัดเจนของการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย การปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อธุรกิจดิจิทัล และการดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการเสริมความสามารถทางการแข่งขัน ผ่านมาตรการสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ตลอดจนการอำนวยความสะดวกในการจดทรัพย์สินทางปัญญา และการสนับสนุนโอกาสเข้าสู่ตลาดภาครัฐ เพื่อการขยายตลาดให้กับธุรกิจดิจิทัล”