นักวิจัยไทย-เยอรมัน ค้นพบ “เขียด” ชนิดใหม่ของโลกในเมียนมาร์

News Update

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักวิจัยเยอรมัน ค้นพบเขียดชนิดใหม่ของโลกในประเทศเมียนมาร์       ชี้ระบบนิเวศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังหลากหลาย เตือนการใช้สารเคมีในการเกษตรทำระบบสืบพันธุ์เขียดเปลี่ยน เสี่ยงสูญพันธุ์

                 อาจารย์ ดร.ภาณุพงศ์ ธรรมโชติ นักอนุกรมวิธานและนักนิเวศวิทยา  จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อย่างกบ เขียด และปาด เป็นสัญญาณความสมบูรณ์และสมดุลของระบบนิเวศ แต่ที่ผ่านมา ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทำให้สัตว์ประเภทนี้โดยเฉพาะ เขียด” มีจำนวนลดลงอย่างมากจนถูกขึ้นบัญชีเป็น “สัตว์ใกล้สูญพันธุ์”   ล่าสุดคณะวิจัยจากจุฬาฯ และเยอรมนี  ได้ค้นพบเขียดชนิดใหม่ของโลกในประเทศเมียนมาร์ และได้เผยแพร่ในวารสารวิชาการนานาชาติ Vertebrate Zoology

                 “เขียดชนิดใหม่นี้มีเสียงร้องที่ใหญ่ ไม่แหลมเหมือนเขียดทั่วไป ขนาดตัวเล็ก ผิวหนังค่อนข้างลื่นกว่าเขียดชนิดอื่น เท้ามีพังผืดเต็มเท้าเนื่องจากอาศัยอยู่ริมน้ำ ในไทยก็มีเขียดลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ด้วยแต่คนละสายพันธุ์”  

                 อาจารย์ ดร.ภาณุพงศ์   กล่าวว่า  ตั้งแต่ปี 2560 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์วิจัย Senckenberg ประเทศเยอรมนี ออกสำรวจพื้นที่ป่าเขตร้อนในประเทศไทย เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อศึกษาและประเมินความหลากหลายของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

                 “กว่าสามปีที่เราเก็บรวบรวมตัวอย่างสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานในหลายประเทศ   เขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็พบเขียดชนิดนี้ในป่าประเทศเมียนมาร์ ซึ่งยังจำแนกในอนุกรมวิธานไม่ชัด ภายหลังนำกลับมาวิเคราะห์ในห้องทดลองแล้ว เราจึงพบว่านี่คือ เขียดชนิดใหม่ของโลก”  

                 ทั้งนี้กระบวนการวิเคราะห์ในห้องทดลอง คณะนักวิจัยร่วมจะเปรียบเทียบความต่างทางสัณฐานวิทยา วิเคราะห์ความแปรผันของเสียงร้อง ศึกษาความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการ รวมทั้งจีโนม (Genome) ข้อมูลทางพันธุกรรม จนกระทั่งกำหนดชื่อสกุลของเขียดได้ โดยเปลี่ยนจากสกุล Occidozyga เป็น Phrynoglossus    และได้รับการประกาศชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Phrynoglossus myanhessei เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา   โดยคำว่า myan มาจาก Myanmar ส่วน hessei มาจากชื่อรัฐ Hesse ในเยอรมนี ที่สนับสนุนงบและอำนวยความสะดวกตลอดระยะเวลาการวิจัยในเมียนมาร์

                 อาจารย์ ดร.ภาณุพงศ์   นักนิเวศวิทยาย้ำความสำคัญของการรักษาระบบนิเวศและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกว่า    “สัตว์ประเภทนี้มักอาศัยในเขตภูมิอากาศที่มีความชื้นสูงเนื่องจากผิวหนังต้องการความชุ่มชื้นตลอดเวลา      ในห่วงโซ่อาหาร พวกมันเป็นทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่า กินแมลงแต่ก็ถูกนกและงูกินเป็นอาหารด้วย เป็นกลไกสำคัญในธรรมชาติที่คอยรักษาสมดุลในระบบนิเวศ แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช  ในอุตสาหกรรมเกษตรส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรเขียดในธรรมชาติจนถึงขั้นวิกฤต สารเคมีที่เจือปน      ในแหล่งน้ำและอาหารได้ทำลายอวัยวะและระบบสืบพันธุ์ของพวกมัน นานวันเข้า จำนวนพวกมันลดลง   สมดุลธรรมชาติจึงเปลี่ยนไป”

                 ปัจจุบัน อ.ดร.ภาณุพงศ์ กำลังศึกษาเรื่อง “งูปี่แก้ว” เป็นงูที่ไม่มีพิษ ชอบกินไข่งูที่มีพิษ ซึ่งเป็นการควบคุมจำนวนงูมีพิษ งานวิจัยอีกเรื่องเกี่ยวข้องกับ Molecular DNA เป็นการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพโดยใช้เทคนิคทางโมเลกุล โดยลงพื้นที่ไปทำวิจัยที่จังหวัดน่านซึ่งมีสถานีวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีของจุฬาฯ ตั้งอยู๋